หากเปิดบันทึกเรื่องราวของวัดปราสาท นนทบุรีส่วนใหญ่จะพบแต่เรื่องอาถรรพ์ลี้ลับ วันนี้ กิน-อยู่-เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตจึงนำแง่มุมเชิงประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมเพื่ออย่างน้อยเวลาเดินทางไปจะมีข้อมูลหรือเกร็ดเรื่องเล่าอีกด้านหนึ่ง
วัดปราสาท สันนิษฐานกันว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย โดยพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งขณะนั้นยังดำรงตำแหน่งเจ้าพระยากลาโหม หรือ เรียกกันว่าองค์ไล (เป็นพระราชบิดาของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) ในสมัยพระเจ้าทรงธรรม การสร้างวัดปราสาทที่ผิดธรรมเนียมของวัดสมัยนั้นซึ่งมักจะอยู่ริมน้ำ ทำให้สันนิษฐานว่าสร้างเพื่อเป็นค่ายฝึกทหารและเป็นฐานทัพลับ เพราะจุดที่ตั้งอยู่ระหว่างคุ้มน้ำซ้ายขวาทำให้สามารถสกัดข้าศึกได้ทั้งเหนือและใต้
ต่อมาเจ้าพระยากลาโหมได้ทำการชิงราชบัลลังค์จากพระเชษฐาธิราช และสมเด็จพระอาทิตยวงศ์ สองโอรสของพระเจ้าทรงธรรม และปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อปี พ.ศ.2172 ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๕ ต้นราชวงศ์ปราสาททอง
กำเนิดของพระเจ้าปราสาททองไม่มีความแน่ชัดว่าเป็นราชนิกูลสายใด เพราะจากพงศาวดารกระซิบบ้างกล่าวว่าเป็นโอรสลับของสมเด็จพระเอกาทศรถ พระอนุชาของสมเด็จพระนเรศวรฯ บ้างก็ว่าเป็นลูกพี่ลูกน้องกับพระเจ้าทรงธรรม โดยในโบสถ์ที่วัดปราสาท หากสังเกตกล่องรับบริจาคก็มีระบุว่าท่านเป็นหลานสมเด็จพระนเรศวรฯ
แต่อย่างไรก็ตามในช่วงสมัยของพระองค์ตลอด 26 ปีที่ครองราชย์ พระเจ้าปราสาททองได้สร้างและบูรณะปฏิสังขรณ์ด้านศาสนสถานหลายแห่ง คือ สร้างวัดไชยวัฒนาราม วัดชุมพลนิกายารามราชวรวิหาร สร้างพระปรางค์วัดมหาธาตุ และโปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์พระอารามกว่าร้อยแห่ง เช่น วัดหน้าพระเมรุฯ
จุดเด่นน่าสนใจในอุโบสถวัดปราสาท (ชมได้ในคลิป) มีดังนี้
- ขอบเส้นขาวรอบอุโบสถ เป็นเส้นเดิมของเขตวัดก่อนขยายพื้นที่ออกไปในปัจจุบัน
- อุโบสถเก่าแก่ของวัดปราสาท นั้นเป็นอุโบสถมหาอุตม์ ปิดช่องทึบไม่มีหน้าต่าง มีทางเข้าทางเดียว แต่มีช่องลมด้านหลัง ฐานของอุโบสถแอ่นแบบตกท้องช้าง เจาะรูระบายอากาศที่ฐาน เพราะจะทำให้ระบายความร้อนในหน้าร้อน โดยอุโบสถมหาอุตม์จะถือว่าเป็นแหล่งรวมพลังเหมาะแก่การใช้ประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะปลุกเสกเครื่องรางของขลัง หรือ ปลงอาบัติ เพราะด้วยที่ไม่มีช่องลม สามารถคุมแสงและเก็บเสียงจึงส่งผลให้พระ หรือ ผู้ทำพิธีมีสมาธิและมีความสงบ
- ซุ้มประตูทรงปราสาทประดับลวดลายปูนปั้น
- หน้าบรรณของอุโบสถเป็นไม้สักนารายณ์ทรงครุฑ เครื่องบนเป็นไม้สักลวดลายแบบมอญ เพราะเป็นพื้นถิ่นชาวมอญอยู่อาศัย
- พระประธานและพระสาวกในอุโบสถเป็นศิลปะแบบอู่ทอง ที่มีจำนวน 25 องค์ (หากนับไม่ครบแนะให้เดินไปด้านหลังโบสถ์และมองลองช่องด้านหลังจะเห็นพระพุทธรูปเพิ่มอีก)
- ภาพฝาผนังเรื่องทศชาติชาดกเป็นภาพสีฝุ่นอันเป็นวิธีที่ช่างไทยสมัยก่อนนิยมใช้ โดยจะใช้ผงลักษณะคล้ายแป้ง ซึ่งเวลาระบายจะผสมกาว หรือ ไข่ขาวที่มีคุณสมบัติทึบแสง
- ต้นตะเคียน 300 ปี โดยจะมี 2 จุด ถ้าเป็นต้นดั้งเดิมของวัดจะเป็นตะเคียนยืนต้นตาย และต้นที่ขุดได้ในชุมชนละแวกวัด
- หอพระไตรปิฎก ที่ปัจจุบันมีทีมจิตอาสาบูรณะ โดยควรเข้าไปกราบพระประธานที่เป็นองค์ดั้งเดิมคู่มากับวัด และชมบันไดธรรมาสน์ สมัยกรุงศรีอยุธยา
- กุฏิสงฆ์แบบโบราณที่เป็นอาคาร 2 ชั้น