พนักงานในฝัน…ยุคนิวนอร์มอล รู้ลึกเฉพาะด้านอาจไม่พออีกต่อไป

0
611
kinyupen

ปฏิเสธไม่ได้ว่านับจากการระบาดของโควิด-19 ช่วงปลายปี 2562 เป็นต้นมา เรียกได้ว่าพลิกโฉมโลกอันยุ่งเหยิงใบนี้โดยสิ้นเชิงชนิด แต่ในอีกมุมหนึ่งก็เป็นตัวกระตุ้นวิวัฒนาการสู่ยุคดิจิทัลให้รุดหน้าขึ้นอีกขั้นหนึ่ง เพราะได้เร่งให้ E-Commence, work from home, E-Banking ก้าวมามีบทบาทสำคัญอย่างเลี่ยงไม่ได้

 

ขณะเดียวกัน ส่งผลต่อผู้บริโภคให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ชนิดที่หลายองค์กรพลิกตำรารับมือแทบไม่ทัน ถ้าองค์กรใดปรับตัวได้ก่อนก็จะยังคงสามารถเดินหน้าต่อไปได้ เพราะ Best Practice ในอดีตอาจไม่สามารถนำมาใช้ได้ ณ วันนี้ สิ่งที่พบมากขึ้นภายใต้การปรับตัวของภาคธุรกิจ คือ การปลด หรือ ลดพนักงาน เพื่อความอยู่รอด แต่บางองค์กรก็อาจไม่ได้เกิดจากเหตุผลเชิงไฟแนนซ์อย่างเดียว เพราะเป็นเรื่องที่เริ่มเห็นมาสักพักโดยเฉพาะกลุ่มภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์ ทอผ้า หรือ อาหาร ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาได้เริ่มนำ AI หรือ สมองกลมาทดแทนแรงงานด้อยทักษะที่มีกระบวนการทำซ้ำๆ เดิมๆ ในไลน์ผลิต

 

นอกจากนี้อีกวิธีที่หลายองค์กรนำมาใช้มากขึ้นก็คือ จ้างเอาท์ซอร์ส ซึ่งเป็นแรงงานที่ไม่มี Fix cost ยิบย่อยและจ่ายเมื่อทำงานจบ ส่วนใหญ่จะมีเวลาทำงานที่ยืดหยุ่นกว่าพนักงานประจำ ดังนั้นเมื่อคำนวณต้นทุนโดยรวมอาจต่ำกว่าและได้งานที่มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ภายใต้เวลาที่รวดเร็วกว่าพนักงานประจำประเภทเช้าชามเย็นชามตามเวลาเข้าออกเสียด้วยซ้ำ ซึ่งด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจแบบนี้ก็มีฟรีแลนซ์ หรือ เอาท์ซอร์ส ที่เพิ่งถูกปลดจากงานประจำ พร้อมเป็นตัวเลือกอยู่มากมาย

 

ดังนั้นสิ่งที่พนักงานยุคนิวนอร์มอล ควรรู้ถ้าไม่อยากตกงาน หรือ เพื่อสร้างความมั่นคงทางการงาน คือ

 

1. พร้อมเรียนรู้หน้าที่ใหม่นอก Job description เพราะวันนี้การรู้ลึก หรือ เชี่ยวชาญเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่งอาจไม่เพียงพออีกต่อไป ในเมื่อบางเรื่องสามารถนำ AI เข้ามาวิเคราะห์ทดแทนได้ ดังนั้นควรเปิดใจที่จะ Re skill & Up skill เรียนรู้หน้างานและทักษะใหม่ๆ ที่กว้างขึ้นแบบ T-Shaped skill พร้อมรองรับหน้าที่ความรับผิดชอบใหม่ที่ต่างจากเดิมได้ ซึ่งนั่นเป็นการเพิ่มคุณค่าตนเองต่อองค์กรอีกทางหนึ่งด้วย

 

2. อย่าปิดกั้น หรือ สร้างกำแพงต่อเทคโนโลยีเพราะคุณไม่มีวันหนีพ้น ถ้าองค์กรนำมาสิ่งใหม่ๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวก เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้น แต่ถ้าพนักงานคนใดไม่เปิดรับและยังยืนยันที่จะทำงานแบบอนาล็อกต่อไป องค์กรอาจเลือกคนที่พร้อมกว่าเข้ามาแทนที่ได้

 

3. คิดเร็ว ทำเร็ว ปรับเปลี่ยนตัวเองตลอดเวลา เพราะวันนี้โลกหมุนเร็วมาก คนที่ยังยึดติดความสำเร็จเก่าๆ หรือ วิธีทำงานแบบเดิมๆ อาจไม่ใช่อีกต่อไป

 

เมื่อเทคโนโลยี หรือ AI ฉลาดมากขึ้นโลกการทำงานก็ยิ่งหมุนเร็วขึ้น ดังนั้นสิ่งเหล่านี้อาจเป็นการส่งสัญญาณเตือนต่อเหล่าพนักงานในยุคนิวนอร์มอล ว่า “ถ้าไม่ยอมปรับตัวอาจไม่มีที่ว่างในองค์กรนั้นอีกต่อไป” เพราะทุกวันนี้โลกธุรกิจแข่งขันกันที่คุณภาพและความเร็ว ถ้าใครไม่ยอมหมุนตามอาจตกขบวนและไม่มีเส้นชัยให้ก้าวถึงต่อไป

kinyupen