เมื่อเด็กไทย เด็กอาเซียน คุณภาพต่ำกว่าเกณฑ์ อาเซียนควรมูฟออนยังไง

0
712
kinyupen

“การทำลายประเทศสักประเทศหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องใช้ระเบิดอะตอมมิค หรือใช้จรวดนำวิถีระยะไกลอันใด ขอเพียงแค่ลดคุณภาพการศึกษาให้ต่ำลง และปล่อยให้นักศึกษาโกงการสอบ…”

คนไข้ก็จะตายด้วยมือหมอ-ที่มีคุณภาพตามนั้น,
สิ่งก่อสร้างทั้งหลายก็จะพังทลายด้วยมือวิศวกร-ที่มีคุณภาพอย่างนั้น,
เศรษฐกิจจะสูญด้วยมือนักธุรกิจและนักลงทุน-ที่มีคุณภาพอย่างนั้น,
มนุษยธรรมจะหายสิ้นด้วยมือของนักวิชาการศาสนา-ที่มีคุณภาพอย่างนั้น,
ความยุติธรรมจะไม่มีเหลือด้วยมือของผู้พิพากษา-ที่มีคุณภาพอย่างนั้นๆ

 

ข้อความทาง Line เกี่ยวกับคุณค่าของการศึกษา ที่อ่านแล้วดูเหมือนจะตลก…..แต่ก็ตลกไม่ออก เพราะในเมื่อ “คุณภาพการศึกษา” ที่เป็นหัวใจของการพัฒนาประเทศในวันนี้ทั้งของไทยและหลายชาติเพื่อนบ้านในอาเซียนกลับพบว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน

แล้วเราจะมูฟออนเรื่องนี้กันต่อไปยังไงดี เพราะถ้าการศึกษามีผลต่อการกำหนดอนาคตประเทศ ดังนั้นหลายชาติคงต้องเร่งตัดสินใจ เพราะนี่คือการเดิมพันครั้งสำคัญแห่งอนาคต…..

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 11 – 12  มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ก็เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีของการจับมือกันของทั้ง 11 ชาติอาเซียน หลังมีการจัดประชุมเครือข่ายนักวิจัยระดับนานาชาติเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านสะเต็มศึกษา Chevron – SEAMEO Research Workshop for Strengthening Regional STEM Education in Southeast Asia ซึ่งประเทศไทย โดยศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ศูนย์ SEAMEO STEM–ED รับผิดชอบเป็นเจ้าภาพ ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และ เชฟรอน คอร์ปอเรชั่น

 

ภายในงานมีนักวิจัยจาก 26 ศูนย์ SEAMEO ที่ตั้งอยู่ทั่วอาเซียน ผู้แทนภาครัฐ สถาบันการศึกษา และผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัยระดับนานาชาติ มาร่วมระดมสมองเพื่อกระตุ้นให้เกิดงานวิจัยที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายสะเต็มศึกษาในอาเซียน หลังพบปัญหาเยาวชนอาเซียนคุณภาพต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานโลก อันเนื่องขาดการส่งเสริมเรื่องสะเต็มศึกษา ประกอบกับ 3 ปัจจัยที่การศึกษาแบบเดิมที่ไม่ตอบโจทย์ คือ ดิจิทัล ดิสรัปชั่น ความเหลื่อมล้ำของเด็กในเมืองและชนบท และผลกระทบจากโควิด-19

นอกจากนี้จะมีนำเสนองานวิจัยที่ถอดบทเรียนจากโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ที่เป็นผลจากการดำเนินงาน 5 ปีที่ผ่านมาให้กับนักวิจัยทั้งของไทยและประเทศสมาชิกได้ทราบ โดยเฉพาะในด้านแนวทางพัฒนาทักษะการสอนนักเรียนในห้องเรียน ประโยชน์ของกระบวนการสร้างชุมชนทางวิชาชีพครู (PLC) รวมถึงการประเมินครูผู้สอน ซึ่งล้วนมีส่วนสำคัญต่อเด็กนักเรียนและคุณภาพการศึกษาที่หลายชาติอาเซียนกำลังประสบอยู่

 

นี่คือประเด็นน่าสนใจจากการประชุมครั้งนี้

 

 

ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของงานวิจัยที่จะช่วยยกระดับการศึกษาของอาเซียน โดยระบุว่าสภาพปัญหาที่ภูมิภาคนี้เผชิญหน้ามีความคล้ายกัน 3 เรื่องคือ เยาวชนอาเซียนมีผลประเมินด้านการศึกษาต่ำ (PISA) การขาดแคลนกำลังคนที่มีทักษะด้านสะเต็มศึกษา (Science Technology Engineering and Mathematics Education : STEM-ED) โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง รวมทั้งการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีจิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

