กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต นำแง่คิดองค์กร โดย “คุณอมฤต ศิริพรจุฑากุล” หรือ “โกเลี้ยง” เจ้าของร้านอาหารเรือนไม้ จ.กระบี่ ด้วยเมนูอาหารพื้นบ้านที่เหมือนจะธรรมดาๆ แต่ครองใจลูกค้าเป็นสิบๆ ปี
เริ่มจากพาพนักงานเรียนรู้ตามแหล่งต่างๆ ช่วงเริ่มผ่อนคลายโควิด-19 ปี 2563 ใส่ใจพนักงานเหมือนครอบครัว ได้ใจลูกน้องเต็มๆ
โควิดรอบแรก ในระยะใหม่ๆ มันต้องกักตัวกันทุกคน พอมันเริ่มผ่อนคลายขึ้นมา ผมก็เริ่มดึงพนักงานซึ่งพักอยู่บริเวณแถวนี้ทั้งหมดมาปลูกผักบ้างนะครับ
สุดท้ายแล้วก่อนเปิดร้าน 2-3 อาทิตย์ ผมก็เชิญผู้ชำนาญการมา ทั้งสาธารณสุข ทั้งเกษตร ทั้งอาจารย์บางคน เรามาทำโครงการเรื่องของ “อาหารเป็นยา” เพราะว่าวัตถุดิบทุกอย่างที่เป็นอาหารท้องถิ่นเราใช้สมุนไพรเยอะมาก
อาหารแต่ละอย่าง เมนูนี้ ส่วนผสมมันมีอะไรบ้าง 1 2 3 ในส่วนผสมนั้น มีคุณค่าทางอาหารอะไรบ้าง อันนี้แก้อะไร อันนี้เสริมอะไร
อันนี้บำรุงร่างกายยังไง สมุนไพรแต่ละอย่างที่นำมาผสม ให้เด็กเขาได้รู้
อันที่ 2 เราพาพนักงานไปดูงานในส่วนของที่เป็นวัตถุดิบ
สมมติเราทำเรื่องอาหารทะเล ผมก็พาพนักงานของผมไปในชุมชนที่เป็นประมงชายฝั่ง ให้เขาไปคุย ให้เขาไปเรียนรู้ว่า ในแต่ละเดือน ในแต่ละฤดูกาล สัตว์น้ำทะเลเขาไปหามายังไง ลำบากขนาดไหน
ปลานี้ทำอะไรบ้าง ปลาชนิดนี้ใช้แกงอะไร ปลาชนิดนี้ใช้ทอด ปลาชนิดนี้ใช้ย่าง ให้เขาเรียนรู้พวกนี้ไปด้วยกัน
พืชผักพื้นบ้านเหมือนกัน เราก็ให้เขาไปดูว่าพืชผักที่เราใช้อยู่นี้ส่วนมากเป็นผักพื้นบ้านนะ อย่างผักเหมียง เขาปลูกกันยังไง ผักกูด มันขึ้นที่ไหน ยอดกาหยีที่เขาปลูกกันปัจจุบันนี้ ที่เราใช้ทุกวันนี้ กินกับอะไร
คือทุกอย่างให้เขาเรียนรู้หมดเลย แล้วพวกนี้ มันมีสารอาหารกี่ชนิด ผักเหมียงมันให้ประโยชน์กับร่างกายยังไง
เราไปดูแหล่งผลิตที่เราเป็นลูกค้าประจำกัน เพราะผมจะไม่ผลิตเอง ผมจะให้ชาวบ้านผลิต แล้วผมรับเขามาตามกระบวนการที่เราต้องการ ต้องปลอดสารพิษ ไม่ต้องใช้สารเคมี
อาหารทะเลก็เหมือนกัน เรามีคนกลางอยู่คนหนึ่งที่เขาไปหามาให้เรา แต่หาจากชุมชนที่เรากำหนด ปลาแต่ละชนิดต้องมีที่มาที่ไป
คุณต้องจับสัตว์น้ำถูกต้องตามกฏหมายนะ และขนาดต้องได้ตามมาตรฐานที่เราต้องการ ไม่ใช่จับเล็ก จับใหญ่ จับมันให้หมด ไม่เอา
เราจะให้คนของเราเรียนรู้ แล้วพาเขาไปศึกษาดูงาน พาไปแหล่งท่องเที่ยว พาไปกินตามร้านอื่น แล้วเปรียบเทียบให้ได้นะครับว่ามันเป็นยังไง
และทุกปี ปีละสองครั้ง เราจะทำกระบวนการเรื่องของพนักงาน บางทีพนักงานอยู่กันนานๆ ก็ทะเลาะกันบ้าง มีอะไรกันบ้าง ให้เราเปิดใจกัน จะมีอาจารย์ทีมหนึ่งทีทำเรื่องนี้ เปิดใจกัน ให้คุยกัน ใครผิดตรงไหนสารภาพกัน คุยลักษณะนี้
อย่างน้อยผมว่า ถ้าเขาได้เรียนรู้เรื่องพวกนี้ เขาสามารถที่จะรักในสิ่งที่เขาทำแล้วเขาก็จะรัก และภาคภูมิใจในองค์กร
“เราได้รางวัลเยอะมาก เพราะรางวัลที่เราได้ ไม่ใช่ได้กับผม ทุกอย่างที่ผมจะทำ ผมจะปรึกษาน้องๆ ทุกๆ ครั้ง “เฮ้ย จะทำอย่างนี้ ว่ายังไงกันบ้าง?” “เสนอมา”
ผมไม่ได้เป็นคนตัดสินใจคนเดียว เพราะฉะนั้นทุกอย่างมันเป็นครอบครัว เป็นทีม” โกเลี้ยงกล่าวปิดท้าย