เจาะเวลาไปหาเรื่อง เรื่องเล่ามื้อเช้า #ตอน2

0
776
kinyupen

อาหารเช้าสำคัญจริงหรือไม่…ใครกำหนด แล้วมีที่มาที่ไปอย่างไร วันนี้ กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต นำท่านย้อนตำนานเรื่องนี้ที่เราสรุปจาก Podcast100+ : EP5 เรื่องเล่ามื้อเช้า ต่อจากตอนที่แล้ว มาฝากกันต่อเป็นตอนที่ 2

 

จากอาณาจักรกรีก และ โรมัน ขอตัดกลับมาที่ยุโรปยุคกลาง นับแต่โรมันล่มสลายช่วงประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 8 – 9 เป็นต้นมาชนชั้นสูงในยุโรปตอนกลางก็เริ่มมองว่า “อาหารเช้า” คือ อาหารของชนใช้แรงงาน คนหาเช้ากินค่ำ จับกังแบกหามที่ต้องการพลังงานมาก ภาพลักษณ์ของอาหารเช้าจึงเป็นสิ่งไม่สุภาพ ไม่เหมาะสม โดยยุคนั้นให้ความสำคัญกับมื้อเย็น คือ มื้อหลัก โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นนำที่มั่งคั่งก็จะจัดเลี้ยง จัดปาร์ตี้ในตอนเย็น กินกันเต็มที่ทั้งอาหารและไวน์ ดังนั้นเมื่อตื่นเช้ามาจึงยังไม่ค่อยหิว

 

ยุโรปสมัยนั้นมีวัฒนธรรมเผยแพร่ว่า อาหารเช้าเป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นตัวทำลายสุขภาพ แพทย์ยุคกลางจะมีความเชื่อว่าสิ่งที่กินเข้าไปในกระทบกับร่างกายไม่ว่าด้านใดก็ด้านหนึ่ง ดังนั้นขุนนางชั้นสูงจะมีหมอประจำตัวคอยยืนอยู่ด้านหลังเพื่อแนะนำระหว่างมื้ออาหารว่าสิ่งใดที่ควรกิน หรือ ไม่ควรจะกิน ทั้งเชื่อว่าผลไม้ทำให้คนมีสุขภาพดี จึงแนะนำให้ผู้ป่วยกินผลไม้มากๆ การเลือกสรรผลไม้ให้ชนชั้นสูงในมื้ออาหารจะไม่ใช่หน้าที่ของพ่อครัวแต่เป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านผลไม้

 

ถ้ามองย้อนกลับมายังพุทธกาล พระพุทธเจ้าเองก็เคยระบุว่าการกินมื้อเดียวทำให้ตัวเบา ปราศจากโรค ปัจจุบันก็มีการพูดถึงการกินอาหารแบบเว้นช่วงเวลาที่เรียกว่า IF หรือ intermittent fasting ว่ามีประโยชน์ทำให้ร่างกายปรับเปลี่ยนระบบเผาผลาญ ก็น่าสนใจที่คนโบราณก็มองเห็นสิ่งต่างๆ เหล่านี้มาก่อนเช่นกัน

 

 

ในบันทึกพระเจ้าฟรานซิสที่ 1 แห่งฝรั่งเศส ช่วงศตวรรษที่ 15 ทรงเขียนวัฐปฏิบัติประจำวันขึ้นมาว่าตื่นตี 5 มื้อเช้า 9 โมง มื้อเย็น 5 โมง เข้านอน 9 โมง จะเห็นได้ว่าช่วงนั้นก็จะมีการกินอาหารเมื่อตื่นนอนได้สักพัก ลดลงมาจากอาหารเที่ยง แต่ก็ยังเป็น 2 มื้อโดยกินอาหารเย็นก่อนพระอาทิตย์ตกดิน

 

อย่างไรก็ดีในช่วงศตวรรษที่ 16 แพทย์ ก็ยังมีการเตือนคนในยุโรปว่า การกินอาหารเช้าเป็นเรื่องไม่ดีต่อสุขภาพ เพราะร่างกายมนุษย์ตอนตื่นจะอยู่ในสภาพที่บริสุทธิ์ ดังนั้นการกินมื้อเช้าจะทำให้ร่างกายเราแปดเปื้อน การรีบเร่งกินอาหารในช่วงที่เราตื่นขึ้นมาจะทำให้เลือดสูบฉีดเร็วเกินไป ร่างกายจะร้อนขึ้นทำให้เป็นเหตุในการเกิดโรคภัยต่างๆ ขึ้นมา

 

และในช่วงยุคกลางที่ศาสนจักรเรืองอำนาจครอบคลุมทั้งด้านทางการเมืองการปกครองก็มีประกาศ หรือ เผยแพร่แนวคิดสู่ประชาชน มาว่าอาหารเช้าเป็นเรื่องของคนบาปและเป็นหนึ่งในบาปทั้ง 7 ก็คือบาปตะกละตะกลาม และเป็นเรื่องของคนจนเท่านั้น การตื่นเช้าทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ทำอะไรขึ้นมา แต่มาหาอาหารใส่ปากถือเป็นเรื่องของคนที่น่ารังเกียจ ไม่มีใครอยากคบหาสมาคมด้วย

