How to ตุนอาหารยังไงให้อยู่นานถึง 1 เดือน

0
1900
kinyupen

เมื่อโควิด-19 แฝงตัวอยู่รอบทิศ แม้แต่สั่งเดลิเวอรี่ก็ยังติดเชื้อได้ ในเมื่ออยู่บ้านก็ต้องทำอาหารกินเอง แต่ตลาดก็เสี่ยง ห้างก็กลัว เราจะเอาตัวรอดอย่างไร ต้องเก็บอาหารแบบไหน ให้อยู่นานที่สุด

กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต มีเคล็ดลับเก็บอาหารให้อยู่นาน และไอเดียการเลือกซื้อของสดที่ไม่เน่าเสียเร็ว เพียงแค่มีตู้เย็นซะอย่าง อยู่ได้เป็นเดือน ทีนี้ออกจากบ้านเดือนละครั้งก็พอ ประหยัดแถมปลอดภัย ไม่ต้องออกไปเสี่ยงบ่อยๆ

 

อุปกรณ์ที่ต้องมี

  • ตู้เย็น
  • ถุงซิปล็อค หรือ ถุงพลาสติก
  • กล่องสุญญากาศ หรือกล่องพลาสติก
  • กระดาษหนังสือพิมพ์
  • กระดาษทิชชู

 

วิธีเก็บเนื้อสัตว์ให้อยู่ได้นาน

  • ไข่ไก่ โปรตีนชั้นดี ในราคาแสนถูก เก็บไว้ในตู้เย็นได้นาน 1 เดือนอยู่แล้ว แต่ไม่ควรแช่ไว้ในช่องแช่แข็ง
  • เนื้อสัตว์ อาทิ เนื้อหมู / เนื้อไก่ / เนื้อวัว สามารถเก็บได้ 3 – 5 วัน ในตู้เย็น และ 4 – 12 เดือนในตู้แช่แข็ง
  • ส่วนปลา เก็บได้ แต่ไม่แนะนำให้เป็นของตุน เพราะหากจัดการปลาสดได้ไม่ดีพอ จะคาวและเน่าเสียเร็ว

 

วิธีเก็บเนื้อสัตว์ฉบับยอดนักตุน

  1. วิธีเก็บ เนื้อหมู-ไก่-วัว ให้อยู่ได้นาน

ล้างเนื้อให้สะอาด เช็ดทำความสะอาดให้แห้ง แล้วแบ่งสัดส่วนตามปริมาณที่จะใช้ในการประกอบอาหารแต่ละครั้ง 1 ครั้ง = 1 ถุง ใส่ในถุงพลาสติก หรือถุงซิปล็อค (ถ้าเป็นหมูสับ แบ่งใส่ถุงไปเลย ไม่ต้องล้าง) ปิดให้สนิท แช่ช่องแช่แข็ง

      2. วิธีเก็บกุ้งให้อยู่ได้นาน

    • ล้างทำความสะอาดกุ้งที่ต้องการเก็บ เด็ดหัวออก แกะเปลือกออกให้เรียบร้อย
    • นำกุ้งไปลวกในน้ำเดือด พอสุก ตักขึ้นน็อคน้ำเย็น
    • แบ่งสัดส่วนกุ้งเป็นครั้งๆ เช่นกัน ใส่ถุงซิปล็อคแล้วนำเข้าช่องแช่แข็ง
    • เวลาจะใช้ค่อยนำไปผ่านความร้อน ประกอบอาหารได้เลย
  1. วิธีเก็บปลาให้อยู่ได้นาน

ซื้อปลาแช่แข็งแบบที่แล่ไว้แล้วจะง่ายที่สุด ให้ระวังเรื่องการเสียอุณหภูมิระหว่างการเดินทาง เมื่อถึงบ้านค่อยแยกสับส่วนออกเป็นครั้งๆ ใส่ถุงพลาสติก หรือถุงซิปล็อค ปิดให้สนิท แช่ช่องแช่แข็ง

 

พยายามอย่าเปิดถุงโดยไม่จำเป็น เพราะยิ่งเนื้อสัมผัสอากาศบ่อยๆ ยิ่งเน่าเสียเร็ว หากกลัวสับสน ให้แยกเนื้อแต่ละประเภทใส่กล่องพลาสติก แล้วแช่ช่องแช่แข็ง

 

