เมื่อโลกอยู่ยาก พลิกมุมคิด ปลดล็อคอย่างไรดี ทำไม ฉันจึงทุกข์ ขณะที่ทุกคนมีความสุข

0
673
kinyupen

เพราะสังคมในยุคดิจิตอลที่เราเข้าถึง story ของคนรอบตัว ทั้งชีวิตลักซ์ชู  แบบลูกคุณ แบบตัวแม่ ตัวมัม กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตเชื่อว่า  บ่อยครั้งที่ทุกคนจะรู้สึก ว่าทำไมชีวิตคนอื่นช่างดีเหลือเกิน ทำไมทุกคนมีความสุข แต่ฉันจึงทุกข์

กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตจึงขอนำแก่นจากหนังสือ “ทำไมฉันจึงทุกข์ ขณะที่ทุกคนมีความสุข”ของคิมซังจุน จิตแพทย์ชาวเกาหลีใต้ ที่แปลไทยโดย  สิริภรณ์ สงวนสิน  มาคลี่ดูเผื่อว่าเราจะสามารถใช้เป็นแนวทางให้เราทำความรู้จักตัวเอง เรียนรู้ที่จะรักตัวเองให้มากขึ้น รวมถึงวิธีจัดการกับอารมณ์ และความรู้สึก

อันดับแรกก่อนจะเข้าเรื่อง ต้องเข้าใจพื้นฐานก่อนว่า เหตุที่เราทุกข์ บางทีไม่ใช่ฟุ้งซ่านแต่มาจากการทำงานของระบบสมอง ในเชิงจิตวิทยาบอกว่า สมองของคนเราจะจดจำความทุกข์มากกว่าความสุข ทั้งนี้เพราะเป็นกลไกที่เรียกว่า  “ความจำเป็นเพื่อการอยู่รอด” (Evolutionary standpoint) ยกตัวอย่างให้ง่าย ระหว่างความสุขตอนแรกรักกับความทุกข์ตอนเลิกรัก อย่างหลังจะอยู่ในความทรงจำยาวนานกว่า  หรือให้ง่ายขึ้นอีก ระหว่างเก็บเงินได้ กับทำเงินหาย ประการหลังสร้างความเสียดายยาวนานกว่า

หมอคิมซังจุน ผู้เขียนได้หยิบยกเคสของคนไข้ รวมถึงเรื่องราวในบทภาพยนตร์เป็นตัวอย่างที่ชี้ถึงทางออก อันแรก หากเรามีความทุกข์ใจ หรือบาดแผลวัยเด็กจนกลายเป็นความหวาดกลัวในชีวิต  สิ่งที่เราควรทำคือ หาคนที่เราสามารถพูดคุยได้ ให้คำปรึกษา แต่ทั้งนี้ที่สำคัญต้องเลิกลงโทษตนเอง สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพราะกรรม ไม่ใช่เพราะเราไม่ดี แต่เป็นเพียงอดีตที่เกิดขึ้นแล้วเราต้องก้าวข้าม ไม่จำเป็นที่ต้องแบกอดีตติดตัวไปตลอดชีวิต

ความรู้สึกแย่ ความรู้สึกทุกข์ที่แบกไปเรื่อย ๆ เปรียบเสมือน “คุก” ที่เราสร้างขึ้นเพื่อขังตัวเอง เป็นคุกทางใจ ที่เกิดได้จากหลายปัจจัย  ทั้งกังวลไปล่วงหน้า   กลัว  ไม่มั่นใจ  อยากมีอยากได้ ไปจนถึง อคติ ไม่ชอบใจ

สิ่งต่างๆเหล่านี้ ถ้าเปลี่ยนให้เป็นมุมที่ดี ทำให้เกิดความตั้งใจ รอบคอบ และระวัง ก็จะเป็นเรื่องดี แต่ถ้าปล่อยให้เป็นความรู้สึก เป็นอารมณ์ ก็กลายเป็น บ่อเกิดแห่งทุกข์