 

โดยศาสนจักรจะฝังหัวผู้คนว่าให้ดูตัวอย่างราชวงศ์ หรือ ขุนนางต่างๆ ในยุโรปที่มีภาระหน้าที่ที่จะต้องทำงานทั้งวันก็ยังไม่รับประทานอาหารเช้ากันเลย ดังนั้นพวกชนชั้นล่าง คนจน ทาส และชาวเมืองก็ควรจะละอายต่อบาปที่ตื่นขึ้นมาแล้วควรจะทำงานทำการให้เรียบร้อยก่อนมากกว่า แต่ในอีกมุมหนึ่งนั่นเป็นเพราะการทำงานของชนชั้นสูงในยุโรปจะเน้นไปที่การว่าความ คุยงาน เจรจากันบนโต๊ะอาหาร ทำให้ต้องกินอาหารตลอดทั้งวัน เรียกว่ามีบุฟเฟ่ต์วางอยู่ตลอดทั้งบ่ายจนกระทั่งถึงเย็นค่ำก็ว่าได้คนพวกนี้จึงไม่ค่อยหิวนั่นเอง

 

จบเรื่องเล่ามื้อเช้าตอนที่ 2 ไว้เพียงเท่านี้ จากความเชื่อที่ฝังหัวว่ามื้อเช้าคือสิ่งเลวร้าย อะไรคือตัวจุดประกาย หรือ ปฏิวัติแนวคิดในเรื่องนี้กันแน่ อ่านตอนที่ 3 ได้ที่นี่

 

เกร็ดน่ารู้ : รู้จักตำนานเทพเจ้าเตาไฟ

จากเรื่องเล่าฝั่งตะวันตกข้ามมายังจักรวรรดิจีน ย้อนกลับไปเมื่อ 2000 ปีก่อนคริสตกาล พบว่ามีการบันทึกถึง “ตำนานเทพเจ้าเตาไฟ” ซึ่งช่วยฉายภาพให้เห็นว่าการหุงหาอาหารด้วยเตามีมานานมากโข โดยจีน ถือเป็นชาติแรกในโลกที่มีการบันทึกนวัตกรรมในการปรุงอาหารไว้

การมีเตานึ่งที่ทำให้การปรุงอาหารมีความหลากหลายมากกว่าต้ม หรือ การย่าง บนหม้อนึ่งที่ถูกค้นพบซึ่งเรียกว่า “เจิง” มีการบันทึกไว้ว่า “นึ่งให้เป็นข้าวสวย ต้มให้เป็นข้าวต้ม” หมายถึง มีการนึ่งธัญพืช นึ่งข้าวก็คือการหุงข้าวนั่นเอง

 

ตั้งแต่สมัยหลายพันปีก่อนคริสตกาลยุคราชวงศ์โจวประมาณ 1,000 ถึง 200 กว่าปีก่อนคริสตกาล ชาวจีนนิยมกินธัญพืชและผักเป็นหลัก พืชที่สำคัญสุดของสมัยนั้นคือ “ข้าวฟ่าง” นอกจากนี้ยังมีข้าวบาร์เลย์ ข้าวเหนียว ถั่วเหลือง ถั่วดำที่เป็นอาหารหลักของเกษตรกร ประชาชนทั่วไป ส่วนอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ต้องเป็นชั้นปกครอง ชนชั้นผู้นำถึงจะมีกินทุกมื้อ

ต่อมาสมัยราชวงศ์ฮั่น เมื่อประมาณ 200 ปีก่อนคริสตกาล เกิดการแลกเปลี่ยนค้าขายวัฒนธรรมกับต่างชาติ มีการนำเข้าทับทิม องุ่น แตงโม แตงกวา ต้นหอม แครอท วอลนัท ชาวจีนจึงเริ่มมีพิธีกรรมการปรุงอาหารมากขึ้น เช่น การทอด รวมถึงการค้นคิดเต้าหู้ที่มีการบันทึกไว้ว่า “หลิวอัน” ซึ่งดำรงตำแหน่งอ๋องของราชวงศ์ฮั่นเป็นผู้คิดค้น จากนั้นก็จึงกลายเป็นจุดกำเนิดอาหารประเภทต่างๆ มากมาย

 

การทอดในอดีตจะใช้น้ำมันจากสัตว์ กระทั่งมีการคิดค้นน้ำมันพืชขึ้นในราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ประมาณคริสต์ศักราชที่ 400-500 ทำให้จีนพัฒนาศิลปะการทำอาหารตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนมาถึงสมัยราชวงศ์หมิงที่วัฒนธรรมการกินอาจกล่าวได้ว่าเจริญรุ่งเรืองที่สุดของอารยธรรมจีน

kinyupen