WHO จับมือ UNICEF ชี้แจงเชื้อโควิด-19 ไม่ติดผ่านน้ำนมแม่

0
591
kinyupen

องค์การอนามัยโลก,องค์การยูนิเซฟ และ องค์กรด้านอาหารทารกนานาชาติ (International Baby Food Action (IBFAN)) ได้ออกมากล่าวเตือนให้สตรีที่กำลังให้นมกับทารก อย่าเชื่อข้อมูลเท็จจากกลุ่มธุรกิจที่ต้องการขายอาหารทดแทนนมแม่ที่ออกมาระบุว่า การให้นมของแม่ที่ป่วยเป็นโรคโควิด 19 จะส่งผลต่อสุขภาพของทารก ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด โดยองค์กรทั้งสามยืนยันว่านมแม่ยังคงมีประโยชน์อย่างมากต่อทารก เพราะจะช่วยเพิ่มแอนติบอดีที่ช่วยให้ทารกมีสุขภาพที่ดีและปกป้องอาการเจ็บป่วยในวัยเด็กด้วย

 

ทั้งนี้ WHO และ UNICEF ระบุว่า ยังคงที่จะสนับสนุนให้สตรีให้นมลูกต่อไปแม้ว่าแม่จะได้รับการยืนยันหรือสงสัยว่าเป็น โควิด 19 ก็ตาม ในขณะที่นักวิจัยยังคงทำการทดสอบนมแม่จากผู้ที่ได้รับการยืนยันหรือสงสัยว่าติดเชื้อ ทั้งนี้หลักฐานในปัจจุบันบ่งชี้ว่าเชื้อโควิด 19 ไม่น่าจะถูกถ่ายทอดผ่านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และยืนยันว่าประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นมีมากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้

 

ดร.ฟรานซิสโก้ บลังก้า ผู้อำนวยการแผนกโภชนาการและความปลอดภัยของอาหาร ขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า การตลาดเชิงรุกของกลุ่มอาหารเสริมที่ทดแทนนมแม่ของบริษัทผู้ผลิต เป็นอุปสรรคสำคัญต่อสุขภาพของเด็ก ๆ ทั่วโลกในการที่จะได้รับสารอาหารจากนมแม่ ซึ่งหน่วยงานด้านสุขภาพของแต่ละประเทศจะต้องให้ความเชื่อมั่นกับกลุ่มแม่ ๆ ว่า การเลี้ยงดูทารกด้วยนมแม่ยังคงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทารก เพื่อไม่ให้การตลาดเชิงรุกของอุตสาหกรรมอาหารทดแทนนมแม่เข้ามาอิทธิพลจนทำให้แม่ ๆ ยกเลิกการให้นมแม่กับทารกแรกเกิด

 

 

องค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟแนะนำว่าเด็กทารกควรได้รับอาหารเป็นนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกและควรเริ่มได้รับอาหารที่มีคุณค่าและปลอดภัยอื่น ๆ รวมกับการให้นมแม่ต่อไปถ้าเป็นไปได้จนถึงอายุ 2 ปีขึ้นไป ทารกที่กินนมแม่อย่างเดียวมีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตน้อยกว่าทารกที่ไม่ได้กินนมแม่ถึง 14 เท่า

 

อย่างไรก็ตามในวันนี้มีเพียง 41% ของทารกอายุ 0-6 เดือนเท่านั้นที่ได้รับนมแม่ แต่องค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟต้องการให้เปอร์เซ็นต์การได้รับนมแม่ของทารกในวัยนี้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 50% ภายในปี 2568 แต่การตลาดที่ไม่เหมาะสมของสารทดแทนนมแม่ยังคงเป็นอุปสรรคต่อความพยายามในการปรับปรุงอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ดังกล่าว โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด 19 ที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากหลายกิจกรรมถูกสั่งให้หยุดทำงาน

การให้บริการด้านสุขภาพที่มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการให้นมแม่อย่างถูกวิธี ในหลายประเทศก็ต้องหยุดดำเนินการไปด้วย แต่ในขณะเดียวกันสำหรับอุตสาหกรรมทดแทนนมแม่ก็ได้เปิดตัวในการเข้าหา และทำการตลาดเชิงรุกเพื่อหาประโยชน์จากวิกฤตและลดความมั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

 

ล่าสุดองค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ เร่งดำเนินการให้มีการออกกฎหมายที่เข้มงวดยิ่งขึ้นในช่วงของการป้องกันการแพร่ระบาด รวมทั้งรัฐบาลและองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ ก็ไม่ควรแสวงหาหรือยอมรับการบริจาคนมทดแทนในสถานการณ์ของความกลัวที่จะติดเชื้อ ทำให้เด็กทารกจำนวนมากถูกแยกออกจากแม่ที่ให้นมตั้งแต่แรกเกิด ในขณะเดียวกันอุตสาหกรรมอาหารเด็กกำลังใช้ประโยชน์จากความกลัวของการติดเชื้อส่งเสริมและแจกจ่ายสูตรฟรีและคำแนะนำที่ทำให้เข้าใจผิดโดยอ้างว่าการบริจาคเป็นเรื่องมนุษยธรรมและพวกเขามอบอาหารเหล่านั้นด้วยความห่วงใย

 

ในการเรียกร้องดังกล่าว ยังระบุด้วยว่า ขณะนี้ยังไม่มีการยืนยันว่าไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโควิด 19 ตรวจพบในนมแม่ของแม่ที่มีการยืนยันหรือสงสัยว่าป่วยด้วยโรคนี้ ดังนั้นเหมือนไม่น่าเป็นไปได้ที่ไวรัสจะส่งผ่านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือโดยการให้นมแม่จากแม่ได้รับการยืนยันหรือสงสัยว่าป่วยด้วยโรคโควิด 19

 

สำหรับการให้นมแม่ในระหว่างการระบาดองค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟ ให้คำแนะนำว่า ผู้เป็นแม่ควรล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือใช้มือถูที่ทำจากแอลกอฮอล์และโดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนสัมผัสทารก,สวมหน้ากากอนามัยในระหว่างสัมผัสกับทารกรวมถึงในขณะที่ให้อาหาร ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อพื้นผิวเป็นประจำหลังจากสัมผัสทารก ทั้งนี้แม้ว่าคุณแม่จะไม่มีหน้ากากทางการแพทย์ แต่ก็ควรปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้ออื่น ๆ ตามรายการและให้นมลูกต่อไป

ภาพจาก : irishtimes.com

kinyupen