ต้นตอฝุ่น PM 2.5 เข้าขั้นวิกฤติ  “รัฐบาลห่วย-เกษตรเสื่อม”  ถึงเวลาคนไทยต้องเอาจริง

0
371
kinyupen

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ้งภากรณ์ ได้เปิดเผยบทความ ทรรศนะของนักวิชาการต่อการพัฒนาในมิติต่าง ๆ ของไทย ในหัวข้อ “16 ความคิดเพื่อชีวิตคนไทย : สิ่งที่เป็น ปัญหาที่เห็น และประเด็นชวนคิด”

โดยหนึ่งในเรื่องที่น่าสนใจ และเข้ากับสถานการณ์ในขณะนี้ คือ หัวข้อ “มลพิษทางอากาศ : ฝุ่นพิษ PM2.5 มะเร็งร้ายที่ทำลายสุขภาพคนไทยเพิ่มขึ้น” โดย อาจารย์วิษณุ อรรถวานิช จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และอาจารย์ภูมิสิทธิ์ มหาสุวีระชัย จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ดังนี้

สิ่งที่เป็น

ในปี 2564 องค์การอนามัยโลกยกระดับการเตือนภัยฝุ่นพิษ PM2.5 ต่อสุขภาพ เพราะเป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ มากมาย เช่น มะเร็งปอด หัวใจล้มเหลว ฯลฯ

สำหรับประเทศไทย ค่าฝุ่นพิษ PM2.5 ในทุกจังหวัดสูงกว่าค่าแนะนำขององค์การอนามัยโลกหลายเท่าตัว สร้างผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างมหาศาล โดยในระยะสั้น คนไทยต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาอาการป่วย สูญเสียโอกาสในการทำงานหารายได้ สูญเสียร่างกายที่แข็งแรง และสูญเสียความสุขเพราะต้องอยู่แต่ในบ้านช่วงที่ค่าฝุ่นสูง  ประเมินมูลค่าความเสียหายจาก PM2.5 ต่อครัวเรือนไทยไว้สูงถึง 2.173 ล้านล้านบาท ในปี 2562 ขณะที่ในระยะยาว ปัญหามลพิษทางอากาศจะทำให้ประเทศสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยว สูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก และสูญเสียคนที่มีศักยภาพสูง

ปัญหาที่เห็น

รัฐบาลไทยได้นำแผนปฏิบัติการวาระฝุ่นแห่งชาติมาใช้ในปี 2562 อย่างไรก็ตาม แผนดังกล่าวไม่สามารถลดฝุ่นพิษจากแหล่งกำเนิดได้ สะท้อนจากหลักฐานต่าง ๆ เช่น

1.ปริมาณรถยนต์และรถบรรทุกเก่าในระบบที่ปรับเพิ่มขึ้น

จากตัวเลขของกรมการขนส่งทางบก ระบุปริมาณรถบรรทุกเก่าในระบบเพิ่มขึ้น  โดยรถบรรทุกเก่าที่มีอายุเกินกว่า 20 ปี เพิ่มขึ้นจากปี 2555 มีสัดส่วน  21.59% ของรถบรรทุกในระบบ เพิ่มขึ้นเป็น 33.40%  ในปี 2565 ขณะที่รถบรรทุกใหม่ที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี ในปี 2555 อยู่ที่  23.12% กลับลดลงเหลือ 20.05%  ในปี 2565

2.มาตรการลดการเผาอ้อยโรงงานที่ทำไม่ได้ตามเป้าหมายและยิ่งห่างไกลจากเป้าหมายมากขึ้น

โดยมติครม.กำหนดให้ ฤดูกาลผลิตอ้อยปี 2564-2565 มีสัดส่วนอ้อยไฟไหม้ 10% แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง คือ มีอ้อยไฟไหม้ถึง 27.28%  ขณะที่มติครม. กำหนดฤดูกาลผลิตปี 2565-2566 ให้มีอ้อยไฟไหม้ เพียง 5% แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง มีอ้อยไฟไหม้ถึง 32.76%

3. ข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีการเผามากกว่าอ้อย แต่กลับยังไม่มีมาตรการที่เป็นรูปธรรม รวมถึงมาตรการอุดหนุนพืชดังกล่าวอาจมีผลทางอ้อมที่ทำให้การเผาไม่ลดลง

4.ภาคป่าไม้ก็พบการเผาที่มากขึ้นในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากขาดมาตรการสนับสนุนให้ชุมชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและมาตรการจูงใจเชิงเศรษฐศาสตร์

สำหรับมลพิษข้ามพรมแดนยังมีมาตรการน้อยและพบว่าบริษัทเอกชนของไทยมีส่วนสนับสนุนให้เกิดการเผาในประเทศเพื่อนบ้านผ่านการส่งออกเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดและการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

ในภาคอุตสาหกรรมยังไม่ได้จัดทำทําเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ ทำให้ชุมชนไม่รู้ข้อมูลการปล่อยมลพิษของโรงงานในพื้นที่ สาเหตุที่แผนฯ ไม่สัมฤทธิ์ผล ส่วนหนึ่งมาจากงบประมาณรายจ่ายปกป้องสิ่งแวดล้อมที่มีน้อยมาก โดยน้อยกว่ามาเลเซียถึง 2 เท่า รวมถึงรูปแบบการใช้งบประมาณไม่ได้ช่วยสร้างแรงจูงใจให้กับผู้เกี่ยวข้องในการลดมลพิษ

นอกจากนั้น ปัญหาเชิงโครงสร้างก็ยังไม่ได้แก้ไข โดยเฉพาะการไม่มีหน่วยงานดูแลสิ่งแวดล้อมที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอากาศสะอาดที่บูรณาการและยืดหยุ่นผ่านการนำมาตรการจูงใจเชิงเศรษฐศาสตร์มาใช้

ประเด็นชวนคิด

เมื่อแผนระดับชาติทำไม่ได้ตามเป้าหมายและยังไม่ครอบคลุมสาเหตุของปัญหาทั้งหมด

เราควรมีแนวทางอย่างไรเพื่อให้แผนที่วางไว้ถูกขับเคลื่อนได้จริง?

เราควรสร้างกลไกเพิ่มเติมอย่างไรเพื่อแก้ปัญหาที่ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน โดยเฉพาะในภาคการเกษตรที่เป็นทั้งแหล่งอาหาร รายได้ แต่ก็ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศด้วยเช่นกัน?

เราควรให้รางวัลกับหน่วยงานที่ทำได้สำเร็จตามแผนและลงโทษหน่วยงานที่ทำไม่ได้ตามแผนอย่างไร?

ทำอย่างไรที่มาตรการจูงใจเชิงเศรษฐศาสตร์ที่ถูกต้องจะถูกนำมาใช้ให้มากขึ้น?

ปัจจุบันอันดับคุณภาพอากาศโดยรวมของไทยแย่ลงจากอันดับที่ 85 ในปี 2563 เป็นอันดับที่ 93 ของโลกในปี 2565

ได้เวลาแล้วหรือยังครับ ที่เราจะช่วยกันแก้ปัญหาเพื่อสุขภาพที่ดีถ้วนหน้าของคนไทยทุกคน?

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here