รู้จัก “สาบเสือ ดองดึง หนอนตายหยาก” สมุนไพรชื่อแปลก

0
1181
kinyupen

กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมปลดล็อกบัญชีพืชสมุนไพรจากการเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ให้เป็นชนิดที่ 1 เพื่อให้เกษตรกร และชุมชนสามารถนำพืชสมุนไพร 13 ชนิด ได้แก่ สะเดา ชา/กากเมล็ดชา ข่า ขิง ขมิ้นชัน ตะไคร้หอม สาบเสือ ดาวเรือง พริก ขึ้นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และหนอนตายหยาก มาสกัดเป็นสารสกัดธรรมชาติเพื่อใช้ป้องกันกำจัดแมลง วัชพืช และโรคพืช รวมถึงศัตรูพืชได้ด้วยตนเอง โดยขณะนี้กรมวิชาการกำลังจัดทำข้อมูลเพื่อเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

 

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้พืชทั้ง 13 ชนิด ถูกจัดให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ซึ่งมีการควบคุมที่เข้มงวดกว่า โดยผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ครอบครองที่จะมีไว้ใช้ จะต้องทำการขึ้นทะเบียน และแจ้งการดำเนินงานกับกรมวิชาการเกษตร

แต่วัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ไม่ต้องขึ้นทะเบียน เพียงแต่มาแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสารหรือพืชนั้น เท่านั้น ดังนั้นการปลดล็อกพืชสมุนไพร 13 ชนิด จะทำให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากพืชดังกล่าวได้

ตัวอย่างของสรรพคุณของพืชทั้ง 13 ชนิด อาทิ

 

ตะไคร้หอม

ตำรายาไทย ใช้ เหง้า เป็นยาบีบมดลูก ทำให้แท้งบุตรได้ คนมีครรภ์ห้ามรับประทาน ขับประจำเดือน ขับปัสสาวะ ขับระดูขาว ขับลมในลำไส้ แก้แน่น แก้แผลในปาก แก้ตานซางในลิ้นและปาก บำรุงไฟธาตุ แก้ไข้ แก้อาเจียน แก้ริดสีดวงตา แก้ธาตุ แก้เลือดลมไม่ปกติ เหง้า ใบ และกาบ นำมากลั่นได้น้ำมันหอมระเหย ใช้เป็นเครื่องหอม เช่น สบู่ หรือพ่นทาผิวหนังกันยุง แมลง ทั้งต้น มีรสปร่า ร้อนขม แก้ริดสีดวงในปาก ขับโลหิต ทำให้มดลูกบีบตัว ทำให้แท้ง ขับลมในลำไส้ แก้แน่นท้อง

 

ภาพจาก : สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดลำพูน

 

สาบเสือ

ดอกสาบเสือมีสรรพคุณช่วยชูกำลัง แก้อาการอ่อนเพลีย (ดอก) ช่วยบำรุงหัวใจ (ดอก) ช่วยแก้ตาฟาง ตาแฉะ (ใบ) ช่วยแก้กระหายน้ำ (ดอก) ดอกช่วยแก้ไข้ (ดอก) รากสาบเสือใช้ผสมกับรากมะนาวและรากย่านาง นำมาต้มเป็นน้ำดื่มช่วยรักษาไข้ป่าได้ (ราก) ดอกใช้เป็นยาแก้ร้อนใน (ดอก) ใช้เป็นยาแก้ปวดท้อง อาการท้องขึ้น ท้องเฟ้อ (ต้น) รากสาบเสือนำมาใช้ต้มเป็นน้ำดื่มช่วยแก้โรคกระเพาะได้ (ราก) ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร (ใบ) ใบนำมาใช้ต้มอาบช่วยแก้ตัวบวมได้ (ใบ) ช่วยแก้บวม (ต้น) ช่วยดูดหนอง (ต้น) สารสกัดจากกิ่งและใบมีสารที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus และ Bacillus subtilis ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดหนอง (ใบ) ช่วยแก้พิษน้ำเหลือง (ใบ) ช่วยถอนพิษแก้อักเสบ (ใบ) ใบใช้ในการห้ามเลือด

