ร่างกายคนเราในวัยทำงาน ต้องการพักผ่อน 7 – 8 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายมีประสิทธิภาพ ตื่นมาพร้อมความสดชื่น สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ในแต่ละวัน แต่จะทำอย่างไร เมื่อวิถีชีวิตนำพาให้เราไม่สามารถพักผ่อนได้อย่างเพียงพอ ร่างกายเกิดการเหนื่อยล้า แต่ยังมีงานที่ต้องสะสางให้เสร็จ
กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตจะมาแนะนำเคล็ดลับการงีบหลับถึงแม้จะเป็นการนอนงีบในช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ช่วยได้อย่างแน่นอน จะทำให้สมองเกิดการตื่นตัว และทำให้ร่างกายกลับมากระปรี้กระเปร่าอีกครั้ง
วิธีพักงีบอย่างมีประสิทธิภาพ
10 – 20 นาที
การนอน 10 – 20 นาที จะช่วยเพิ่มพลังงาน และความสดชื่นให้กับร่างกาย เพราะจะทำให้การนอนของเราอยู่ในช่วง Non-Rapid Eye Movement (NREM)
การนอนในช่วงระยะเวลานี้ จะเหมาะกับคนที่ต้องการตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกกระฉับกระเฉง สมองปลอดโปร่ง สามารถตื่นขึ้นมาทำกิจกรรมได้โดยสามารถทำกิจกรรมได้ทันที ไม่เกิดอาการง่วงซึม จึงเรียกการนอนงีบในช่วงเวลานี้ ว่า “Power Nap” เป็นพลังของการนอนงีบ ที่ช่วยฟื้นฟูความอ่อนล้าให้กับร่างกาย
บทความที่เกียวข้อง
30 นาที
การนอนภายในระยะเวลาครึ่งชั่วโมง มักจะส่งผลไม่ค่อยดีต่อระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย ซึ่งมีงานวิจัยระบุว่า หลังจากตื่นขึ้นมาแล้วอาจจะมีอาการมึนงง ร่างกายยังคงง่วงอยู่ หรือบางคนอาจจะรู้สึกปวดหัวเล็กน้อยด้วย เพียงแค่นอนเพิ่มขึ้นมา 10 นาทีเท่านั้น ผลลัพธ์กลับแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
60 นาที
การนอน 1 ชั่วโมง จะช่วยส่งผลดีต่อระบบความจำ ทำให้สามารถจดจำข้อมูลได้ดียิ่งขึ้น สมองอยู่ในขั้น Slow- Wave Sleep คือ การหลับลึกในระดับหนึ่ง จึงเหมาะสำหรับคนที่ทำงานหนัก หรืออ่านหนังสือสอบจนร่างกายอ่อนเพลีย
90 นาที
เป็นระยะเวลาการนอนพักผ่อนที่สมบูรณ์แบบ จึงทำให้เริ่มเข้าสู่กระบวนการของความฝัน สร้างความคิดและจินตนาการ อยู่ในช่วง Rapid Eye Movement (REM) จะช่วยทำให้สมองของเราได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ อารมณ์ดี ไม่ง่วงซึมหลังจากตื่นนอน
การพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือการอดนอนจะส่งผลเสียต่อสุขภาพและเกิดโรคร้ายแรงตามมาได้ การนอนงีบจึงถือเป็นอีกตัวช่วยหนึ่งที่เพิ่มความตื่นตัว และประสิทธิภาพของการทำงานได้เป็นอย่างดี เมื่อเทียบกับการไม่ได้นอนหลับพักผ่อนเลย
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีตัวช่วยในการพักผ่อนแล้ว ท่านผู้อ่านก็ควรพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง พร้อมทำงานในเช้าวันใหม่กันด้วยนะ