ความรู้สึกนี้น่าจะตรงกับใครหลายคน หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 จำนวนผู้ป่วยยังไม่มีทีท่าลดลง ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น เตียงไม่เพียงพอ ผู้ป่วยเข้าคิวรอรักษา มาตรการรองรับมีแต่ความสับสน อลเวง ไม่รู้จะเชื่อใคร มิหนำซ้ำ “วัคซีน” แสงสว่างสุดท้าย ณ ปลายอุโมงค์ ก็ค่อนข้างริบหรี่ ไม่ชัดเจน
คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า วันนี้เรากำลังก้าวเข้าใกล้วิกฤตมากขึ้นทุกที แล้วควรเดินต่อไปอย่างไร เพื่อไม่ให้การระบาดลุกลามเลวร้าย จนถึงวันที่ผู้ป่วยล้นประเทศเกินศักยภาพระบบสาธารณสุขที่จะรองรับ ต้องเลือกให้ตายหรืออยู่ เหมือนที่บางประเทศเคยเผชิญ
เมื่อสถานการณ์ในไทย เข้าใกล้นิวยอร์ก ตำราเดิมอาจไม่ได้ผล
โควิด-19 ระลอก 3 มาแรงกว่าที่คิด แต่มันก็ไม่ได้อยู่นอกเหนือจากสิ่งที่มีการคาดการณ์ในทางระบาดวิทยา ทั้งนี้จากข้อมูลของ ศบค. พบข้อสังเกตสำคัญว่า ในวันที่ 19 เมษายน มีผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจประมาณ 16 ราย แต่วันที่ 20 เมษายนมีคนใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มเป็น 55 ราย และล่าสุดวันที่ 23 เมษายน มีคนใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มเป็น 91 ราย สะท้อนว่าหากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที ปัญหาที่จะตามมาหลังจากเตียงไม่พอคือห้อง ICU ไม่พอ อาจต้องใช้ ICU สนาม
ถ้าการระบาดลุกลามเกินเยียวยา เราอาจเข้าสู่สภาวะเดียวกับที่สหรัฐอเมริกาเผชิญ นั่นคือเลือกผู้ป่วยที่แข็งแรงเพื่อรอด นี่คือทฤษฎี รายไหนที่ดูแล้วโคม่าอาจหยุดให้ยา เก็บยาไว้ให้คนที่มีโอกาสรอดสูงกว่า ซึ่งเราเคยเห็นภาพนี้ในนิวยอร์กเมื่อปีที่แล้ว เราไม่คิดหรอกว่าภาพนี้จะเกิดในประเทศไทย แต่วันนี้ต้องบอกว่าเรากำลังใกล้ไปถึง ณ จุดนั้นแล้ว
ย้อนกลับเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นชาติแรกๆ ในโลก ที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 นอกเหนือจากสาธารณรัฐประชาชนจีน โดย ณ วันนั้นแม้ต้องแลกมาซึ่งความสูญเสียทางธุรกิจ แต่ประเทศไทยถือได้ว่ามีการจัดการที่ดีกว่าหลายประเทศจนทำให้ได้รับคำชมจากองค์การอนามัยโลก
นับจากวันนั้นเป็นต้นมา หลายประเทศฝั่งยุโรป มีการประกาศมาตรการที่เข้มงวดต่อเนื่อง ล็อกดาวน์ซ้ำหลายรอบเพื่อจำกัดวงรอบการระบาดให้แคบที่สุด แม้บางแห่งคัดค้านรุนแรงถึงขั้นปะทะกัน แต่นั่นเป็นวิธีเจ็บแต่จบที่ทำให้วันนี้หลายประเทศผ่านจุดร้ายแรงที่สุดมาได้ อัตราผู้ป่วย ผู้เสียชีวิตลดลงอย่างมาก มีการฉีดวัคซีนให้ประชากรเกินครึ่ง จนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตในภาวะใกล้เคียงปกติได้บ้างแล้ว อาทิ อิสราเอล, นิวซีแลนด์, ออสเตรเลีย (บางรัฐ)
