อายุรแพทย์โรคหัวใจชี้ ผู้ป่วย “โรคหัวใจและหลอดเลือด” มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น พบได้ในช่วงอายุที่น้อยลงเรื่อยๆ สาเหตุไลฟ์สไตล์ของเด็กยุคปัจจุบันเปลี่ยนไป
ปัจจุบัน คนไทยเข็บไข้ได้ป่วยด้วยโรคภัยไข้เจ็บหลากหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น โรคเบาหวาน , โรคมะเร็ง , โรคไต , โรคไข้หวัด , โรคหัวใจ เป็นต้น เมื่อพูดถึงโรคหัวใจจะพบว่าในแต่ละปี คนไทยป่วยเป็นโรคหัวใจเพิ่มสูงขึ้นกว่า 250,000 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิต 20,000 คน/ปี ส่วนใหญ่พบในกลุ่มคนอ้วน กลุ่มคนที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน กลุ่มคนที่ป่วยเป็นความดันโลหิตสูง และกลุ่มคนที่สูบบุหรี่ ซึ่งมีความเสี่ยงมาก
ล่าสุด พล.อ.ท. นพ.กัมปนาท วีรกุล อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวภายในงาน “ดูแลหัวใจคุณ ด้วยหัวใจเรา” ว่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์โรคหัวใจและหลอดเลือดมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่วนใหญ่พบได้ในช่วงอายุที่น้อยลง กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีอายุน้อยมากขึ้นเรื่อยๆ จากสถิติพบว่ามีคนไทยป่วยและเสียชีวิตมากขึ้นถึงร้อยละ 24 และร้อยละ 41.3 ขณะที่ความเสี่ยงผู้ที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดปี 2558 พบว่า ร้อยละ 29.9 เพิ่มขึ้นเป็น 32.3 ในปี 2559 ส่วนโรคหลอดเลือดสมอง จากร้อยละ 43.3 เพิ่มขึ้นเป็น 48.7 โดย 2 ปัจจัยเสี่ยงจากทางร่างกาย เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง พฤติกรรมการสูบบุหรี่ แต่ป้องกันได้ ส่วนอีกหนึ่งปัจจัย คือ พันธุกรรม ที่ป้องกันและแก้ไขไม่ได้
ทั้งนี้ พล.อ.ท. นพ.กัมปนาท วีรกุล ได้แนะนำให้หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันทรานส์ เช่น เบเกอรี่ โดนัท คุกกี้ และอาหารประเภทจังส์ฟู้ด ซึ่งจะเข้าไปเพิ่มระดับของไขมันไม่ดี หรือ LDL ในร่างกาย ส่งผลเสียต่อหลอดเลือดหัวใจ และหมั่นออกกำลังกายแบบ Fat-burn เป็นการออกกำลังกายในช่วงอัตราการเต้นของหัวใจเหมาะสม