 

ภาพจาก : Trisorn_Triboon

 

(ใบ) ใช้สมานแผล ช่วยป้องกันการเกิดรอยแผลเป็น (ใบ) ช่วยรักษาแผลเปื่อย (ใบ) ทั้งต้นของสาบเสือ ใช้เป็นยาแก้บาดทะยัก (ทั้งต้น) ใบสาบเสือ มีสารที่ช่วยยับยั้งการงอกและชะลอการเจริญเติบโตของพืชอื่น ๆ (ใบ) ช่วยแก้ผมหงอก ทำให้ผมดกดำ ด้วยการใช้ใบสาบเสือนำมาตำแล้วใช้หมักผมเป็นประจำ ไม่นานจะทำทำให้เส้นผมดูดกดำขึ้น (ใบ) ใบสาบเสือมีฤทธิ์ในการกำจัดปลวก ไล่แมลง ฆ่าแมลงได้ (ใบ) ทั้งต้นและใบสามารถนำมาใช้ในการบำบัดน้ำเน่าเสียได้ ด้วยการเอาทั้งต้นและใบใส่ลงไปแช่ในบ่อน้ำเน่า เมื่อผ่านไป 2-3 สัปดาห์น้ำจะค่อย ๆ ใสขึ้นเอง (ต้น, ใบ)

ต้นสาบเสือมีกลิ่นแรง การใช้ในปริมาณมากนอกจากจะนำไปใช้ทำเป็นยาฆ่าแมลงแล้ว การใช้ในปริมาณเพียงเล็กน้อยก็สามารถนำมาใช้เป็นน้ำหอมได้ดีอีกด้วย (ทั้งต้น) นอกจากนี้เรายังใช้ต้นสาบเสือเป็นตัวชี้วัดอุณหภูมิความแห้งแล้งของอากาศ ถ้าหากอากาศไม่แล้ง ต้นสาบเสือก็จะไม่ออกดอกนั่นเอง

 

ดองดึง

เป็นพืชชนิดหนึ่งจำพวกหัว ต้นมีลักษณะเป็นเถาปลายตั้ง ใบเดี่ยวรูปหอก ส่วนปลายแหลมยาวบิดม้วนช่วยยึดเกาะ ลักษณะของดอกเป็นดอกเดี่ยว กลีบเรียวยาว ขอบของดอกบิดเป็นคลื่นปลายกลีบมีสีแดง ที่โคนหากบานใหม่ ๆ จะมีสีเหลือง แต่เมื่อแก่จะมีสีส้ม ผลเป็นรูปกระสวยเมื่อแก่จะแตกออก เมล็ดมีสีส้ม หัวกลมเรียวมีหงอนเหมือนขวาน มักขึ้นตามป่าดงดิบเขาชื้น หรือที่รกร้างว่างเปล่าที่มีความชุ่มชื้นสูง ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดหรือแยกเหง้า

 

ส่วนหัวมีสารสำคัญหลายชนิด ได้แก่ colchicine, superbine, gloriosine และแอลคาลอยด์อื่น ๆ สาร colchicine มีสรรพคุณในการรักษาโรคปวดข้อได้ดี แต่เป็นมีพิษต่อเซลล์โดยไปยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ ซึ่งทำให้สามารถนำไปรักษาโรคมะเร็งได้ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครโมโซม ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการผสมพันธุ์ให้แก่พืช เพื่อให้ได้พันธุ์ใหม่

 

ภาพจาก : Sudarat Homhual

 