วิธีเก็บผัก-ผลไม้ ให้อยู่ได้นาน

  • วิธีการเก็บผักคือ ห่อกระดาษทิชชูให้รอบ นำไปใส่ถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้แน่นอย่าให้มีลมเข้าไปได้ แค่นี้ก็ยืดอายุผักได้นานขึ้น
  • ผักที่มีลักษณะเป็นหัวหรือมีเปลือกหนา เช่น กะหล่ำ หัวไชเท้า แครอท ฟัก ฟักทอง เผือก มันฝรั่ง เก็บได้ทั้งแบบแช่ตู้เย็นและไม่แช่ตู้เย็น เก็บได้ตั้งแต่ 1 สัปดาห์ – 1 เดือน ผลไม้พวก แอปเปิล ส้ม องุ่น สับปะรด ก็เช่นกัน

 

วิธีเก็บผักฉบับยอดนักตุน

  1. วิธีเก็บผักใบเขียวให้อยู่ได้นาน 1 สัปดาห์
    ผักที่เน่าเสียง่าย เช่น หน่อไม้ฝรั่ง บล็อกโคลี่ เห็ด ผักบุ้ง คะน้า ผักกาดขาว ชะอม ถั่วงอก ถั่วฝักยาวให้แยกใบที่เหี่ยวออก ห่อกระดาษหนังสือพิมพ์ให้รอบ นำใส่ถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้แน่นอย่าให้มีลมเข้าไปได้ แค่นี้ก็ยืดอายุผักได้นานขึ้น
    เปลี่ยนกระดาษหนังสือพิมพ์บ้าง อย่าให้กระดาษเปียก
  2. วิธีเก็บพริกให้อยู่ได้นาน 1 เดือน
    • คัดแยกพริกที่เน่าทิ้ง
    • ล้างพริกให้สะอาด แล้วผึ่งให้แห้ง
    • เด็ดขั้วพริกทิ้ง เพราะส่วนนี้จะขึ้นราง่ายที่สุด
    • เตรียมกล่องสุญญากาศ โดยเอาทิชชูซ้อนกันหนาๆ รองไว้ที่ก้นกล่องก่อน แล้วใส่พริกลงไป
    • แปะทิชชูชิ้นหนาๆ ที่หน้าพริกอีกครั้ง แล้วปิดฝา แช่ช่องผัก อยู่ได้เป็นเดือน หมั่นเปลี่ยนทิชชูบ้าง เมื่อมีไอน้ำเกาะ อย่าให้เปียก
  1. วิธีเก็บใบกะเพราให้อยู่ได้เป็นปี (ใบโหระพาก็ใช้วิธีนี้ได้)
    • ล้างกะเพราให้สะอาด จากนั้นนำใบกะเพรามาลวกลงในน้ำเดือดจัด
    • คนเบา ๆ ประมาณ 2-3 ครั้งแล้วตักขึ้นสะเด็ดน้ำ น็อคน้ำเย็นจัดทันที
    • ปั้นเป็นก้อน กะขนาดพอกับการใช้ในแต่ละครั้ง แล้วบีบน้ำออก
    • ทำแบบนี้จนหมด แล้วใส่รวมลงถุงซิปล็อค แช่ช่องแช่แข็ง
    • เมื่อจะนำมาประกอบอาหารก็หยิบมา 1 ลูก กลิ่นและรสชาติจะคงเดิมค่ะ

      4. วิธีเก็บมะเขือเทศให้อยู่ได้นาน 1 สัปดาห์

    • เด็ดขั้วออก หาเทปใสมาปิดที่ขั้วไว้
    • จัดมะเขือเทศเรียงใส่ถาดหรือจานแบนๆ วางให้ห่างกัน โดยให้คว่ำเอาขั้วลง
    • ไม่ต้องแช่ตู้เย็น วางไว้ในที่อากาศถ่ายเท เก็บให้พ้นแสงอาทิตย์

       5.วิธีเก็บฟักทองให้อยู่ได้นาน 1 เดือน

หากซื้อเป็นชิ้นให้คว้านส่วนเมล็ดออก แล้วใช้ปูนแดงทา ห่อกระดาษใส่ในช่องแช่ผัก ตอนจะนำมาปรุงอาหารก็ฝานส่วนที่ปูนแดงออก

 

วิธีเก็บขนมปังให้อยู่ได้นาน 1 เดือน

นำขนมปัง แยกใส่ถุงซิปล็อค โดยนำถุงจุ่มน้ำเพื่อไล่ลมให้ถุงเป็นสุญญากาศ แล้วปิดปากถุงให้เรียบร้อย จากนั้นนำไปแช่ช่องฟรีซ

