ผลสำรวจเผยคนไทยส่วนใหญ่เครียดเกิดภาวะความเครียดเรื่องของเศรษฐกิจ-การเงินมากที่สุด เนื่องจากราคาสินค้าและบริการที่มีการปรับราคาสูงขึ้น กินอยู่เป็น แนะนำวิธีรับมือคือการใช้จ่ายอย่างประหยัด ดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
สถาบันวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้ทำการสำรวจเรื่อง ดัชนีความเครียดของคนไทยในเดือนสิงหาคม : กรณีศึกษาประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา” ซึ่งผลการสำรวจพบว่า คนส่วนใหญ่มีความเครียดในเรื่องของเศรษฐกิจ/การเงิน มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 77.08 ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนในวัยเรียน วัยทำงาน และวัยชรา รองลงมา คือ เรื่องสิ่งแวดล้อมร้อยละ 66.52 และ เรื่องครอบครัว ร้อยละ 55.06 ตามลำดับ ทั้งนี้ พบว่า ระดับความเครียดของคนไทยในการสำรวจครั้งนี้เพิ่มสูงขึ้นกว่า 2 ไตรมาสที่ผ่านมา
สำหรับปัจจัยที่ทำให้คนไทยเกิดภาวะความเครียด อันดับ 1 ได้แก่ ปัจจัยเรื่องของราคาสินค้าและบริการที่มีการปรับราคาสูงขึ้น คิดเป็นร้อยละ 67.43 รองลงมา คือ ภาวะเศรษฐกิจยุคปัจจุบัน ร้อยละ 50.95 และ ปัญหาหนี้สินและรายรับไม่พอกับรายจ่าย ร้อยละ 48.46 จึงทำให้คนไทยส่วนใหญ่เกิดความเครียดและกังวลใจ
จากปัญหาความเครียดของคนไทยที่เกิดขึ้น ส่งผลทำให้คนไทยส่วนใหญ่รู้สึกเบื่อหน่าย คิดเป็นร้อยละ 78.18 รองลงมา รู้สึกไม่มีความสุข ร้อยละ 66.92 และรู้สึกหมดกำลังใจ ร้อยละ 50.37 ซึ่งจะส่งผลทำให้ความเครียดของคนไทยเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งอาจสั่นคลอนความเชื่อมั่นของคนไทยที่มีต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลแก้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้ในที่สุด
ส่วนวิธีแก้ปัญหาหรือรับมือกับสภาพเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน คนไทยส่วนใหญ่เลือกพึ่งพาตัวเองโดยการใช้จ่ายอย่างประหยัด ดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง คิดเป็นร้อยละ 58.97 รองลงมา หาอาชีพเสริมและพยายามทำงานให้มากขึ้น ร้อยละ 11.06 และปล่อยวางทำใจยอมรับความจริง-มีสติ ร้อยละ 6.28
นอกจากนี้จะเห็นว่าปัญหาหลักๆ ที่ทำให้คนไทยส่วนใหญ่เกิดความเครียด คือ ปัญหาสินค้าราคาแพง ปัญหาหนี้สิน/รายรับไม่พอกับรายจ่าย ปัญหาความไม่ซื่อสัตย์สุจริตของนักการเมือง และปัญหาการจราจร ซึ่งเป็นปัญหาที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรนำไปพิจารณาเพื่อปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้คนไทยเกิดความเครียดต่อปัญหาต่างเหล่านี้น้อยลง นี่คือวิถี กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต
บทความที่เกี่ยวข้อง