หนอนตายหยาก

เป็นพืชที่จัดอยู่ในวงศ์หนอนตายหยาก (STEMONACEAE) เป็นพืชที่พบได้ตามป่าทั่วไปในประเทศจีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย และไทยจัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก กึ่งเถาเลื้อยพัน มักเลื้อยพันกับต้นไม้อื่น ยาวได้ถึง 10 เมตร และมีความสูงได้ประมาณ 40-60 เซนติเมตร เถามีลักษณะกลม สีเขียว กิ่งที่กำลังจะออกดอกมักจะเลื้อยพัน มีรากเป็นเหง้าหรือหัวอยู่ใต้ดินลักษณะคล้ายกระชาย เป็นรูปกระสวย ออกเป็นกระจุก เนื้ออ่อนนิ่มมีสีเหลืองขาว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการใช้เหง้าปักชำ

 

 

เหง้าหรือรากมีรสขมชุ่ม เป็นยาร้อนเล็กน้อย มีพิษเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อปอดและม้าม ใช้เป็นยาแก้ไอเย็น ไอเรื้อรัง หลอดลมอักเสบ อาการไออันเนื่องมาจากเป็นวัณโรค ตำรับยาแก้อาการไอเนื่องมาจากวัณโรค ให้ใช้รากหรือเหง้าหนอนตายหยาก, เปลือกหอยแครงสะตุ, เกล็ดนิ่ม, จี๊ฮวง อย่างละเท่ากัน แล้วนำมาบดให้เป็นผง ใช้ชงกับน้ำรับประทานครั้งละ 5 กรัม วันละ 2-3 ครั้ง ช่วยขับเสมหะ รักษาวัณโรค

บางข้อมูลระบุว่าเป็นยาแก้ภูมิแพ้ ชาวเขาเผ่าม้งและเย้าจะใช้รากหรือทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มและอาบแก้โรคโปลิโอ ใช้เป็นยาแก้ปวดฟัน ในประเทศอินโดจีนจะใช้รากเป็นยารักษาโรคเจ็บหน้าอก

 

ในประเทศจีนจะใช้สมุนไพรชนิดนี้เป็นยาขับผายลม ใช้เป็นยาแก้บิดอะมีบา รากมีสรรพคุณเป็นยาฆ่าเชื้อพยาธิภายในลำไส้ พยาธิตัวกลม พยาธิตัวแบน พยาธิเส้นด้าย พยาธิใบไม้ในตับ พยาธิปากขอ พยาธิตัวจี๊ด ด้วยการใช้รากแห้ง 2 ราก ตำรายาสมุนไพรพื้นบ้านของจังหวัดอุบลราชธานี จะใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาถ่ายพยาธิตัวจี๊ด ชาวเขาเผ่าม้งและเย้าจะใช้รากหรือทั้งต้นหนอนตายหยากต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ ขับนิ่ว แก้ปัสสาวะ รักษาริดสีดวงทวารหนัก รากใช้ปรุงเป็นยารักษามะเร็งตับ ใช้ปรุงเป็นยารับประทานแก้น้ำเหลืองเสีย ใช้ปรุงเป็นยาแก้โรคผิวหนัง พอกทาฆ่าหิด เหา แมลง หนอน หรือศัตรูพืช

 

รากหนอนตายหยากใหญ่ มีรสเย็น เป็นยาแก้อาการวัยทองทั้งชายและหญิง เป็นส่วนผสมของตำรับยาไทยอีกหลายรายการ เช่น ยาตัดรากอุปะทม (แก้อุปะทมโรคสำหรับบุรุษ) , ยาแก้นิ่วเนื้อด้วยอุปทุม, ยาต้มสมานลำไส้, ยาแก้ลมกำเริบ, ยาแก้ดีลมแลกำเดา, ยาแก้ดีกำเดาแผลงฤทธิ์ร้าย เป็นต้น

 

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอื่น ๆ ที่ระบุสรรพคุณนอกเหนือจากที่กล่าวมาไว้อีกหลายอย่าง เช่น ช่วยลดระดับน้ำตาลสำหรับคนเป็นโรคเบาหวาน ช่วยแก้อาการปวดเมื่อย แก้มะเร็งในกระดูก แก้มะเร็งในมดลูก แก้โรคผิวหนังเป็นตุ่มหนอง

kinyupen