หลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นแนวคิดที่สอนให้พสกนิกรไทยมีความเป็นอยู่ที่ดี ใช้ชีวิตเป็น และรู้จักถึงความประหยัดมากขึ้น
เชื่อว่าพสกนิกรไทยหลายๆ คน บางคนยังไม่เข้าใจความหมายของคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ดีพอ บางส่วนเข้าใจกันไปผิดเพี้ยนว่าเป็นการประหยัด ต้องอด เพื่อไม่ให้สิ้นเปลือง ซึ่งนั่นไม่ใช่ความหมายของคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่แท้จริง ทีมงานกินอยู่เป็น 360องศาแห่งการใช้ชีวิต จึงขอน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มาถ่ายทอดให้ได้ทราบกันอีกครั้ง
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2517 โดยทรงมีพระราชดำริว่าด้วยเศรษฐกิจพอเพียงตอนหนึ่งว่า
“…การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐานคือ ความพอมี พอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัดแต่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อได้พื้นฐานความมั่นคงพร้อมพอสมควร และปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญ และฐานะทางเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป…”
“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาเกี่ยวกับแนวทางการดำรงชีวิตและปฏิบัติตนของประชาชนทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน สังคม รัฐ ตลอดจนประเทศชาติ ทั้งการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกในปัจจุบัน ทั้งนี้ ในช่วงวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 คนไทยได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้อย่างมาก บริษัทหลายแห่งต้องปิดกิจการลง พนักงานบริษัทต้องกลายเป็นผู้ว่างงานกันหลายคน ด้วยเหตุนี้ หลักปรัชญาความพอเพียงสำหรับการดำเนินชีวิต จึงพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าหลักปรัชญาดังกล่าวสามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้จริง ทำให้คนไทยสามารถพึ่งพาตนเองและสามารถดำเนินชีวิตได้ รวมถึงสามารถจัดการปัญหาต่างๆ ได้ ซึ่งถือเป็นศักยภาพพื้นฐานที่คนไทยควรพึงกระทำ
หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสามารถอธิบายถึงคุณสมบัติได้ 3 ประการ ประกอบด้วย พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันที่ดี ต่อผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในภายนอก
“พอประมาณ” หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
“มีเหตุผล” หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับความพอเพียง จะต้องมีเหตุผล โดยพิจารณาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำอย่างรอบคอบ
“มีภูมิคุ้มกันที่ดี” หมายถึง เตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น
ขณะเดียวกัน หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีเงื่อนไขสมทบอยู่ 2 เงื่อนไข ประกอบด้วย เงื่อนไขความรู้ และ เงื่อนไขคุณธรรม
“เงื่อนไขความรู้” หมายถึง การเป็นผู้มีความรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรอบด้าน ขณะเดียวกันจะต้องมีความรอบคอบในการนำความรู้มาพิจารณาเชื่อมโยงกัน เพื่อใช้ในการวางแผนและระมัดระวังตัว
“เงื่อนไขคุณธรรม” หมายถึง ความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต อดทน อดกลั้น ความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต และดำเนินชีวิตอย่างมีสติอยู่เสมอ
“… พอเพียงนี้ก็หมายความว่า มีกิน มีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้ แต่ว่าพอ แม้ว่าบางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ถ้าทำให้มีความสุข ถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ อันนี้ก็ความหมายอีกอย่างของเศรษฐกิจพอเพียง หรือระบบพอเพียง …” (พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 4 ธันวาคม 2540)
หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ถ้านำมาประยุกต์ใช้กับเรื่องของการใช้ชีวิตของประชาชนชาวไทยอย่างหยัดนั้น จะอธิบายได้ว่า
“พอประมาณ” หมายถึง การใช้จ่ายเงินอย่างประหยัด ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยกับเรื่องที่ไม่จำเป็น ขณะเดียวกัน ไม่ควรอดอออมเกินความจำเป็น หากมีความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายเงิน ก็ขอให้ใช้จ่ายอย่างสมเหตุสมผล
“มีเหตุผล” หมายถึง การใช้จ่ายเงินจะต้องมีเหตุผลรองรับกับรายจ่ายนั้นๆ อาทิ จะซื้อนาฬิกาสัก 1 เรือน ก็ต้องมีเหตุผลว่า จะซื้อเพื่ออะไร มีความจำเป็นหรือไม่ และถ้าต้องซื้อจริงๆ ควรซื้อในราคาที่แพงหรือหรูหราหรือไม่
“มีภูมิคุ้มกันที่ดี” หมายถึง ไม่ประมาทกับการใช้จ่ายเงิน มีสติทุกครั้งในการใช้จ่าย หากเป็นไปด้วยเราควรมีแผนในการใช้จ่ายเงินหรือรู้จักอดออม เผื่อมีเหตุฉุกเฉินที่ต้องใช้เงินในยามจำเป็น
ส่วน 2 เงื่อนไข หมายถึง การมีความรู้และมีคุณธรรม ถ้าอธิบายในด้านของการประหยัดออดออมก็คือการมีความรู้ในเรื่องที่ลงทุนอย่างดีพอ มีความรู้ในการหารายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งต้องมีพร้อมด้วยคุณธรรม ไม่ทุจริต และไม่เอาเปรียบผู้อื่น
อย่างไรก็ตาม หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ถือได้ว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญของประชาชนทุกๆ สาขาอาชีพเลยก็ว่าได้ ซึ่งเชื่อว่าหากทุกคนทำได้ จะทำให้สถานะทางการเงินและเศรษฐกิจของประเทศไทยมีความแข็งแรงอย่างยั่งยืนอย่างแน่นอน
ทีมงานกินอยู่เป็น 360องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอขอบคุณข้อมูลจาก : มูลนิธิชัยพัฒนา