ไขข้อเข้าใจผิด เมื่อโรคพังผืดในปอด ร้ายพอๆ กับมะเร็ง

0
1275
kinyupen

ผู้ที่ไอเรื้อรังต้องระวังไว้ อาจสับสนว่าเป็นโรคโควิด-19 โรคพังผืดในปอด หรือโรคปอดทั่วๆ ไปกันแน่ อาการคล้ายกันเลย ทั้งอาการหอบเหนื่อย ไอแห้ง อ่อนเพลียนั้น เอกซเรย์เจอพังผืดในปอด ไม่รู้ว่าโรคอะไรกันแน่

 

รู้ไหม? ปอดสำคัญแค่ไหน เมื่อปอดเสียหาย ถูกทำลาย จะเป็นแผลอย่างถาวร และหากปอดถูกทำลายอย่างรุนแรง จะลุกลามกลายเป็นโรคพังผืดในปอดได้ด้วย ในขณะที่มัวแต่สับสนเรื่องการหายใจ ให้รีบสังเกตตัวเอง แล้วไปตรวจดีกว่าไหม

 

กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต จะมาแก้ไขข้อเข้าใจผิด เกี่ยวกับโรคปอด และโรคพังผืดในปอดกัน โดยนำข้อมูลจากงานสัมมนาสด “เติมเต็มลมหายใจ” ในเฟซบุ๊กเพจ รู้ไว้ไอแอลดี มาสรุปให้ฟังค่ะ

 

โควิด-19 ส่งผลกระทบด้านสุขภาพกับประชาชนทั่วโลก ยิ่งหากโดนโควิด-19 โจมตี ปิดถูกทำลายอย่างรุนแรง ก็นำไปสู่โรคพังผืดในปอดได้ เป็นปัญหาเรื้อรัง ยากแก่การดูแล

 

พังผืดในปอด กับ โรคพังผืดในปอดไม่ใช่อันเดียวกัน พังผืดในปอดคือ “แผลเป็น” ในปอดทั้งสองข้าง แต่โรคพังผืดในปอดคือมีหลายตำแหน่ง ยิ่งลุกลามยิ่งอันตราย

อย่าง วัณโรคปอด เป็นแล้วหาย เรียกว่าแผลเป็น, โควิด-19 ที่ทิ้งแผลเป็นเล็กๆ น้อยๆ ในปอดไม่ร้ายแรง

 

ฟังดูอาจรู้สึกเฉยๆ แต่โรคพังผืดในปอดร้ายแรงพอๆ กับโรคมะเร็ง หากเกิดพังผืดในปอด ผู้ป่วยจะสูญเสียการทำงานของปอดส่วนนั้น ถาวร! แล้วยิ่งพังผืดกระจายทั่วปอด กำลังการหายใจจะยิ่งน้อย เสี่ยงภาวะการหายใจล้มเหลว ต้องใช้ออกซิเจนช่วยหายใจ

 

โรคพังผืดในปอด หรือ FibroticILD (FibroticInterstitial Lung Disease) มักได้รับการวินิจฉัยที่สายเกินไป เพราะอาการของโรคใกล้เคียงกับโรคอื่นที่เราคุ้นเคย ท้าทายการคัดกรองโรคอย่างมาก ทำให้อาการลุกลามรุนแรง มีอัตราการเสียชีวิตสูง

 

อาการน่าสงสัยว่าจะเป็นโรคพังผืดในปอด

  • ไอแบบไม่มีเสมหะ (ไอแห้ง) มากกว่า 2 เดือนขึ้นไป
  • มีอาการหอบเหนื่อย (dyspnea) มากกว่า 2 เดือนขึ้นไป โดยหาสาเหตุไม่พบ
  • เสียงหายใจของปิดผิดปกติที่ชายปอดทั้งสองข้าง ช่วงที่หายใจเข้า (bibasilar inspiratory crackles)
  • ผู้ป่วยมีอายุ 40 ปีขึ้นไป

 

เมื่อมีอาการใดอาการหนึ่ง ต้องไปทำการตรวจเพิ่มเติม เอกซเรย์ปอดส่งให้แพทย์เฉพาะทางวินิจฉัย บางรายอาจต้องมีการซักประวัติจากอาชีพที่เกี่ยวข้องกับโลหะหนัก หากวินิจฉัยแล้วต้องมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการลุกลาม และให้รับการรักษาอย่างครบถ้วน

 

อาการเบื้องต้นที่บอกว่าเป็นโรค ไอเรื้อรัง เหนื่อยเวลาที่ต้องออกแรง ต้องสังเกตตัวเองถ้าทำกิจกรรมแล้วเหนื่อยมากกว่าปกติ ถ้าใครไม่ค่อยออกแรง จะพบโรคนี้ช้า เราจึงต้องออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้พบอาการแล้วไปตรวจ

 

การรับประทานอาหาร ดูแลตัวเอง

โภชนาการก็สำคัญ เพราะต้องใช้พลังงานในการหายใจเยอะ ต้องได้สารอาหารเพียงพอ โดยเฉพาะในกลุ่มโปรตีน ส่วนกิจกรรมที่ทำในชีวิตประจำวันก็ทำได้ตามที่เหมาะสม

 

อาหารบำรุงปอดอย่างรังนก ไม่มีอยู่จริง สิ่งสำคัญคือจัดโภชนาการให้เพียงพอ ทานอาหารให้ครบทุกหมู่ รักษาน้ำหนักให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

 

Q & A โรคปอด โรคพังผืดในปอด

การออกกำลังกายช่วยฟื้นฟูปอดได้ไหม?

