“บอมเบย์เบอร์มา” อดีตผู้ทรงอิทธิพลรัฐบาลอังกฤษยุคอาณานิคม

0
1378
kinyupen

ใครคือ “บอมเบย์เบอร์มา” เจ้าของอาคารอนุสรณ์ค้าไม้เก่าแก่อายุ 127 ปีของเมืองแพร่ ที่ถูกรื้อแบบไม่เหลือซาก จนกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในขณะนี้ วันนี้ กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต อาสาค้นหามาฝากกัน

 

ทรงอิทธิพลยุคอาณานิคมอังกฤษ

บริษัท บอมเบย์ เบอร์มา เทรดดิ้ง จำกัด เป็นบริษัทสัญชาติอังกฤษที่เคยเข้ามาทำธุรกิจป่าไม้ในไทย ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2406 โดยหกพี่น้องชาวสก็อตตระกูลวัลเลซ ซึ่งเดิมทีพี่น้องกลุ่มนี้เริ่มเข้ามาทำธุรกิจปลูกชาและป่าไม้ ภายใต้ชื่อบริษัท “Wallace Bros & Co” ที่เมืองบอมเบย์ (ปัจจุบัน คือ มุมไบ) ก่อนขยายธุรกิจมายังเมืองย่างกุ้งของพม่าเพื่อผลิตไม้สักส่งออกไปยังจีน อินเดีย และก่อตั้ง “บอมเบย์เบอร์มา” ขึ้นมา ทั้งยังมีธุรกิจอื่นร่วมด้วย เช่น การปลูกฝ้าย สำรวจน้ำมันและการขนส่ง เป็นต้น

“บอมเบย์เบอร์มา” ถือเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีอิทธิพลต่อรัฐบาลอังกฤษในยุคอาณานิคมเป็นอย่างมาก การทำป่าไม้ในพม่าและหัวเมืองเหนือของไทย (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน) หรือ สยามสมัยนั้นเกือบทั้งหมด ล้วนอยู่ในความควบคุมของ 2 บริษัทป่าไม้ของอังกฤษ คือ บอมเบย์ เบอร์มา และ บริติช บอร์เนียว

 

บอมเบย์เบอร์มากับป่าไม้เมืองสยาม

เหตุผลของ “บอมเบย์เบอร์มา” ในการเข้ามาทำกิจการป่าไม้ที่เมืองไทย เนื่องจากสมัยนั้นป่าไม้ยังอุดมสมบูรณ์และค่าสัมปทานถูกกว่าในพม่า โดยเข้ามาทำไม้ในเมืองแพร่ ตั้งแต่ พ.ศ. 2432 ได้รับสัมปทานบริเวณป่าแม่น้ำยมตะวันตก และได้สร้างอาคารสำนักงานที่ถูกรื้อไปนี้ จนถึงปัจจุบันมีอายุราว 127 ปี ตั้งอยู่ที่บริเวณท่าน้ำบ้านเชตวัน อ.เมือง จ.แพร่

 

 

ข้อมูลเว็บไซต์เชียงใหม่นิวส์ ระบุว่า การเข้ามาของบอมเบย์เบอร์มา ได้สร้างปางไม้ นำช้างและอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ มาอยู่ในบริเวณพื้นที่บ้านเกาะทุ่งม่าน ต.ป่าพลู อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน โดยใช้วิธีตัดไม้จากป่าต่างๆ แล้วใช้ช้างลากไม้ซุงลงแม่นํ้าลี้ เพื่อนำมากองไว้ที่ปางไม้ ซึ่งว่ากันว่าไม้ซุงที่ตัดนั้นมีจำนวนหลายหมื่นต้น แต่ละต้นมาหน้าตัดกว้างไม่ตํ่ากว่า 1 เมตร

หลังนำไม้ซุงมากองพักไว้ที่ปางไม้แล้ว ยังได้สร้างทางรถไฟเพื่อลำเลียงไม้ซุงจากปางไม้บ้านเกาะทุ่งม่าน ไปยังบ้านหนองปลาสะวาย (ปัจจุบันกลายเป็นส่วนหนึ่งของถนนสายลำพูน – ลี้) ขนถ่ายไม้ลงในแม่นํ้าปิงไหลล่องไปลงแม่นํ้าเจ้าพระยาถึงกรุงเทพมหานครก่อนจะนำขึ้นเรือกลับสู่ประเทศอังกฤษ

 

 

การทำไม้ช่วยสร้างรายได้เล็กๆ ให้กับชุมชนรอบบริเวณ โดยชาวบ้านจะทำบุหรี่ หมากพลู หรือ ข้าวปลาอาหารไปขายให้คนงาน ซึ่งมีหลายชาติพันธุ์ปะปนกัน ทั้งเงี้ยว ไทใหญ่ ม่าน (พม่า) กะเหรี่ยง ขมุ นอกจากนี้ชาวบ้านผู้ชายบางคนไปรับจ้างตัดไม้แบบ (ไม้หมอน) ทำรางรถไฟด้วย

ผู้เฒ่าผู้แก่ในพื้นที่ เล่าย้อนระลึกถึงเหตุการณ์ในสมัยนั้นว่านายห้างซึ่งเป็นฝรั่งคุมงานจะนำเงินแถบบรรจุกระสอบใส่บนหลังช้าง 2 ตัวมาจ่ายให้กับคนงาน แต่ภายหลังเมื่อสัมปทานไม้หมดไป คนงานเหล่านั้นก็พากับเดินทางกลับภูมิลำเนาของตัวเอง แต่ก็มีบางส่วนที่ไม่ได้กลับและมีครอบครัวอยู่ในไทย

 

ย้อนอดีตอาคารป่าไม้ 127 ปี เมืองแพร่

อาคารสำนักงานที่ถูกรื้อถอนตามข่าว ตั้งอยู่บริเวณท่าน้ำบ้านเชตวัน สันนิษฐานว่า เริ่มจากบริเวณท่าน้ำ บ้านเชตวันในอดีตเป็นที่พักไม้ที่ล่องมาทางเหนือแม่น้ำ ก่อนล่องตามแม่น้ำยมจนถึงกรุงเทพนำไปแปรรูปต่อ ณ โรงงานในพระนครก่อนขึ้นเรือส่งออกยังประเทศต่างๆ โดยขณะนั้นไม้สักถือเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 2 ของประเทศไทย รองจากข้าว

 

บอมเบย์เบอร์มา เข้ามารับสัมปทานป่าไม้ในประเทศไทยเป็นระยะเวลากว่า 50 ปี ทำให้เกิดการถ่ายทอดวิธีการทำไม้ให้กับชาวไทยภาคเหนือส่งต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน กระทั่งในปี พ.ศ.2518 รัฐบาลไทยยกเลิกสัมปทานป่าไม้ บริษัทนี้จึงเลิกกิจการในประเทศไทย ขณะที่ อาคารต่างๆ ได้ตกเป็นสมบัติของรัฐบาลไทย ส่วน บริษัท บอมเบย์ เบอร์มา เทรดดิ้ง จำกัด ถูกเปลี่ยนมือเป็นของนักธุรกิจอื่นตามวิถีทางธุรกิจซึ่งยังคงดำเนินธุรกิจมาจนถึงปัจจุบัน

 

ภาพสำนักงานในพื้นที่สาธร กรุงเทพฯ ในอดีต

 

ที่มา https://bbtcl.com/company-profile/

kinyupen