“ทางแก้ไขคือเร่งส่งเสริมการทำวิจัยด้านการศึกษาที่จะสามารถตอบโจทย์การศึกษาในอนาคต เพื่อนำผลการวิจัยไปใช้ประกอบการตัดสินใจในการวางนโยบายการศึกษาของแต่ละประเทศ โดยคาดหวังว่าเวทีจะช่วยยกระดับความร่วมมือและสร้างเครือข่ายนักวิจัยด้านการศึกษาระดับภูมิภาค ในการนำองค์ความรู้ของแต่ละชาติมาต่อยอด รวมทั้งร่วมกันกำหนดโจทย์ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนโมเดลงานวิจัยด้านการศึกษาที่จะนำไปสู่การยกระดับศักยภาพของอาเซียนอย่างยั่งยืน”

 

 

ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการศูนย์ SEAMEO STEM-ED กล่าวถึงบทบาทของสถาบันการศึกษากับการพัฒนาอาชีพครู และการสนับสนุนงานวิจัยที่ตอบโจทย์สถานการณ์ปัจจุบัน โดยเน้นว่าที่ผ่านมา ยังไม่มีการวางนโยบายด้านสะเต็มศึกษาอย่างจริงจังในอาเซียน ความร่วมมือกับเชฟรอนเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เกิดการทำวิจัยเพื่อนำไปสู่การผลักดันเชิงนโยบาย และการจัดเวทีครั้งนี้ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ ระหว่างผู้กำหนดนโยบายระดับประเทศกับนักวิจัย เพื่อสร้างมาตรฐานงานวิจัยต้นแบบ และการจัดทำฐานข้อมูลวิจัยเพื่อนำเสนอต่อผู้กำหนดนโยบายด้านการศึกษา

โดยการหารือครอบคลุม 3 ประเด็นหลักคือ กระบวนการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) การพัฒนาอาชีพครูและองค์ประกอบการเรียนสะเต็มศึกษา การบูรณาการสะเต็มศึกษาตั้งแต่ระบบเรียนฟรี หรือ K-12 และการสร้างโมเดลวิทยาลัยอาชีวะสะเต็มศึกษาที่ได้มาตรฐานระดับโลก

ทั้งย้ำว่าการพัฒนางานวิจัยต้องเดินคู่ไปกับการพัฒนานักวิจัย จึงจะมีการตั้งคณะกรรมการกำหนดเกณฑ์การให้ทุนงานวิจัย ควบคู่กับการกำหนดแนวทางการพัฒนาขีดความสามารถนักวิจัยด้านการศึกษา ซึ่งพบว่า ในอาเซียนมีประเด็นงานวิจัยที่คล้ายกันคือ “ผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจจากโควิด-19 ความเหลื่อมล้ำของเด็กในเมืองและชนบท และดิจิทัล ดิสรัปชั่น” การประชุมครั้งนี้เป็นการสกัดสาระสำคัญเพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายเพื่อพัฒนาครูในรูปแบบใหม่ และกระตุ้นให้เกิดงานวิจัยเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาในอาเซียน

“หน้าที่ของ SEAMEO STEM-ED ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเน้นเรื่องสะเต็มศึกษา ก็เป็นไปตามเป้าหมายที่ท่านรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการของประเทศไทย ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อให้เราเป็นหน่วยวิจัยและพัฒนาศักยภาพของคน บุคลากรการศึกษา ทำให้สะเต็มศึกษาในภูมิภาคทั้ง 11 ประเทศเข้มแข็ง จับมือไปด้วยกัน นอกจากนี้เราต้องช่วยเพื่อนบ้านด้วย อย่างเช่น ต้องดูว่าพม่าเป็นอย่างไร เราจะช่วยอะไรเขาได้บ้าง กัมพูชาอย่างไร ลาวอย่างไร มันมีความร่วมมือในระดับประเทศ ระดับภูมิภาคอยู่ และมีหน่วยงานต่างๆ เช่นเราเข้ามาร่วมทำไปด้วยกัน

 

ส่วนวัตถุประสงค์สำคัญงานประชุมครั้งนี้ ก็คือ ทำยังเราถึงจะสร้างนักวิจัย ที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องมาตรฐานของงานวิจัยที่มีคุณภาพ และนำไปใช้ช่วยกำหนดนโยบายได้ เพราะว่าถ้าไม่มีคุณภาพ ไม่มีใครพิสูจน์ว่าเรื่องนี้มันดี แล้วถ้าไปกำหนดนโยบาย มีการจัดงบประมาณให้แล้วไม่ได้ผล ก็ล้มเหลว เพราะฉะนั้นพี่ถึงบอกว่าเรื่องนี้ มันมองข้ามไม่ได้ มันดูเป็นเรื่องยากค่ะ นักวิจัยก็ยาก โดยเฉพาะเรื่องสะเต็มศึกษานะคะ แต่เราต้องทำมันตรงนี้ขึ้นมา”

 

ดร.พรพรรณ ทิ้งท้ายให้ทราบถึงภารกิจของ SEAMEO STEM-ED และงาน Chevron – SEAMEO Research Workshop for Strengthening Regional STEM Education in Southeast Asia