มองมาที่ประเทศไทย วันนี้เรายังคงอยู่ในจุดเดิม เพราะที่ผ่านมาเน้นแก้ไขเฉพาะหน้ามากกว่าป้องกัน นั่นคือ ติด – กักตัว – รักษา แต่เชื้อโรควิวัฒนาการจากเดิม ฉลาดขึ้น เก่งขึ้นรอบนี้จึงดูรุนแรงมากขึ้น และตำราบทเดิมที่เคยใช้อาจกางออกมาใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นเพราะที่ผ่านมาเรายังขาดการบูรณาการแผนรับมือภาวะวิกฤตโควิด-19 จากหลายๆ หน่วยงานที่รับผิดชอบเข้าด้วยกัน และขาดการแบ่งบทบาทให้ชัดเจน ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง นั่นคือ “คัดกรอง – รองรับ – บรรเทา – เยียวยา – จัดหาและกระจายวัคซีน เพื่อป้องกัน หรือ หาวิธีสร้างภูมิคุ้มกันหมู่”
แต่อาจด้วยข้อจำกัดในการทำงานของผู้รับผิดชอบที่มีลักษณะรวมศูนย์ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการตัดสินใจ โดยรูปแบบนี้แม้เคยใช้ได้ดีกับวิกฤตการณ์อื่น อาทิ เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ แต่ครั้งนี้มีปัจจัยต่างกัน เพราะตอนน้ำท่วมความเสียหายค่อนข้างชัดในสาธารณูปโภคและเศรษฐกิจ ไม่ได้หลบซ่อนและแพร่กระจายรวดเร็วเหมือนเชื้อโรค และถ้าเป็นโควิด – 19 เมื่อไหร่ ถ้าปล่อยให้ผู้ติดเชื้อต้องรอ เชื้อมีสิทธิอัพเกรดอาการที่รุนแรงขึ้น ลามไปติดคนข้างเคียง กระจายกว้างขึ้น เช่น ครอบครัวย่านสายไหมมีผู้ป่วยติดเชื้อ 1 คน แต่รอ รพ.รับไปรักษาผ่านไป 10 วัน ติดทั้งบ้าน 6 คน ตามที่เป็นข่าว
ดังนั้นอาจต้องดูกันต่อไปว่า ภาครัฐจะปรับ หรือ วางมาตรการขั้นตอนต่อไปอย่างไร แต่ก็เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อมีการปลดล็อกบางประการเพื่อให้ภาคเอกชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องวัคซีน ที่เรียกได้ว่าเป็นความหวังทั้งในด้านสาธารณสุขของประเทศ รวมถึงเชิงจิตวิทยาที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม
เมื่อไวรัสเก่งขึ้น ปรับตัวทุกวินาที ถ้าจะรอดต้องทำอย่างไร
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการกำหนดขอบเขตอาการโควิด-19 ออกเป็น 3 ระดับ ตามนโยบายการส่งต่อผู้ติดเชื้อ
- สีเขียว = ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือ มีอาการเล็กน้อย ส่งต่อ โรงพยาบาลสนาม/Hospitel
- สีเหลือง = ผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงแต่มีอาการเหนื่อยหอบ หายใจเร็ว หรือ ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงอื่นๆ เช่น สูงอายุ น้ำหนักเกิน มีโรคประจำตัวส่งต่อ โรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน
