ถอดบทเรียน Covid-19 ปั้น “พยาบาลแห่งอนาคต” พร้อมรับมือโลกใหม่

0
714
kinyupen

การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 หนึ่งในสถิติหลักหมื่นของผู้ติดเชื้อในประเทศไทย มีบุคลากรทางการแพทย์บางส่วน ทำให้วงการสาธารณสุข หันมาคิดหนักถึงการเตรียมพร้อมของแพทย์พยาบาลให้มีศักยภาพที่จะรับมือกับโรคอุบัติใหม่ ซึ่งอาจไม่ได้จบที่ Covid-19

ขณะเดียวกันโลกยุคใหม่ ยังมีความท้าทายด้านสุขภาพอีกมาก โดยเฉพาะการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aging Society) ในปี 2565 รวมถึงโรคทางจิตเวชที่ปรับเปลี่ยนตามสภาพสังคม การเคลื่อนย้ายถิ่นของแรงงานในภูมิภาค ความหลากหลายทางเพศ เชื้อชาติ วัฒนธรรม แม้กระทั่งเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว

 

ปัจจัยเหล่านี้กำลังถาโถมเข้ามาอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ซึ่งระบบสาธารณสุขของไทย และบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะพยาบาล ซึ่งเป็นหน้าด่าน ทำงานใกล้ชิดผู้ป่วย ต้องหันมาเตรียมพร้อมรับมือ

 

โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จึงต้องหันหลังให้กับหลักสูตรการเรียนการสอนแบบเก่า เพื่อปรับการเรียนการสอนใหม่ โดยเพิ่มชุดทักษะให้สอดคล้องยุคสมัย เป็น “พยาบาลแห่งอนาคต”

นอกจากเชี่ยวชาญในวิชาชีพเป็นพื้นฐานแล้ว พยาบาลยุคใหม่ยังต้องเป็นนักวิเคราะห์สถานการณ์ สามารถแก้ปัญหาได้ทันท่วงที ขณะเดียวกันก็เท่าทันเทคโนโลยี ทั้งไม่ลืมงานหลักในการดูแลผู้ป่วย ที่ต้องเป็นองค์รวมมากขึ้น

 

นักศึกษาพยาบาล

 

รองศาสตราจารย์ ดร.พูลสุข เจนพานิชย์ วิสุทธิพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี อธิบายว่าเรานำเรื่อง Problem based learning “ มาใช้เป็นหลักในการเรียนการสอนในตอนนี้ ให้นักเรียนพยาบาลมีทักษะคิดแก้ปัญหา เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่เคยพบมาก่อน ก็จะมีความยืดหยุ่น แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี

ที่สำคัญต้องมองให้ทะลุถึงองค์ประกอบของมนุษย์ ซึ่งในแต่ละคนมีปัจจัยมาเกี่ยวข้องหลากหลาย ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม พยาบาลต้องดูแลให้ครบถ้วน

 

“การดูแลคนป่วยจะแก้อะไรเขาไม่ได้เลย หากไม่นำปัจจัยอื่นขอเขามาดูด้วย เช่น เขาอาจคิดหนักเรื่องค่ารักษาพยาบาล จึงต้องเน้นการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม หมายถึง ดูแลคนทั้งคน นำองค์ประกอบทั้งหมดที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาในการดูแลคนป่วยคนนั้น”

 

รวมแล้วการจะเป็น “พยาบาลแห่งอนาคต” ได้จะต้องพร้อมใน 3 มิติ

มิติแรก มีความรู้ความสามารถเชิงวิชาชีพ มีความรู้ข้ามศาสตร์ เพื่อเปิดกว้าง ที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ รวมทั้งมีแนวคิดในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ

มิติที่สอง มีความเข้าใจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในปัจจุบัน ที่จะนำไปสู่ความสามารถในการแปลผล และรวบรวมข้อมูลทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

มิติที่สาม ความเข้าใจเพื่อนมนุษย์ ที่มีความหลากหลาย ทั้งเชื้อชาติ เพศ วัย วัฒนธรรม เป็นต้น ดังนั้นพยาบาลจึงต้องมีทักษะชีวิตที่สามารถปรับตัว ยืดหยุ่น เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่แตกต่าง

