กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต อยากให้ถามตัวเองว่าต้องการลงทุนนานเท่าไหร่ อยากได้ปันผลไหม ต้องการลดภาษีหรือไม่ รับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน โดยทำแบบประเมินความเสี่ยงก่อนลงทุน เพื่อให้เลือกประเภทกองทุนได้เหมาะสมกับตัวเอง และพิจารณาจากหนังสือชี้ชวนก่อนซื้อกองทุนเสมอ มีวิธีดูกองทุนหลักๆ ดังนี้
1.ดูนโยบายกองทุน / กลยุทธ์ในการลงทุน
นโยบายเป็นตัวบ่งบอกว่า กองทุนที่เรากำลังดูอยู่ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทไหน เช่น ทองคำ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ ทั้งนี้นักลงทุนควรเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่ตนเองเข้าใจ ในความเสี่ยงที่ยอมรับได้
5 กลุ่มกองทุนที่ลงทุนได้ในภาวะวิกฤต (ที่มา: Wealth Me Up ลงทุนนิยม EP.38)
- Health Care
- สาธารณูปโภคพื้นฐาน
- สินค้าอุปโภค บริโภค
- อสังหาริมทรัพย์
- อาหาร
กลยุทธ์ในการลงทุน เป็นตัวบ่งบอกว่ากองทุนนี้มุ่งหวังผลตอบแทนแบบใด
- กองทุนแบบ Active เน้นทำผลตอบแทนให้ชนะตลาด ผู้จัดการกองทุนจะพยายามทำผลกำไรให้มากที่สุดให้ชนะค่ามาตรฐาน (Benchmark)
- กองทุนแบบ Passive เน้นทำผลตอบแทนให้เท่ากับตลาด ข้อดีคือค่าธรรมเนียมถูกมาก และถ้าเลือกดีๆ เก็บไว้ยาวๆ ผลตอบแทนอาจดีกว่ากองทุน Active บางกองทุนเสียอีก
2.ดูผลตอบแทนย้อนหลัง
นำผลการดำเนินงานมาเปรียบเทียบกับ Benchmark ว่าห่างกันมากไหม หากแพ้ค่ามาตรฐานมากๆ ถือว่ามีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการ แม้ผลตอบแทนย้อนหลังไม่สามารถการันตีอนาคตได้ แต่ก็พอจะบอกความเป็นไปได้ในอนาคต
3.ดูค่าธรรมเนียม
กองทุนที่มีค่าธรรมเนียมมาก จะทำให้ได้ผลตอบแทนต่ำลง ควรเปรียบเทียบค่าธรรมเนียมกับกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนเหมือนกัน แล้วเลือกกองทุนที่มีค่าธรรมเนียมถูกที่สุด
4.ดูเงื่อนไขการซื้อ–ขาย
กองทุนรวมแต่ละกองมีนโยบายการซื้อ-ขายไม่เหมือนกัน ควรทำความเข้าใจเงื่อนไขก่อนซื้อ
ตัวอย่างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับกองทุนรวม
- กองทุนรวมซื้อไว้เก็งกำไรได้ – ไม่เหมาะ เงื่อนไขส่วนใหญ่เป็น T+3 (T=วันที่ทำธุรกรรม,ราคาราคาอ้างอิงของหน่วยลงทุน) เช่น T + 3 หมายถึง ถ้าสั่งขายจะได้ราคาของ 3 วันทำการที่ถัดไป ดังนั้นเก็งกำไรไม่ได้ เพราะขายไม่ทันราคาปัจจุบัน
- กระจายความเสี่ยงยิ่งดี เพราะงั้นซื้อหลายๆ กองดีกว่า – ผิด เพราะกองทุนรวมแต่ละกองมีการกระจายความเสี่ยงอยู่แล้ว ถ้าซื้อกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนคล้ายกัน จะทำให้เกิดการลงทุนซ้ำซ้อน ไม่ได้ช่วยเรื่องกระจายความเสี่ยง
- กองทุน Active ดีกว่า กองทุน Passive – ไม่เสมอไป กองทุน Active มีค่าธรรมเนียมค่อนข้างสูง และมีความผันผวนมากกว่า (กำไรมาก แต่ก็เสี่ยงขาดทุนมาก) ดังนั้นจะเหมาะกับผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูง
- กองทุนปันผลดีสุด – ผิด หากไม่ต้องการกระแสเงินสดนักลงทุนควรเลือกกองทุนที่ไม่จ่ายเงินปันผล เนื่องจากจะช่วยประหยัดภาษีหัก ณ ที่จ่ายตอนจ่ายเงินปันผลได้ ยกเว้น กรณีที่นักลงทุนสามารถขอคืนภาษีได้ทั้งหมด
นอกจากนี้เราสามารถขอคำปรึกษากับ บลจ. ที่ปรึกษากองทุน หรือตัวแทนขายต่างๆ ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตหวังว่าทุกคนจะมีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้นเมื่อพบกันในบทความหน้า
บทความที่เกี่ยวข้อง