สิ่งที่หมอคิมซังจุนแนะนำ จะเหมือนหลักธรรมทางพุทธ คือ “สติ” หมายถึง นิ่ง คิด ไตร่ตรอง หรือ จะทำสมาธิ เพื่อหยุดความคิดและแยกให้ออกว่า “ความรู้สึกนั้นมีเหตุจากอะไร” จากนั้นเราจะ นิ่งได้มากขึ้น เห็นภาพที่ชัดขึ้น

ต่อมาข้อ 2 ในส่วนอารมณ์โกรธ  เกลียด อิจฉา ความอคติ ไม่ชอบใจ ที่ปัจจุบันนี้ผู้คนเป็นมากขึ้น  ส่งผลต่อความสัมพันธ์กับคนรัก  เพื่อน รวมถึงคนในครอบครัวนั้น เหมือนคำแนะนำจะบอกว่าเราสามารถ โกรธ เกลียด อิจฉาได้ แต่ให้เห็นและเข้าใจทุกครั้งที่มีอารมณ์  จากนั้นหาวิธีที่จะปรับลดความแรงของอารมณ์ เหมือนกับการหรี่เสียงวิทยุ  ซึ่งฝึกบ่อยครั้งทั้งรู้ทันอารมณ์ ความคิด รวมถึงลดความแรงของอารมณ์ลง เราจะรู้วิธี ระบายออกมายังไงที่ทั้งเราและความสัมพันธ์ระหว่างกันไม่เจ็บปวด

ข้อ 3  เสียใจและยึดกับ “ความผิดหรือเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว ทำไปแล้ว ยึดกับคำว่า “ถ้า” ซึ่งในความเป็นจริง ไม่มีใครสามารถแก้ไขได้ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ  ความประมาท  ความไม่ตั้งใจที่ก่อให้เกิดความสูญเสีย เป็นบาดแผลในชีวิต  ข้อแนะนำบอกว่าสิ่งที่ควรทำคือ ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น และตั้งใจใหม่ว่าจะ แก้ไข พร้อมก้าวไปข้างหน้าทีละก้าว  บอกตัวเองว่าจะทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ

ข้อ 4  ความรู้สึกที่ว่าชีวิตนี้ช่างไม่น่าพอใจ  ทำไมฉันช่างโชคร้าย ทำไมต้องเป็นฉัน ในมุมนี้เชื่อว่าหลายคนคงรู้สึก ซึ่งสิ่งที่หมอคิมซังจุน ให้ข้อคิดมีความน่าสนใจที่ว่า หากเราไม่จมกับความคิดนี้แต่มองตามสภาพความเป็นจริง และปรับความคิดว่า  “ฉันแก้ไขมันได้”  เพราะทุกคนมีสิทธิ์เลือกในสิ่งที่จะเป็น และทำให้ดีขึ้น

สุดท้ายที่น่าสนใจ คือ คำที่เราพร่ำบ่นว่าทำไมต้องเป็นฉันที่ทุกข์ ขณะที่คนอื่นมีความสุข นั้นเป็นเพราะ เรามักมองสนามหญ้าหน้าบ้านคนอื่นสวยเสมอ เนื่องจากในชีวิตจริงทุกคนที่เกิดมามีทั้งสุขและทุกข์ปนกัน เพียงแต่เรามองเห็นแต่ความสุขของคนอื่นชัดเจนกว่าความทุกข์ของเขา  หรือในอีกมุมหนึ่งทุกครั้งที่มีปัญหาหรือมีทุกข์หากเราปรับเป็น ว่า ขอบคุณที่วันนี้มีปัญหาเพราะทำให้เราได้เรียนรู้ และจะไม่ผิดในอนาคต

และคำแนะนำท้ายที่สุด คือ เราต้องหัดขอบคุณ หัดชื่นชมตัวเราเองในทุกความสำเร็จ แม้จะเป็นความสำเร็จเล็กน้อยก็ตาม  หรือขอบคุณตัวเองที่เรามีร่างกายครบ 32 ขอบคุณที่เราก้าวข้ามอุปสรรค เราช่างเก่งเหลือเกินในการตัดสินใจครั้งนี้  เพราะสิ่งเหล่านี้จะถูกบันทึกในสมอง ทำให้เราเครียดน้อยลง และมีความสุขเพิ่มขึ้นในทุกวัน

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here