บรรทุกอย่างไรไม่ผิดกฎหมาย ปลอดภัย ไม่เดือดร้อนคนอื่น

0
778
kinyupen

จากการเผยแพร่ภาพอุบัติเหตุ ในเพจ JS100 Radio ซึ่งได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความ อุบัติเหตุ สร้างความเสียหายกับรถร่วมถนน 2 คัน บริเวณถนนพระราม3 โดยรถปิคอัพบรรทุกเหล็ก เบรกกะทันหันทำให้เหล็กพุ่งทะลุกระจกหลังรถเก๋ง 2 คันที่อยู่ด้านหน้า โดยรถกระบะได้บรรทุกเหล็กไว้บนหลังคา และใช้เชือกมัดเอาไว้ ด้วยน้ำหนักที่มีมากจึงทำให้สายรัดดังกล่าวไม่สามารถรัดเหล็กไว้ได้จนเกิดอุบัติเหตุดังกล่าว แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์นี้

 

 

อย่างไรก็ตามอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นอุทาหรณ์สำหรับผู้ที่จะต้องขนส่งสิ่งของที่อาจจะเป็นอันตรายต่อรถยนต์คันอื่น จึงต้องมีความระมัดระวัง และต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย

โดยในการขนส่งสิ่งของดังกล่าวมีข้อกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.จราจรทางบกแล้ว โดยมีรายละเอียดสำหรับรถกระบะ หรือรถปิคอัพที่ต้องการขนสิ่งของบนถนน ดังนี้

 

ขนาดของสิ่งของที่จะขนย้าย

  • ความกว้าง ได้ไม่เกินส่วนกว้างของรถ
  • ความยาวด้านหน้ายื่นไม่เกินหน้าหม้อรถ และด้านหลังยื่นพ้นตัวรถไม่เกิน 2 . 50 เมตร
  • ความสูงโดยส่วนใหญ่แล้ว รถกระบะ หรือ รถบรรทุก จะมีความสูงจากพื้นได้ไม่เกิน 3.00 เมตร แต่ถ้ารถมีความกว้างกว่า 2.30 เมตร สามารถบรรทุกสูงจากพื้นทางได้ไม่เกิน 3.80 เมตร
  • หากขนย้ายสิ่งของ หรือ สัตว์เลี้ยง ควรป้องกันไม่ให้สิ่งของที่บรรทุกตกหล่น หรือ รั่วไหล เนื่องจากอาจสร้างความเดือดร้อนหรือเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้

 

ในกรณีที่เป็นรถกระบะเปิดท้ายขนของทำตามที่กำหนดไว้ถูกต้อง บางพื้นที่อาจอยู่ที่ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่…ทางที่ดีควรไม่บรรทุกแบบเปิดท้ายกระบะ

 

รถกระบะที่มีการดัดแปลงต่อเติมตะแกรงเหล็ก หรือ ต่อเติมส่วนอื่นของรถ อย่างเช่น ติดตะแกรงเหล็กเสริมรั้ว ติดตั้งโครงเหล็กตะแกรงที่หลังคา เป็นต้น ถือว่ามีความผิดในการดัดแปลงรถ เพียงแต่ต้องดูถึงความแข็งแรง ปลอดภัย และแจ้งแก้ไข ณ สำนักงานขนส่งที่รถจดทะเบียนไว้ หากไม่มีการแจ้ง ถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 12 ประกอบการมาตรา 60 มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

 

 

ในกรณีที่ต้องบรรทุกสิ่งของยื่น เกินกว่าความยาวของตัวรถ ผู้ขับขี่ควรปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522ดังนี้

• มาตรา 15 รถที่บรรทุกยื่นเกินตัวรถ ขณะอยู่บนถนนในเวลากลางวันให้ติดธงแดง (ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 30 ซม. ยาว 45 ซม.) และถ้าในเวลากลางคืนผู้ขับขี่ต้องจุดไฟสัญญาณแสงสีแดง ไว้ที่ปลายสุดของสิ่งที่บรรทุกโดยให้มองเห็นได้ในระยะไม่ต่ำกว่า 150 เมตร

• หากต้องการขนย้ายสิ่งของในเวลากลางคืน หรือ เวลาที่ไม่สามารถมองเห็นได้ในระยะ 150 เมตร ควรติดไฟสัญญาณสีแดงที่มองเห็นชัดเจนระยะ 150 เมตร

ดังนั้นหากมีความจำเป็นที่จะต้องขนย้ายสิ่งของผ่านบนถนนที่มีรถยนต์คันอื่นๆ ร่วมใช้ถนนอยู่ด้วย ต้องปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ จนเกิดความสูญเสีย ขณะที่ผู้ขนส่งเองก็จะได้ไม่ต้องกระทำผิดกฎหมายอีกด้วย

 

ขอบคุณภาพจาก JS100 Radio

kinyupen