กระแสรักษ์โลกยังคงมาแรง ไม่เพียงแค่ขวดน้ำ แก้วน้ำ หรือถุงผ้าที่ต้องพกติดตัวไว้ การจัดการขยะก็เป็นสิ่งสำคัญ การทิ้งขยะไม่ใช่แค่การทำให้ขยะหายไป แต่จะทำอย่างไรให้ถูกวิธีหรือทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดก่อนที่จะทิ้งไปอย่างไร้ค่าและลดปัญหาอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมาอย่างไม่รู้จบ เริ่มต้นง่ายๆ จากพวกเศษขยะ เศษอาหารในครัวเรือน
ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา รัฐเวอร์มอนต์เริ่มใช้กฎหมายห้ามทิ้งเศษอาหารลงถังขยะเป็นรัฐแรกของสหรัฐอเมริกา แต่กลับส่งเสริมให้แต่ละครัวเรือนทำปุ๋ยอินทรีย์แทน โดยมี 3 ทางเลือกคือ
- หมักเป็นปุ๋ยเองที่บ้าน
- ทิ้งที่จุดรับเศษอาหาร ที่มีกว่าพันแห่งทั่วเมือง
- จ้างรถมาเก็บ
ซึ่งสองทางเลือกหลังมีค่าใช้จ่าย คนส่วนใหญ่จึงหันมาใช้วิธีการกำจัดขยะเศษอาหารด้วยการนำมาหมักเป็นปุ๋ย ซึ่งทางผู้ว่าการรัฐฯ ได้ให้การสนับสนุนจัดทำคู่มือการหมักปุ๋ยจากเศษอาหารวิธีต่างๆ ออกมาแจกจ่ายให้กับประชาชน นับเป็นมาตรการขั้นเด็ดขาดที่น่าสนใจเลยทีเดียว สอดคล้องกับเทรนด์ปลูกผักสวนครัวที่กำลังฮิตในบ้านเรา จะได้มีไอเดียทำปุ๋ยไว้ใช้เอง
การกำจัดเศษอาหารในครัวเรือนถ้าจะให้ซื้อเครื่องกำจัดเศษอาหารอัตโนมัติมาใช้ก็ไม่คุ้ม ราคาก็แพงหลายหมื่นบาท จึงเป็นที่มาของกลุ่มคนที่ทำถังหมักขยะเอง สำหรับประเทศไทยก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่ริเริ่มกำจัดเศษอาหารด้วยวิธีนี้แล้วเช่นกัน โดยมีการแชร์ไอเดียทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหารกันหลายวิธี
แม้วิธีจะแตกต่างกันไปตามประเภทของภาชนะที่ใช้หมัก แต่จุดร่วมที่เหมือนกันคือจะประกอบด้วย เศษอาหาร และปุ๋ยที่ช่วยในการดูดซับน้ำ กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอเสนอหนึ่งไอเดียเพื่อทำปุ๋ยหมักคุณภาพดีจากเศษอาหาร โดยใช้ถังพลาสติกธรรมดา ไม่ต้องเจาะรู ไม่เหม็น หมดปัญหาเรื่องขยะเน่าเสีย
เตรียมวัตถุดิบ / อุปกรณ์
- เศษอาหาร เช่น เศษผัก ผลไม้ ข้าวเหลือ เปลือกไข่ กระดูกไก่ แม้แต่กระดาษทิชชูก็ใส่ไปได้ แยกน้ำออกและหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ก่อน
- วัสดุในการดูดซับน้ำ เช่น ปุ๋ยคอก กากกาแฟ ใบไม้แห้ง
- น้ำหมัก EM
- ถักหมักหรือกะละมังที่มีฝาปิด
วิธีหมัก
- ใส่เศษอาหารที่ทานเหลือ กลบด้วยปุ๋ยคอกและใบไม้แห้ง เพื่อลดความชื้นไม่ให้เกิดการเน่าเหม็น
- รดน้ำ EM ช่วยปรับสภาพดิน น้ำ อากาศให้ดีขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพในการหมัก ผสมให้เข้ากัน
- ปิดฝาไว้ กันพวกหนูและแมลงเข้าไป แต่อาจเจอสัตว์ในดินแทนที่จะมาช่วยย่อยสลายปุ๋ยให้เรา
- พลิกเศษอาหารเหมือนการพรวนดินที่อยู่ในถัง 3 วัน/ครั้ง ใช้เวลาราวๆ 1 เดือน
ทั้งนี้ปุ๋ยหมักที่สมบูรณ์ต้องแห้ง ไม่มีเศษอาหารหลงเหลือ ยกเว้นพวกกระดูกซึ่งใช้เวลาย่อยนานมาก แต่ก็นำไปใส่ต้นไม้ได้ เดี๋ยวก็ค่อยๆ ย่อยสลายไปเอง แต่ถ้าดินมีกลิ่นแสดงว่ากระบวนการย่อยยังไม่จบ ดินอาจไม่แห้งหรือใส่ปุ๋ยคอกน้อยเกินไป เพราะถ้าความชื้นสูงจะทำให้ย่อยสลายได้ช้า
สำหรับใครที่ไม่สะดวกเปิดฝากกล่องคอยพลิกเศษขยะหรือพบปัญหาความชื้นแฉะที่ก้นถัง การใช้ถังหมักเศษอาหารโดยเฉพาะก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือก “ปั้นปุ๋ย” ถังหมักเศษอาหาร จากเพจ ผักDone ช่วยให้การเปลี่ยนขยะให้เป็นปุ๋ยเป็นเรื่องง่ายขึ้น เพราะเป็นอุปกรณ์ที่ทำจากเครื่องปั้นดินเผา ช่วยระบายความชื้นได้ดี มีขั้นสำหรับแยกใส่วัตถุดิบตามลำดับ ทำให้ข้ามขั้นตอนการพลิกเศษอาหารไป แค่รอครบกำหนดก็ได้ปุ๋ยที่แซะออกจากชั้นล่างสุดมาใช้ได้แล้ว
การแยกขยะเศษอาหารไม่ได้มีประโยชน์แค่เพื่อทำเป็นปุ๋ยเท่านั้น แต่ยังทำให้เราจัดการกับขยะได้ง่ายขึ้น ลดขยะครัวเรือน ที่อาจเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค รวมถึงไม่ก่ออันตรายต่อคนเก็บขยะ ทั้งยังได้ปุ๋ยที่มีคุณภาพดียิ่งกว่าปุ๋ยที่มีขายกันเสียอีก คนปลูกผักก็ไม่ต้องไปเสียเงินซื้อปุ๋ย คนทานก็ได้ทานผักปลอดสารพิษ แถมได้มีกิจกรรมที่ได้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัว ได้ประโยชน์ตั้งหลายต่อว่าไหม?