- สีแดง = ผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ปอดอัดเสบรุนแรง มีภาวะปอดบวมส่งต่อ โรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน
แต่ชีวิตจริงเชื้อโรคไม่มีการแบ่งระดับความรุนแรงว่าต้องเป็นไปตามขั้นตอน ดังนั้นถ้าวันนี้คุณอยู่ในเป็นเคสสีเหลือง พรุ่งนี้คุณอาจจะสีแดงก็ได้ หรือ วันนี้คุณตรวจไม่เจอ แต่อีกสามวันคุณอาจเข้าขั้นวิกฤตแล้วก็ได้ เพราะไวรัสมีการปรับตัวทุกนาที ส่งผลให้ตรวจเจอยากขึ้น แฝงอยู่ในร่างกายนานขึ้น
และที่น่ากลัวกว่า คือ มันสามารถวิวัฒนาการไปเรื่อยๆ จนอาจนำสู่การดื้อยา ต่อต้านวัคซีน ดังที่ นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด19 ว่า
- เชื้อปรับตัวเองให้เก่งขึ้น แม้ไม่ต้องนำเข้า สายบราซิล อังกฤษ แอฟริกาด้วยซ้ำ และกลายเป็นรายใหม่ หลบหลีกกระบวนการต่อสู้ของร่างกายเก่งขึ้น และน่าจะมีผลดื้อต่อวัคซีนหรือไม่
- เชื้อยังไม่เปลี่ยนมาก แต่คนติดเชื้อไม่แข็งแรงเท่าแรงงานในต้นระลอกสอง
ดังนั้นสิ่งที่เรารู้และเคยปฏิบัติอาจต้องปรับกระบวนการใหม่ เดิมอาจคิดว่าพอเริ่มมีอาการน้อยๆ ก็รีบดูแลตัวเองก่อนเพื่อจะไม่ได้พัฒนาจากเคสสีเขียวไปสีเหลือง หรือ การที่คิดว่าถ้าได้วัคซีนแล้วก็คงรอด คงจบ เหล่านี้อาจต้องปรับเพราะรอบนี้ไวรัสมันเก่งขึ้น
ปัจจุบันคุณจะประเมินความเสี่ยงได้ยากมากขึ้น จากเมื่อก่อนอาจบอกว่าไม่ได้ไปเที่ยวฉะนั้นเสี่ยงน้อย แต่วันนี้มันไม่ใช่แบบเดิม ทุกคนเสี่ยงเท่ากันหมด เพราะยังต้องพบเจอคนซึ่งไม่รู้ว่าเขาไปไหนมาบ้าง ซึ่งอาจมีทั้งติดแล้ว หรือ อยู่ในพื้นที่เสี่ยงโดยไม่รู้ตัว
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ตรวจแล้ว “ติดโควิด19” ต้องทำอย่างไรต่อ
- 6 สิ่งอย่าหาทำ! ถ้าไม่อยากติดโควิด-19 ตาย
- เปรียบเทียบวัคซีนโควิด-19 ทั้ง 12 แบรนด์
ระหว่างที่เรายังรอความหวัง โดยไม่รู้ว่าประเทศไทยสามารถยับยั้งการระบาดครั้งนี้ด้วยวิธีใด วัคซีนจะมาเมื่อไหร่ เตียงมีไหม ยาพอหรือไม่ หรือ ใครจะเป็นอัศวินม้าขาวมาช่วย
วิธีที่ดีที่สุดตอนนี้ คือ ถ้าหวังพึ่งใครไม่ได้ ก็ต้องพึ่งตัวเองเสียก่อน ป้องกันตัวเองให้ดีที่สุด เข้มที่สุด แม้หลายท่านจะบอกว่าปัจจุบันก็เข้มอยู่แล้วก็ขอให้เข้มงวดต่อไป ท่องไว้ว่า “มีวินัย ใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ ลดไปสถานที่เสี่ยง” แม้ช่วยไม่ได้ 100% แต่ก็น่าจะช่วยลดความเสี่ยงของคุณเองและคนรอบตัว รวมถึงบรรเทาอัตราการระบาดได้บ้าง เพราะเชื่อได้ว่าคงไม่มีใครอยากให้ภาพการล้มป่วยและเสียชีวิตของผู้คนจำนวนมากในนิวยอร์กเมื่อปีที่แล้วมาเกิดขึ้นกับประเทศไทยของเราแน่นอน………..