ไข 9 ข้อสงสัยที่คนไทยควรรู้จาก COVID-19
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในขณะที่ทำให้หลายคนกำลังตื่นตระหนก เพราะไม่มีข้อมูลการรับมือที่ชัดเจน ทำให้ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาตอบคำถามจากข้อสงสัยจากประชาชน ดังนี้
- เดินสวนกับผู้ป่วย COVID-19 ติดโรคไหม ?
ไม่ติดโรค เพราะโรคนี้ติดทางฝอยละออง ถ้าไม่ได้ไอ หรือจามออกมา โอกาสติดจะน้อยมาก แต่ถ้าพูดคุยกันในระยะ 1 เมตร แล้วผู้ป่วยพูดเสียงดัง โอกาสที่ฝอยละอองจะมาถึงเรามีความเป็นไปได้ ดังนั้น อยากให้รักษาระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร
ในจีน แม้แต่การยืนเข้าคิวต้องกำหนดระยะห่างเพื่อลดการแพร่กระจาย
- จับของที่ส่งมาจากต่างประเทศกลุ่มเสี่ยง จะติดเชื้อ COVID-19 ?
ไม่ติดโรค อย่างไรก็ตามต้องหมั่นล้างมือ
- ต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาไหม ?
ปกติหน้ากากอนามัย จะให้คนป่วยใส่เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ส่วนกรณีคนปกติ ถ้าไปในที่ชุมชนหรือมีคนหมู่มากรถไฟฟ้า รถเมล์ การใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน ก็มีเหตุผล
- ปัจจุบันมียาและวัคซีนสำหรับ COVID-19 ?
เริ่มมีข้อมูลออกมาแล้วว่าจะมียาต้านไวรัส และยาลดการติดเชื้อ ส่วนวัคซีนป้องกันต้องใช้เวลา ให้อดใจรอก่อน
- ผู้สูงอายุมีโอกาสติดเชื้อ COVID-19 มากกว่าคนทั่วไป ?
มีสิทธิ์ติดโรคนี้เท่ากันทุกวัย แต่ความรุนแรงของโรคจะแตกต่างกัน (เช่น โรคประจำตัวมาก ความรุนแรงมากกว่า หรืออายุมากกว่า ความรุนแรงมากกว่า)
- ผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในระยะฟักตัวสามารถแพร่เชื้อได้ ?
โดยมาตรฐานทั่วไปผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจะต้องเก็บตัวอยู่ที่บ้าน 14 วัน แต่ขณะนี้มีข้อมูลออกมาว่า ผู้ป่วยในระยะฟักตัวระยะท้าย ๆ อาจจะติดโรคไปยังผู้อื่นได้
แต่ถ้าผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ โอกาสที่จะไอจาม หรือมีฝอยละอองออกมา ก็เกิดขึ้นได้น้อยกว่าผู้มีอาการ
อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มเสี่ยงที่มาจากแหล่งระบาดของโรค ควรเก็บตัวอยู่ที่บ้าน ปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัดในการใส่หน้ากากอนามัย และควรกำหนดระยะห่างของบุคคลและคนในบ้าน ไม่ไปคลุกคลีหรือไปสัมผัส หลีกเลี่ยงการใช้ของร่วมกัน
- COVID-19 หายแล้วเป็นอีกได้ ?
ในทางทฤษฎีไวรัสวิทยา เมื่อหายดีควรมีภูมิต้านทานเพื่อไม่ให้เป็นโรคอีก แต่ต้องศึกษากันต่อไปว่าไวรัสจะมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมหรือไม่ (ตอนนี้ยังไม่มีเห็น)
เช่น ไข้หวัดใหญ่ มีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมทุกปี ทำให้เป็นแล้วเป็นอีกได้
- COVID-19 ติดจากคนสู่สัตว์และสัตว์สู่คน ?
ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐาน ว่าสัตว์เลี้ยงติดโรค COVID-19 หรือเป็นพาหะโรคหรือตัวแพร่กระจายโรค แม้ว่าจะมีรายงานพบเชื้อสุนัขที่ฮ่องกง แต่ก็เป็นการพบตัวเดียว ซึ่งการพบนั้นปริมาณไวรัสค่อนข้างต่ำ แล้วต้องหาหลักฐานต่อไปว่า สุนัขตัวนั้นติดเชื้อหรือเป็นการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสเข้าสู่สุนัข
- COVID-19 ทนอากาศไทยไม่ได้ ?
โดยทั่วไปไวรัสจะทนความร้อนได้ไม่ดี หรือพูดง่ายๆ ว่า จะตายง่ายในสภาวะอากาศร้อนมากกว่าอากาศชื้นหรือเย็น ก็โชคดีของประเทศไทยที่โรคติดต่อทางเดินหายใจในบ้านเราจะพบน้อยในดูร้อน แล้วจะเริ่มพบมากในฤดูฝนตั้งแต่เดือนมิถุนายน เป็นตันไป
นพ.ยง ภู่วรวรรณ นับว่าเป็นแพทย์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในแพทย์ด้านไวรัสวิทยาในระดับต้นของประเทศไทย สำหรับผู้ที่อยากรู้จักหมอยงมากยิ่งขึ้น สามารถติดตามอ่านได้ ที่นี่
ที่มา : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม