เมื่อเรียนออนไลน์(อาจ)ไม่ใช่คำตอบ…ของเด็กไทยและอาเซียน

0
352
kinyupen

เมื่อการเรียนออนไลน์อาจไม่ใช่คำตอบที่เหมาะสมของเด็กไทย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กอนุบาล และประถม ที่เป็นช่วงวัยที่กำลังเจริญเติบโตและต้องการเรียนรู้แบบมีปฏิสัมพันธ์ ควรมุ่งเน้นผ่านการเล่น และประสาทสัมผัสมากกว่า ถ้าอย่างนั้น ครูที่เป็น “กุญแจสำคัญ” ที่จะเชื่อมต่อการเรียนรู้ ควรเดินหน้า หรือ พัฒนาวิธีการสอนอย่างไร ในเมื่อเลี่ยงไม่ได้ ยังไงก็ต้องไปต่อ เพราะสถานการณ์โควิด – 19 ที่เป็นตัวแปรสำคัญ ดูแล้วไม่น่าซาในเร็ววัน…..

 

ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการศูนย์ SEAMEO STEM-ED ให้ข้อมูลภายในงานประชุมเชิงปฏิบัติการ Chevron–SEAMEO Policy Advocacy for Strengthening Regional STEM Education Project ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเชิญนักการศึกษาจากนานาชาติมาร่วมหาวิธีขับเคลื่อนนโยบายสะเต็มศึกษา และสร้างโมเดล Teacher Development ที่เหมาะสมสำหรับภูมิภาคอาเซียนว่า “การอ่านเพื่อจับใจความ และ การเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์” นี่คือปัญหาสำคัญของเด็กไม่เฉพาะแค่เด็กไทย แต่เพื่อนบ้าน เช่น ลาว เมียนมาร์ กัมพูชา ก็เผชิญปัญหานี้เช่นกัน แถมเด็กทั้ง 3 ประเทศยังมีหลักสูตรการเรียนหนาแน่นกว่าประเทศอื่น ตรงนี้ถือเป็นตัวแปรสำคัญของเด็กเพราะถ้าเด็กไม่สามารถ อ่านแล้วจับใจความได้ หรือ ไม่เข้าใจในแง่ของคณิตศาสตร์ การเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นของเด็กก็จะไปต่อไม่ได้ หรือ กลายเป็นเรื่องยาก

 

การจะแก้ปัญหาตรงนี้ได้ จึงอยู่ที่ว่า “ครู” ที่ถือเป็นกุญแจสำคัญของเด็กจะสามารถปรับวิธีการเรียนการสอนให้มีความน่าสนใจ เพื่อร่วมไขอนาคตเด็กให้เดินต่อไปอย่างไร ซึ่งเราไม่สามารถที่จะนำมาตรฐานทางยุโรปมาปรับใช้เพราะปัจจัยสภาพแวดล้อมแตกต่างกัน และยิ่งต้องเผชิญกับการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ยิ่งกลายเป็นโจทย์ที่ยากขึ้นกว่าการสอนในห้องเรียนธรรมดา

 

ดังนั้น กระบวนการที่ศูนย์ฯ เร่งนำเสนอคือโมเดล Teacher Development ที่มีความสำเร็จจากโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ซึ่งครอบคลุม 1. ร่วมมือกับสถาบันผลิตครูและเครือข่ายครู เตรียมความพร้อมบุคลากรที่จะเข้าสู่วิชาชีพครู และพัฒนาครูประจำการในลักษณะหลักสูตรประกาศนียบัตรแบบ non-degree 2. สนับสนุนให้ครูร่วมกันปรับวิธีจัดการเรียนการสอน ด้วยกระบวนการชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) ที่สอดคล้องแนวทางประเมินวิทยฐานะ

 

ขณะที่ รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันปัญหาและอุปสรรคของการพัฒนาครูในประเทศไทยไม่ได้อยู่ที่งบประมาณ แต่อยู่ที่วิธีการคิดและกรอบกระบวนการของการพัฒนา หรือ หน่วยงานภาครัฐที่ดูแลไม่ได้ตั้งต้นที่ความต้องการของครูผู้สอน โดยเชื่อว่าครูในปัจจุบันทุกคนอยากพัฒนาทักษะด้านสื่อดิจิทัล ถ้ามีการกำหนดกรอบการเรียนรู้ ให้เวลาและสร้างสื่อที่ครูสามารถเข้าถึง คาดว่าครูส่วนหนึ่งจะพัฒนาในเรื่องนี้ได้และใช้ดิจิตอลแพลทฟอร์มต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”

 

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการแชร์มุมมองจากเวทีเสวนาที่น่าสนใจของนักการศึกษาประเทศเพื่อนบ้าน เกี่ยวกับการพัฒนาครูในยุคดิจิตัลด้วย โดย ดร.อีซาน อิสมาอิล ผู้ช่วยผู้อำนวยการอาวุโสศูนย์สะเต็มแห่งชาติ แผนกวางแผนการศึกษาและวิจัย กระทรวงศึกษาธิการมาเลเซีย และนายลิโต้ พาโลมาร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักส่งเสริมการศึกษา กรรมการการศึกษาแห่งฟิลิปปินส์ ระบุว่า ทั้งในมาเลเซียและฟิลิปปินส์ มีการส่ง “โค้ช” จากส่วนกลางไปติวให้กับครูในจังหวัดต่างๆ เพื่อเสริมทักษะด้านดิจิทัลและการบันทึกวิดิทัศน์เพื่อใช้เป็นหลักฐานการวิจัย อันจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะในฟิลิปปินส์ที่มีการถอดบทเรียนจากโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคตของประเทศไทย ที่ทำให้เกิดการสร้างเครือข่าย Master Teacher และความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ มาปรับใช้ดำเนินงานเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการสัมมนาครู

 

เมื่อเรียนออนไลน์ที่บ้านกลายเป็นปัญหาที่ท้าทายกับครูยุคใหม่ เพราะเด็กหลายคนเมื่อเรียนออนไลน์ ความสนใจต่อสิ่งที่ปรากฏก็ลดน้อยลง เมื่อการสอนผ่านจอ ใช้วิธีสอนเหมือนการสอนในห้องเรียนไม่ได้ อาจต้องปรับการเรียนการสอนครั้งใหญ่ อาจถึงเวลาแล้วที่ต้องเราปฏิรูปการเรียนการสอนใหม่ โดยเริ่มจากการ “พัฒนาครู” ที่เป็นกุญแจสำคัญก่อนเป็นลำดับแรก

 

 

kinyupen