นักวิจัยเผย 3 ช่วงอายุที่มนุษย์จะเผชิญ “ภาวะความเหงา” และส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เทียบเท่ากับการสูบบุหรี่วันละ 15 มวนเลยทีเดียว
เพราะ “ความเหงา” เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัยอยู่เสมอ การได้อยู่คนเดียว การไม่ได้รับการเลี้ยงดู ได้รับความสนใจจากคนรอบข้าง เปรียบเสมือนว่าตัวเองนั้นต้องอยู่คนเดียว โดดเดี่ยวเดียวดาย ภาวะความเหงา จึงบังเกิดขึ้น ดังนั้น การเกิดขึ้นของภาวะความเหงาจึงเป็นที่มาที่ทำให้นักวิจัยมีความสนใจที่จะศึกษาในประเด็นดังกล่าว
ดร.ดิลิป เจสเตอ อาจารย์ด้านจิตเวชและระบบประสาทวิทยา จาก University of California ซึ่งเป็นเจ้าของงานวิจัย ได้ศึกษาวิจัยและตีพิมพ์ในวารสารด้านจิตวิทยาผู้สูงอายุ International Psychogeriatric โดยได้ศึกษาและเก็บข้อมูลจากผู้คนในซานดิเอโก เคาน์ตี้ รัฐแคลิฟอร์เนีย ช่วงอายุระหว่าง 27-101 ปี โดยผลการศึกษาพบว่า “ความเหงา” ไม่ได้หมายถึงความโดดเดี่ยวเดียวดายเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงความเศร้าจากความแตกต่างระหว่างความสัมพันธ์ทางสังคมที่ต้องการกับความสัมพันธ์ที่เป็นอยู่จริง
นอกจากนี้ การศึกษาพบว่า ในช่วงชีวิตของมนุษย์สามารถจะเกิดความเหงาได้ 3 ช่วงอายุหลัก ๆ ได้แก่ ช่วงอายุ 20 ตอนปลาย (ประมาณ 28-29 ปี) , ช่วงอายุ 50 กลางๆ (ประมาณ 54-57 ปี) และช่วงอายุ 80 ตอนปลาย (ประมาณ 88-89 ปี) และเกิดขึ้นทุกเพศ ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม สามารถเผชิญกับความเหงาได้ในระดับที่เท่ากัน
สำหรับกลุ่มคนช่วงอายุ 20 ตอนปลาย จะเป็นช่วงเวลาของการตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิต คนในช่วงอายุนี้มักจะมีความรู้สึกว่าเพื่อนฝูงในวัยเดียวกันตัดสินใจดีกว่าตน และมีความรู้สึกผิดต่อการตัดสินใจของตัวเองในหลายด้าน ซึ่งภาวะเครียดนี้จะเพิ่มระดับความอ้างว้างในจิตใจไปอีก
กลุ่มคนช่วงอายุ 50 ตอนกลาง จะมีภาวะที่เรียกว่า mid-life crisis หรือวิกฤตวัยกลางคน จากภาวะร่างกายที่เริ่มเจ็บป่วย สุขภาพถดถอย และกลุ่มคนช่วงอายุ 80 ตอนปลาย จากเดิมหลายคนเชื่อว่าคนวัยนี้น่าจะรู้สึกดีที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว พวกเขาเผชิญกับสุขภาพที่ย่ำแย่ ปัญหาทางการเงิน และความตายของคนรอบข้าง
นอกจากนี้ ในงานวิจัย ดร.วิเวค เมอร์ธี อดีตอธิบดีกรมอนามัยสหรัฐฯ กล่าวยืนยันว่า ความเหงาส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เทียบเท่ากับการสูบบุหรี่วันละ 15 มวนเลยทีเดียว โดยภาวะความเหงาเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะระบบการรับรู้ที่ลดลง โรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง ภาวะพิการ และโรคซึมเศร้า เป็นต้น
ทั้งนี้ แอนโธนี ออง อาจารย์ด้าน Human Development จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล ระบุว่า ความสัมพันธ์ที่ผกผันระหว่างความเหงากับความคิดได้คิดเป็น หากเรายิ่งมีสติ รู้คิด รู้ทำ ก็จะช่วยลดโอกาสของความเหงาเดียวดาย อาจจะส่งเสริมให้มนุษย์พัฒนาบุคลิกภาพของตนเองให้พร้อมรับมือกับความเหงาที่จะเกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลาของชีวิตได้
สุดท้าย ภาวะความเหงา หากได้รับการดูแลรักษาอย่างดี ทั้งจากตัวเราเองและคนรอบบข้าง คุณเองก็จะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ไร้ความเหงามาแผ้วพานจิตใจอย่างแน่นอน
ขอขอบคุณ : ข้อมูลจาก เว็บไซต์ VOA Thai