วิธีเก็บเห็ดให้อยู่ได้นานครึ่งปี (วิธีนี้จะคล้ายๆ การเก็บกุ้ง)

    • นำเห็ดฟางมาล้างให้สะอาด ปาดส่วนที่เสียทิ้ง แล้วนำมาพักให้สะเด็ดน้ำ
    • หั่นเห็ดฟางให้ได้ขนาดตามต้องการ ต้มลงน้ำเดือดจนเห็ดฟางสุก น็อคน้ำแข็งจัดแช่ให้เห็ดฟางเย็นสนิท
    • นำเห็ดฟางขึ้นมาสะเด็ดน้ำ เอาน้ำออกให้ได้มากที่สุด
    • แบ่งใส่ถุงซิปล็อค ตามสัดส่วนการทำอาหารแต่ละจาน แช่ช่องแช่แข็ง

 

Tip : สำหรับคนที่ไม่มีเวลา ช่วงกักตัวนี้ซื้อเป็นผักแช่แข็ง แบ่งใส่กล่องสุญญากาศไว้ ก็อีกหนึ่งเป็นทางเลือกค่ะ ไม่ต้องเตรียม ไม่ต้องหั่นให้เสียเวลา

 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

 

เลือกซื้ออะไรดี อยู่ที่เดือนนี้จะกินอะไร

เอาเนื้อสัตว์ที่จะเก็บไว้เป็นตัวตั้ง จะทำอะไรกินก็นึกเมนูอาหารทีหลัง ที่เราอยากกิน ทำง่าย หรือกินได้หลายๆ วันโดยไม่เบื่อ อย่างผัดกะเพรา ข้าวผัด สุกี้ ฯลฯ แล้ววัตถุดิบอื่นๆจะตามมาค่ะ ทีนี้เราก็ลิสต์ได้แล้ว ว่าต้องซื้ออะไร

กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตมีไอเดียเมนูอาหาร จากของที่ตุนไว้ดังนี้ค่ะ

  • หมู : กะเพราหมู สุกี้หมู แกงจืดหมูสับ ผัดพริกแกงหมู ไข่เจียวหมูสับ ผัดผัก
  • ไก่ : สเต็กไก่ ข้าวหน้าไก่ ไก่ทอด ไก่ผัดขิง ไก่ทอดกระเทียม
  • กุ้ง : ข้าวต้มกุ้ง กุ้งกระเทียม กุ้งผัดพริกเกลือ กุ้งต้มยำ ยำมาม่ารวม

 

เอาเนื้อ อาหารแปรรูปอย่างอื่นมาเป็นตัวตั้งก็ได้เช่นกัน

  • ทูน่ากระป๋อง : สลัดทูน่า ข้าวผัดทูน่า ลาบทูน่า ไข่เจียวทูน่า
  • แฮมหรือไส้กรอก : แซนวิชแฮม-ไส้กรอก ข้าวผัด ไข่กระทะ
  • มาม่า : ยำมาม่า มาม่าปลากระป๋อง ไข่ตุ๋นมาม่า ก๋วยเตี๋ยวหมูสับ
  • ผัดกาดดองกระป๋อง : ต้มจืดผัดกาดดอง ผักกาดดองผัดไข่ ต้มยำผักกาดดอง

 

ทำอาหารเยอะๆ ทีละหลายๆ มื้อ แล้วแบ่งใส่กล่องแช่ตู้เย็นไว้ ก็สะดวกและประหยัด แต่ก็มีอาหารบางอย่างที่ไม่ควรเอามาอุ่นซ้ำ

สำหรับใครที่นึกเมนูกักตัวไม่ออกจริงๆ ลองพิมพ์วัตถุดิบที่เว็บไซต์ cookpad.com หรือถ้าอยากรู้สูตรอาหาร สามารถพิมพ์เมนูที่เราอยากรู้วิธีทำ ในเว็บไซต์นี้ได้เช่นกัน

 

ได้ทั้งวิธีถนอมอาหารและไอเดียมื้อกักตัว เท่านี้ก็ตุนอาหารได้สบายๆ ปลอดภัยจากโควิด-19 โดยไม่ต้องออกไปซื้อของบ่อยๆ แล้วค่ะ ตลาดจ๋า อีก 1 เดือนเจอกันใหม่ เดือนนี้เสบียงอาหารพร้อมแล้ว! อย่าลืมบอกเคล็ดลับดีๆ แบบนี้ให้เพื่อนๆ หรือคนที่บ้านฟังนะคะ ขอให้ทุกคนปลอดภัยจากโควิด-19 นี้ไปด้วยกัน

kinyupen