การออกกำลังกายสำคัญต่อโรคเรื้อรังทุกโรค ถึงแม่ผู้ป่วยโรคปอดทุกคนจะมีอาการอ่อนเพลีย เมื่อต้องออกแรงมาก แต่อย่าไม่กล้าออกกำลังกายเพราะกลัวเหนื่อย เพราะการออกกำลังกายสามารถฟื้นฟูสมรรถภาพปอดได้ด้วย

 

โดยต้องทำตามคำแนะนำของนักกายภาพบำบัด วางโปรแกรม และระยะเวลา อย่างเหมาะสม แค่มีกิจกรรมในชีวิตประจำวันปกติก็ดีแล้ว อย่าลดการเคลื่อนไหวลงกว่าเดิม

 

โรคพังผืดในปอดรักษาหายไหม?

พังผืด (แผลเป็น) เป็นแล้วไม่หายขาด ไม่กลับมาปกติ ในระยะยาวทำให้ปอดเสื่อมลงเรื่อยๆ หายใจไม่ไหว หายใจไม่ทัน

การดูแลรักษา อย่างยาต้านพังผืดช่วยบรรเทาได้เบื้องต้น ไม่ได้ช่วยรักษา แค่ทำให้ปอดเสื่อมช้าลง

 

รักษาไม่หาย ปลูกถ่ายปอดช่วยได้ไหม?

ปลูกถ่ายได้ แต่ไม่แนะนำ ต้องกินยากดภูมิตลอดชีวิต อีกทั้งโรคนี้สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ เพราะไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ

และในประเทศไทย การเปลี่ยนปอดยังทำได้ไม่ดีหนัก ไม่ใช่ทางเลือกที่ดี ต้องระวังเรื่องโรคร่วมด้วย เสี่ยงปอดอักเสบ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ตอนนี้ที่ทำได้คือชะลอการเสื่อมของปอด

 

มลพิษทางอากาศ บุหรี่ มีผลต่อโรคหรือไม่?

ต้องเป็นการสัมผัสระยะยาว แต่สิ่งที่ต้องระวังคือบุหรี่ที่ใกล้ตัวเรามาก บุหรี่เพิ่มโอกาสการเป็นโรคพังผืดในปอดอย่างชัดเจน แถมพัฒนาเป็นมะเร็งได้ เพราะมีบุหรี่เป็นสาเหตุ

ส่วนมลพิษอื่นๆ พวกสารเคมี ระวังไว้ เพื่อป้องกันตัวเอง และรักษาโรคพังผืดในปอดได้เร็ว

 

คนไข้โรคปอดฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม?

ควรจะฉีด เพราะเดิม กำลังสำคัญของปอดเราน้อยอยู่แล้ว ต้องป้องกันไว้ก่อน

 

โรคนี้ทำให้ไอหนักมากๆ เสี่ยงโรคแทรกซ้อนอื่นๆ อีกหรือไม่?

มีคนไข้เคสหนึ่งเล่าว่าอยู่ดีๆ ก็จะไอ หากไอตอนกินข้าว อาหารจะพุ่งกระจาย เคสแบบนี้เสี่ยงเกิดการสำลักอาหาร และมีโอกาสที่อาหารจะไปติดที่หลอดลม หายใจไม่ออก แค่อาหารลงหลอดลม ก็เสี่ยงติดเชื้อในปอด และการสำลักอาหารก็เป็นสาเหตุตั้งต้นของปอดอักเสบได้อีกด้วย

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

เกร็ดน่ารู้ “โรคพังผืดในปอด” มีอาการอย่างไร อันตรายถึงชีวิตหรือไม่

 

สุดท้ายนี้แม้โรคพังผืดในปอดนี้จะเป็นอย่างถาวร แต่หากเจอโรคนี้ไว สังเกตอาการตัวเองได้จะช่วยชะลอการเสื่อมของปอดได้ทัน ดังนั้นไม่ว่าโรคใดก็ตาม ต้องสังเกตตัวเองและคนรอบข้างอย่างใกล้ชิด รีบตรวจ รีบรักษา จะได้ใช้ชีวิตอย่างปกติที่สุด

สิ่งสำคัญอย่างการรับประทานอาหารอย่างถูกหลัก และการออกกำลังกายเป็นประจำ ยังคงช่วยชีวิตได้เสมอ แม้จะเป็นโรคที่รักษาไม่หายก็ตาม

kinyupen