 

“ในการเรียนการสอนตามหลักสูตรใหม่นั้น โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี ได้นำสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และการคาดการณ์ปัญหาสุขภาพในอนาคต มาบรรจุไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอน รวมทั้งยังสอนให้นักศึกษา มีทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยตนเอง ผ่านการใช้เทคโนโลยี เพื่อติดตามความก้าวหน้าและรู้ทันปัญหาสาธารณสุขที่เกิดขึ้นใหม่ตลอดเวลา”

 

ดร.นันทนิจ แวน กูลิค อาจารย์ประจำสาขาวิชาการพยาบาลพื้นฐาน โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี ขยายความถึงการเรียนการสอนแบบใหม่ ว่า เราจัดให้มีหุ่นเสมือนจริง สำหรับฝึกเจาะเลือด ฉีดยา ทำคลอด ทำ CPR ปั๊มหัวใจ นักศึกษาจะได้ฝึกตั้งแต่ชั้นปี 2 การฝึกช่วยให้ทำได้แคล่วคล่องและมั่นใจมากขึ้น

ทั้งมีการจำลองเหตุการณ์ เช่น การทำ Disaster Triage ให้นักศึกษาฝึกการจัดการภาวะฉุกเฉินที่มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ในสถานการณ์จำลองที่มีความใกล้เคียงกับเหตุการณ์จริง ได้ฝึกคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉิน และวางแผนการจัดการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ภายใต้สถานการณ์ที่กดดัน รีบเร่ง ซึ่งในอนาคตข้างหน้ามีโอกาสที่จะเกิดภัยพิบัติมากขึ้น

 

รองศาสตราจารย์ ดร.พูลสุข เจนพานิชย์ วิสุทธิพันธ์ ย้ำว่า นอกจากปัจจัยการมาเรียนพยาบาลเพื่อต้องการมีงานทำรองรับแล้ว อีกด้านหนึ่ง ต้องทำให้คนมาเรียน เห็นคุณค่าของวิชาชีพพยาบาลอย่างแท้จริง และมีศักยภาพดูแลผู้ป่วย เพื่อให้เขากลับสู่บ้านอย่างมีความสุขด้วย เป็นเป้าหมายใหญ่ของการเรียนการสอนของโรงเรียนฯ ที่เรากำลังทำอยู่

และอีกทักษะที่มีแนวคิด จะเพิ่มเติมในการเรียนการสอนอนาคต คือทักษะการเป็นผู้ประกอบการ เพราะหน่วยดูแลผู้ป่วยในชุมชน จะมีความสำคัญมากขึ้น ทำให้ผู้ที่มาเรียนวิชาชีพ มีเส้นทางที่อาชีพอื่นๆ เช่น รับดูแลผู้ป่วยในชุมชนได้ ไม่จำเป็นต้องมาเป็นพยาบาลในโรงพยาบาลเท่านั้น

 

การลงพื้นที่ชุมชน

 

ขณะเดียวกันการที่เราได้วางหลักสูตรการเรียนการสอนที่ทำให้ผู้ที่มาเรียน มีเส้นทางอาชีพที่หลากหลายมากขึ้น และเปิดกว้างมากขึ้น เช่น หลักสูตร Dual Degree เรียนต่อเนื่องปริญญาตรีและโทสาขาวิชาวิทยาการระบาดวิทยาทางคลินิก สามารถเป็นนักระบาดวิทยาในอนาคต รวมถึงสร้างช่องทางให้นักศึกษาได้มีโอกาสเปิดกว้างทางความรู้ในต่างประเทศ หรือหลักสูตร Double Degrees 5 ปี ได้ปริญญาตรี 2 ใบจากมหาวิทยาลัยมหิดล และ มหาวิทยาลัย Deakin จากออสเตรเลีย รวมถึงเปิดให้คนที่มีใจรักษาวิชาชีพพยาบาลเทียบโอนหน่วยกิตได้ เป็นต้น

 

kinyupen