 

 

 

Ms. Dee Bourbon, Senior Advisor, Global Social Investment, Chevron Corporation กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างเชฟรอนกับ SEAMEO STEM-ED เพื่อพัฒนาสะเต็มศึกษาในภูมิภาคอาเซียน โดยเชฟรอนเริ่มมีส่วนร่วมพัฒนา ‘พลังคน’ ในอาเซียนอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 แล้วภายใต้โครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ซึ่งปัจจุบันเข้าสู่ระยะที่สอง โดยร่วมกับ SEAMEO STEM-ED โครงการดังกล่าวกลายเป็นโมเดลต้นแบบงาน CSR ด้านการศึกษาระดับภูมิภาค โดยนำเสนองานวิจัยที่ถอดบทเรียนในโครงการให้กับนักวิจัยทั้งอาเซียน โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะการสอนในห้องเรียน ประโยชน์ของกระบวนการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ  (PLC) รวมถึงการประเมินครูผู้สอน ซึ่งมีความสำคัญต่อเด็กและการยกระดับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในอาเซียน

 

อนึ่ง บทสรุปและแนวทางต่างๆ ที่ได้จากงานประชุม Chevron – SEAMEO Research Workshop for Strengthening Regional STEM Education in Southeast Asia ครั้งนี้ จะถูกนำไปพัฒนาและบรรจุเป็นวาระนำเสนออีกครั้ง ต่อที่ประชุมรัฐมนตรีและผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ 11 ชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ซีมีโอคองเกรส (SEAMEO Congress) ที่จะเกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2564 ที่จะถึงนี้ เพื่อหาแนวทางที่ดีที่สุดในการขับเคลื่อนการศึกษาอาเซียนให้ก้าวทันโลก และยกระดับคุณภาพเยาวชนให้มีศักยภาพเติบโตสู่อนาคตที่ดีไปพร้อมกัน

 

 

รู้จัก SEAMEO

องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Ministers of Education Organization – SEAMEO) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2508 ภายใต้การตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาลของกลุ่มชาติสมาชิกอาเซียน มีภารกิจหลักเพื่อเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภูมิภาค “ด้านการศึกษา-วิทยาศาสตร์-วัฒนธรรม” เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและเสริมสร้างศักยภาพทางการศึกษาสอดคล้องตามเป้าหมายทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศสมาชิก

การดำเนินงานของ SEAMEO ขับเคลื่อนภายใต้ขอบข่ายความเชี่ยวชาญ ได้แก่ ด้านการพัฒนาการศึกษาทุกระดับ ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านเวชศาสตร์เขตร้อน ด้านสุขอนามัยและสาธารณสุข ด้านเกษตรกรรมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งด้านวัฒนธรรม โบราณคดีและประวัติศาสตร์ ทั้งหมดนี้จะมีศูนย์ระดับภูมิภาค 26 แห่งที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะแต่ละด้านกระจายอยู่ตามประเทศต่างๆ ทั่วอาเซียน รับผิดชอบบริหารจัดการ

 

สมาชิก SEAMEO มีใครบ้าง

  • ปัจจุบัน SEAMEO มีสมาชิกทั้งหมด 26 ศูนย์ จาก 11 ประเทศสมาชิก ประกอบด้วย : บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม และติมอร์เลสเต
  • สมาชิกสมทบ 8 ประเทศ : ออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี นิวซีแลนด์ เนเธอร์แลนด์ สเปน และสหราชอาณาจักร
  • หน่วยงานที่เป็นสมาชิกสมทบ 4 แห่ง : สภาระหว่างประเทศด้านการศึกษาทางไกล มหาวิทยาลัย Tsukuba บริติช เคาน์ซิล และสมาคมเพื่อการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาระหว่างประเทศของสาธารณรัฐประชาชนจีน

 

SEAMEO STEM-ED สำคัญอย่างไร

ศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Ministers of Education Organization Regional Centre for STEM Education / ศูนย์ SEAMEO STEM-ED) เป็นองค์การระหว่างรัฐบาลส่วนภูมิภาคที่จัดตั้งขึ้นภายใต้มติ ครม. และความเห็นชอบของกระทรวงศึกษาธิการไทย เมื่อ พ.ศ.2562 มีรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ 11 ชาติอาเซียนร่วมเป็นสมาชิก ภารกิจหลักเพื่อเป็นศูนย์กลางวิจัยพัฒนา เผยแพร่องค์ความรู้นวัตกรรมด้านสะเต็มศึกษา พร้อมให้คำเสนอแนะแก่ผู้กำหนดนโยบายแต่ละชาติสมาชิก โดยประเทศไทยรับมอบหมายเป็นเจ้าภาพหลักจัดตั้งและบริหารจัดการศูนย์แห่งนี้ ซึ่งเป็น 1 ใน 26 ศูนย์ระดับภูมิภาคของ SEAMEO

kinyupen