ทำความรู้จัก 3 น้ำ “เพิ่มอารมณ์” หงุดหงิด ก้าวร้าว ใจสั่น

0
9
kinyupen

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เผยการกินอาหารและเครื่อมดื่ม ที่มีน้ำตาลสูง-แอลกอฮอล์-คาเฟอีน สามารถส่งผลต่ออารมณ์และจิตใจได้อย่างมีนัยสำคัญ อาจทำให้เกิดอาการหงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน หรือแม้กระทั่งภาวะซึมเศร้า โดยคุณสมบัติของส่วนประกอบทั้ง 3 ชนิดจะส่งผล ดังนี้

น้ำตาล การบริโภคน้ำตาลในปริมาณมากเกินไป สามารถส่งผลเสียต่ออารมณ์และสุขภาพจิตได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอาการอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย และรู้สึกไม่มั่นคงทางอารมณ์

ผลกระทบของน้ำตาลต่ออารมณ์

การบริโภคน้ำตาลมากเกินไปทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงอย่างรวดเร็ว และลดลงอย่างฉับพลัน ส่งผลให้ร่างกายรู้สึกเหนื่อยล้า ง่วงนอน และอารมณ์แปรปรวน เมื่อบริโภคน้ำตาล สมองจะหลั่งสารโดพามีน ซึ่งเป็นสารแห่งความสุข ทำให้รู้สึกดี แต่เมื่อหยุดบริโภคน้ำตาล ร่างกายจะเกิดอาการคล้ายการถอนสารเสพติด เช่น หงุดหงิด โมโหง่าย และซึมเศร้า หากบริโภคน้ำตาลมากเกินไปอาจรบกวนการทำงานของฮอร์โมนและสมอง ทำให้เกิดอาการอารมณ์แปรปรวน ขี้หงุดหงิด สมาธิสั้น และนอนไม่หลับ

สัญญาณเตือนเมื่อกินน้ำตาลมากเกินไป

1.รู้สึกหงุดหงิดหรืออารมณ์ไม่ดีเมื่อไม่ได้กินของหวาน

2.มีอาการง่วงนอน อ่อนล้า หลังจากบริโภคอาหารที่มีน้ำตาลสูง

3.มีปัญหาในการนอนหลับหรือรู้สึกไม่สดชื่นหลังตื่นนอนมีความอยากอาหารหวานอย่างต่อเนื่อง

แอลกอฮอล์

การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือเครื่องดื่มที่มีสารเอทานอล(ethanol) เป็นส่วนประกอบหลัก มักพบในสุรา เบียร์ ไวน์ เป็นต้น ส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ถือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะเมื่อดื่มในปริมาณมากหรือเป็นประจำ

ผลกระทบของแอลกอฮอล์

แอลกอฮอล์มีฤทธิ์กดสมองส่วนกลาง ทำให้ผู้ดื่มมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย ขาดความยับยั้งชั่งใจ และมีพฤติกรรมก้าวร้าวมากขึ้น ผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำมีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยเป็นโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า โรคจิตเภท โรคอารมณ์สองขั้ว (ไบโพลาร์) และโรควิตกกังวล โดยมีโอกาสป่วยสูงกว่าคนทั่วไปหลายเท่า การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากอาจทำให้เกิดอาการหูแว่ว หวาดระแวง และความจำบกพร่อง ซึ่งเป็นสัญญาณของปัญหาทางจิตที่รุนแรง แอลกอฮอล์สามารถกระตุ้นให้เกิดภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวล โดยเฉพาะในผู้ที่มีประวัติของปัญหาทางจิตเวชมาก่อน

ผลกระทบจากการติดแอลกอฮอล์

1.รู้สึกหงุดหงิดหรืออารมณ์ไม่ดีเมื่อไม่ได้ดื่ม

2.มีอาการนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร หรือรู้สึกอ่อนเพลีย

3.มีอาการหูแว่ว หวาดระแวง หรือสับสน

4.มีปัญหาในการจำหรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

คาเฟอีน (Caffeine)

เป็นสารแซนทีนอัลคาลอยด์ (Xanthine alkaloid) ซึ่งพบมากใน เมล็ดกาแฟ ใบชา เมล็ดโกโก้ เมล็ดโคล่า เป็นสารสีขาวที่มีรสขม ไม่มีกลิ่น ในปัจจุบันเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

เนื่องจากคาเฟอีนกระตุ้นการทำงานของสมองและระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ร่างกายรู้สึกตื่นตัว กระปรี้กระเปร่า ลดความง่วง ทำให้รู้สึกสดชื่น มีสมาธิ และลดความเหนื่อยล้าลงได้ ทั้งช่วยในเรื่องระบบไหลเวียนโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันเลือด กระตุ้นกลไกการคิดรวดเร็ว และสมาธิจดจ่อ และสารซีโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้รู้สึกมีความสุข แต่ก็มีข้อเสียเช่นกัน

ผลข้างเคียงจากการดื่มคาเฟอีนมากเกินไป

อาจทำให้เกิดภาวะคาเฟอีนเป็นพิษ (Caffeine intoxication) ซึ่งเป็นภาวะที่ระบบส่วนกลางของร่างกายถูกกระตุ้นมากเกินไป ทำให้ร่างกายและจิตใจแสดงออกซึ่งอาการ เช่น หน้าแดง วิงเวียนศีรษะ ปวดหัว หงุดหงิด ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ กล้ามเนื้อกระตุก นอนไม่หลับ ความดันโลหิตสูง กระสับกระส่าย วิตกกังวล ความคิดและการพูดสับสน ปัสสาวะมากผิดปกติ ปวดท้อง ร่างกายขาดน้ำ รวมถึงอาจขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมในร่างกายได้

เมื่อการบริโภคคาเฟอีนในปริมาณมาก ๆ เป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เกิดภาวะเสพติดคาเฟอีน (Caffeinism) เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็กอักเสบ หรือ โรคน้ำย่อยไหลย้อนกลับ ความดันโลหิตสูง กระสับกระส่าย วิตกกังวล ใจสั่น กล้ามเนื้อกระตุก และนอนไม่หลับ เป็นต้น ซึ่งความสามารถในการรับปริมาณคาเฟอีนของแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและสภาพร่างกายของบุคคลนั้น อาจส่งผลทำให้มีอาการดังนี้

  • ปวดศีรษะ
  • อาการง่วงหงาว หาวนอน
  • หงุดหงิด กระสับกระส่าย กระวนกระวาย
  • คลื่นไส้
  • มีปัญหาในเรื่องสมาธิจดจ่อ
  • เหน็ดเหนื่อย
  • มีอาการเจ็บกล้ามเนื้อ

ในผู้ที่บริโภคคาเฟอีนเป็นประจำแล้วต้องการเลิกคาเฟอีน อาจมีอาการข้างเคียงจากการขาดคาเฟอีนตามมา โดยอาการเหล่านี้จะค่อย ๆ แสดงออกหลังจากที่งดการบริโภคคาเฟอีนไปแล้ว 12-24 ชม. โดยมีระยะในการแสดงอาการประมาณ 2-9 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล จากนั้นอาการจึงจะค่อย ๆ หายไป

ข้อมูล : สสส.

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here