กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต พาไปวิเคราะห์ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” แผนการพัฒนาประเทศในระยะยาว สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน แผน “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” สุดท้ายแล้ว จะ “เดินหน้า” หรือ “ถอยหลัง”
ถึงเวลาทำตามสัญญาแล้ว! ช่วงนี้กระแสการเมืองไทยเรียกได้ว่ากำลังร้อนระอุกันเลยทีเดียว ทั้งการประกาศการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2562 , การจัดตั้งพรรคการเมือง ที่มีพรรคการเมืองน้องใหม่ผุดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก , การโยกย้ายหรือชักชวนนักการเมืองมากฝีมือเข้าสังกัดพรรคคู่แข่งหรือพรรคน้องใหม่ และล่าสุด เกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ กับการประกาศใช้ “แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ที่ราชกิจจานเบกษาได้มีการเผยแพร่พระราชโองการโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา
รู้จักยุทธศาสตร์ชาติ
รู้หรือไม่? “แผนยุทธศาสตร์ชาติ” มีสาระสำคัญคือเป็นแผนการพัฒนาประเทศในระยะยาว เพื่อใหประเทศไทยสามารถเดินหน้าบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ โดยมีวิสัยทัศน์คือนำประเทศชาติเดินไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ทั้งนี้เพื่อนำมาซึ่งความอยู่ดีมีสุขของประชาชน โดยขับเคลื่อนประเทศไปในทิศทางที่พัฒนาด้วยการนำหลักตามปรัชญาแนวคิด “เศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
มั่นคง : ความมั่นคงและปลอดภัยจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกประเทศในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับบุคคลถึงระดับสังคม ตลอดจนความมั่งคงในมิติต่างๆ อาทิ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการเมือง เป็นต้น
มั่งคั่ง : ประเทศไทยจะต้องมีการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับให้เป็นกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกัน
ยั่งยืน : แผนยุทธศาสตร์ชาติที่ได้มีการวางกรอบการพัฒนาไว้จะต้องสร้างความเจริญทั้งรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะต้องไม่ใช้ทรัพยากรที่เกินความจำเป็น การผลิตและการบริโภคจะต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประชาชนจะต้องปฏิบัติตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อความสุขที่ยั่งยืนด้วย
6 ยุทธศาสตร์ชาติ
สำหรับสาระสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สามารถสรุปได้ทั้งหมด 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
1. ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง : มุ่งพัฒนาเพื่อให้ประเทศชาติมีความมั่นคง ประชาชนใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคคลและเครื่อง ตลอดจนเทคโนโลยีต่างๆ ให้มีความพร้อมในทุกๆ ด้าน
2. ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน : มุ่งพัฒนาเพื่อยกระดับศักยภาพของประเทศในหลากหลายมิติ บนแนวคิดพื้นฐาน 3 ประกาศ ได้แก่ ต่อยอดอดีต , ปรับปัจจุบัน และ สร้างคุณค่าใหม่ในอนาคต
3. ยุทธศาสตร์ชาติการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ : พัฒนาคนในทุกมิติ ทุกช่วงวัย ให้เป็นผู้้ที่มีความรู้ ความสามารถ และมีคุณภาพ
4. ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม : ให้ความสำคัญกับการดึงเอาพลังของภาคส่วนต่างๆ มาร่วมขับเคลื่อน และเตรียมความพร้อมให้ประชากรเป็นผู้ที่มีคุณภาพ สามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งภาครัฐจะให้หลักประกันการเข้าถึงและสวัสดิการที่มีคุณภาพอย่างเป็นธรรม
5. ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม : เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดยุทธศาสตร์ให้ได้มากที่สุด ภายใต้การดำเนินการบนพื้นฐานของการเติบโตร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืนและมั่งคั่่งต่อไป
6. ยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ : เน้นการพัฒนาที่สำคัญเพื่อปรับเปลี่ยนภาครัฐที่จากเดิมยึดหลัก “ภาครัฐของประชาชน เพื่อประชาชน และประโยชน์ส่วนรวม” ทั้งนี้ ภาครัฐต้องมีขนาดที่เหมาะสมกับบทบาทของภารกิจ และต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกในปัจจุบันอยู่เสมอ
จะ “เดินหน้า” หรือ “ถอยหลัง”
หลังจากที่มีการประกาศใช้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี บังคับใช้อย่างเป็นทางการนั้น ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงแผนดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่างๆ นาๆ โดยนายสุริยะใส กตะศิลา มีความเห็นว่า
“ส่วนตัวเห็นด้วยที่จะมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ออกมาใช้ เพราะประเทศไทยจะได้มีการวางแผนและสามารถขับเคลื่อนประเทศให้บรรลุเป้าหมายและวิสัยทัศน์ที่วางไว้ ซึ่งในหลายประเทศที่มีการพัฒนาก็มีแผนยุทธศาสตร์และเป้าหมายที่ชัดเจน”
ขณะที่นายบรรยง พงษ์พานิช อดีตคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ มีความเห็นต่อแผนดังกล่าวในทางกลับกันว่า
“แผนดังกล่าวไม่มีกลยุทธ์ ไม่มีการจัดลำดับความสำคัญ ส่วนตัวมองว่าเป็นแค่การเขียนสิ่งที่เราต้องการลงไปตามใจของคนเขียนเท่านั้น อยากได้อะไรก็เขียนลงไป ซึ่งถ้าทำตามทุกอย่าง บอกเลยว่า เจ๊งแน่นอน เนื่องจากทรัพยากรมีไม่เพียงพอ และถ้าไม่ปฏิบัติตามก็เข้าข่ายผิดกฎหมายอีก”
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ประเทศไทยจะ “เดินหน้า” หรือ “ถอยหลัง” นั้น เราไม่สามารถทำนายหรือคาดเดาได้แน่นอน ทิศทางของประเทศจะเป็นอย่างไร สุดท้ายแล้ว คุณเท่านั้นที่จะเป็นผู้ร่วมกำหนดทิศทางของประเทศว่าจะให้เดินไปในทิศทางไหน ซึ่งก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะเห็นประชาชนคนไทยสมัครสมานสามัคคี เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยให้เดินหน้าไปในทางที่ดีต่อไป และนี่คือหนึ่งในวิถีแห่ง กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต