บริจาค “สเต็มเซลล์” ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด-ช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์

0
529
kinyupen

ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาติไทย ยืนยันการบริจาคสเต็มเซลล์นั้นไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริจาค และยังเป็นการต่อชีวิตให้เพื่อนร่วมโลกอีกด้วย

เมื่อเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงจะทราบข่าวของนายแบบหนุ่มของ Men Health Thailand “ปาล์ม-เปรมทัต สิ้นกัง” ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็ง และจะมีชีวิตอยู่ได้เพียงแค่ 6 เดือนเท่านั้น ซึ่งวิธีการเดียวที่จะช่วยรักษาได้ก็คือการใช้สเต็มเซลล์ในการปลูกถ่ายรักษาเท่านั้น แต่การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จะต้องหาสเต็มเซลล์ที่เข้ากันได้ ซึ่งมีอัตราส่วน 1 ต่อ 10,000 คนเท่านั้น หลายคนเกิดความกังวล โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยบริจาคโลหิตและสเต็มเซลล์มาก่อน โดยเข้าใจไปว่าการบริจาคสเต็มเซลล์ต้องมีกระบวนที่ซับซ้อนกว่าการบริจาคโลหิต และอาจเป็นอันตรายต่อตัวเราเองก็ได้ ซึ่งต้องบอกเลยว่า คุณต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ เพราะจริงๆ แล้ว การบริจาคสเต็มเซลล์ไม่ได้เป็นอันตรายหรือร้ายแรงเลย

สเต็มเซลล์หรือเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดเป็นเซลล์ตัวอ่อนของโลหิตที่อาศัยอยู่ในไขกระดูก และจะเจริญเติบโตไปเป็นเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดคอยหล่อเลี้ยงภายในร่างกาย นำสารอาหารที่เป็นประโยชน์และจัดการกับเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายของเรา การบริจาคสเต็มเซลล์สามารถบริจาคให้บุคคลอื่นได้ เหมือนการบริจาคโลหิตทั่วไป โดยไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริจาคแต่อย่างใด เนื่องจากร่างกายสามารถผลิตสเต็มเซลล์ขึ้นมาทดแทนของเก่าได้ และการบริจาคสเต็มเซลล์ถือเป็นความหวังเดียวที่จะรักษาผู้ป่วยโรคทางโลหิตให้หายขาดได้อีกด้วย สเต็มเซลล์จะใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีโรค ดังนี้ โรคธาลัสซีเมีย (โลหิตจาง) , โรคโลหิตจางชนิดที่เกิดจากไขกระดูกฝ่อ , มะเร็งเม็ดเลือดขาว , มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น

ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาติไทย ระบุว่า การบริจาคสเต็มเซลล์นั้นจะมีขั้นตอนโดยจะต้องไปลงทะเบียนแสดงความจำนงว่าจะบริจาคสเต็มเซลล์ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะเก็บตัวอย่างเลือดในระหว่างที่กำลังบริจาคโลหิต เพื่อเก็บข้อมูลลักษณะเลือดของเราเอาไว้ก่อน จนกระทั่งมีผู้ป่วยที่มีข้อมูลเลือดที่เข้ากันได้และสามารถใช้เลือดของผู้บริจาคได้ ทางเจ้าหน้าที่จะเรียกผู้บริจาคเข้าไปขอเก็บสเต็มเซลล์ต่อไป ซึ่งการเก็บสเต็มเซลล์มี 2 วิธี ได้แก่

1. บริจาคสเต็มเซลล์ผ่านหลอดเลือดดำ

โดยเจ้าหน้าที่จะฉีดยาเพื่อกระตุ้นให้สเต็มเซลล์ออกจากไขกระดูกมากระจายตัวในกระแสเลือดก่อน จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการเก็บสเต็มเซลล์ โดยนำโลหิตผ่านเข็มที่แทงอยู่ในเส้นเลือดดำ แล้วจะนำไปแยกสเต็มเซลล์ออกจากเลือดผ่านเครื่อง Automated Blood Cell Separator โดยจะใช้เวลาเก็บประมาณ 3 ชั่วโมง

2. บริจาคสเต็มเซลล์ผ่านไขกระดูก

โดยเจ้าหน้าที่จะใช้เข็มและกระบอกฉีดยาเจาะเก็บจากบริเวณสะโพกด้านหลัง (บริเวณขอบกระดูกเชิงกราน) โดยทำในห้องผ่าตัด และจะใช้เวลาเก็บประมาณ 2 ชั่วโมง หลังเก็บสเต็มเซลล์ผู้บริจาคอาจต้องพักฟื้นจนถึงวันรุ่นขึ้น จึงสามารถกลับบ้านได้ และควรพักฟื้นร่างกายประมาณ 5-7 วัน

ทั้งนี้ ผู้บริจาคจะเลือกใช้วิธีการใดนั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้บริจาคและความคิดเห็นของเเพทย์ และย้ำว่าการบริจาคสเต็มเซลล์จะไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริจาคอย่างแน่นอน ซึ่งสเต็มเซลล์ของผู้บริจาคอาจช่วยชีวิตให้กับผู้ป่วยที่จะรักษาโรคทางโลหิตให้หายขาดได้ ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า หลายคนคงไม่ต้องกลัวการบริจาคสเต็มเซลล์อีกต่อไป เพราะจริงๆ ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด แถมยังเป็นการต่อชีวิตให้เพื่อนร่วมโลกอีกด้วย

kinyupen