กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ชวนคุณเกษียณสุขด้วยแนวคิดดีๆ จาก FINNOMENA
คนสมัยก่อนไม่เห็นต้องเตรียมตัวเกษียณเลย แล้วทำไมเราต้องทำ?
การเตรียมตัวเกษียณเป็นสิ่งจำเป็นมากในยุคปัจจุบัน อีกทั้งนักลงทุนต่างๆ ก็คอยย้ำคอยเตือนอยู่เสมอ แต่การเก็บเงินเกษียณกลับไม่ได้เป็นที่นิยมมากนักสำหรับคนสมัยก่อน
อย่างปู่ย่าตายาย รุ่นพ่อรุ่นแม่ของเรา เพราะยุคนั้น เพียงแค่ฝากเงินก็ได้รับผลตอบแทนสูงมากถึง 12% ต่อปี (ปี 2534) และสมัยก่อนนิยมมีลูกกันมาก ในยามชราก็มีลูกหลานช่วยเลี้ยงดูได้อีกทาง ไม่เห็นต้องไปเสี่ยงลงทุนอะไรเลย
ตัดภาพมาตอนนี้ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ดอกเบี้ยเงินฝากไม่ถึง 1% ผู้คนมีลูกน้อยลง หลายคนตั้งตัวเป็นโสด Mindset ของ Gen เก่ากับ Gen ใหม่จึงย่อมไม่เหมือนกัน จึงต้องพึ่งพาตัวเอง และเก็บเงินก้อนให้มากพอไว้ใช้ในอนาคต
อย่าหาทำ เพราะเงินเกษียณจะไม่พอแน่
1. มองเรื่องเกษียณเป็นเรื่องไกลตัว
เพิ่งเริ่มทำงาน อายุยังน้อย ขอเอาเงินไปใช้ชีวิตก่อนดีกว่า เหลือเวลาอีกตั้ง 30-40 ปี …คิดแบบนี้อันตราย เพราะเมื่อเวลาผ่านไป อาจต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายครอบครัว ดูแลพ่อแม่ ถ้าแต่งงาน มีลูกไปแล้ว ก็จะขอทุ่มเงินให้ลูกก่อน
กว่าจะรู้ตัวอีกที อายุเข้าเลข 4 เลข 5 แล้ว ทำให้เหลือเวลาในการออมและลงทุนเพื่อใช้จ่ายในวัยเกษียณเพียง 10-20 ปีเท่านั้น ทำให้ต้องลงทุนด้วยเงินที่มากเงิน ต้องจำกัดจำเขี่ยมากขึ้นจนกระทบการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน บางคนโดนให้ออกจากงานก่อนวัยตอน 40-50 ปี ไม่เหลืออะไรเลย
Tip :
หากเรารู้ตัวเร็ว เริ่มวางแผนเกษียณตั้งแต่เป็น First Jobber ที่ยังพึ่งพาพ่อแม่ได้ ภาระรับผิดชอบยังไม่เยอะ
ยิ่งถ้าห้องไม่ต้องเช่า บ้านไม่ต้องซื้อ กินข้าวที่บ้านได้ด้วย ก็ยิ่งทุ่นค่าใช้จ่าย ทำให้ออมเงินและลงทุนได้ง่ายขึ้น มีเวลาคิดวางแผนชีวิต ดังนั้นควรกอบโกยช่วงเวลาเหล่านี้เอาไว้เยอะๆ
2. คำนวณเงินเกษียณต่ำกว่าความเป็นจริง
บางคนคิดจะใช้ชีวิตสมถะยามเกษียณ จึงประเมินค่าใช้จ่ายในอนาคตไว้ไม่มาก หรือคิดตามไลฟ์สไตล์ปัจจุบันไปเลย แล้วเอาไปคิดหลังเกษียณ อันนี้ก็ผิด
ค่าใช้จ่ายอนาคตในอีกหลายสิบปีข้างหน้า ไม่สามารถประเมินโดยใช้ฐานปัจจุบันได้ ทั้งเงินเฟ้อ วิกฤตฉุกเฉิน ค่ารักษาพยาบาล ค่าท่องเที่ยว ฯลฯ แม้แต่เรื่องอายุ หากเราอายุยืนมากกว่าที่คิด ก็ทำให้เงินไม่พอ (แบบนี้ก็มีนะ) อย่าลืมคิดถึงสิ่งเหล่านี้ด้วย เหลือไว้ยังดีกว่าขาด
3. ออมเงินเพื่อเป้าหมายเกษียณไม่เพียงพอ
จากข้อ 2 หาเราออมเงินไว้ไม่พอ หากวันที่เราเกษียณแล้วจริงๆ เราต้องปรับ Lifestyle ของเราให้เข้ากับเงินที่เรามี จำกัดจำเขี่ยกว่าเดิม จากที่หวังเกษียณสุข ไปเที่ยวต่างประเทศชิวๆ อาจเหลือแค่เที่ยวต่างจังหวัด หรือการรักษาพยาบาลก็ต้องยอมรอคิวในโรงพยาบาลรัฐบาล จากที่จะรักษาในโรงพยาบาลเอกชน
4. มองเรื่องการลงทุนเป็นเรื่องน่ากลัว
หลายคนโดนญาติผู้ใหญ่ติง ไม่ให้ลงทุนในสินทรัพย์อะไรเลย เพราะกลัวเสี่ยง กลัวล้มละลาย อยากให้ฝากเงินเข้าธนาคาร หรือซื้อทองเก็บไว้เสียมากกว่า
แต่จะพึ่งการงอกเงยของเงินในยุคนี้ เป็นไปไม่ได้แน่นอน เพราะจากดอกเบี้ยเงินฝาก 10-12% ตอนนั้น ปัจจุบันเหลือแค่ 0.5% ต่อปี ยิ่งเก็บเงินยิ่งขาดทุน เพราะแพ้อัตราเงินเฟ้อ
ตัวอย่างสินทรัพย์เพื่อการลงทุน
- พันธบัตรรัฐบาล
- กองทุนรวม
- หุ้น
- คริปโตเคอเรนซี่
- NFT
- ฯลฯ
แต่อย่าลืม “High Risk High Return” ถ้าอยากได้ผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงย่อมสูงตาม แต่ถ้าเราหาความรู้ มีความเข้าใจในสินทรัพย์ที่กำลังลงทุน และจัดการความเสี่ยงได้ดี ก็ช่วยลดความเสี่ยงไปได้มาก
กินอยู่เป็นขอขอบคุณที่มาจาก FINNOMENA