เมืองไทยเป็นเมืองร้อน แต่ถ้าจะร้อนแบบทุกวันนี้ก็ไม่ไหว บางวันก็ร้อนเหมือนจะเป็นลม หน้ามืด ยิ่งเวลาที่ต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง ยิ่งต้องระวัง “โรคลมแดด” หรือ Heat Stroke ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน อาการมีตั้งแต่แบบเบาๆ เช่น หน้าแดง ตัวร้อน กระหายน้ำ จนถึงขั้นเป็นลมหมดสติ กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต มีวิธีเอาตัวรอดในช่วงอากาศร้อน เพื่อป้องกันโรคลมแดดมาฝาก
เราสามารถหลีกเลี่ยงการเป็น โรคลมแดด ได้ด้วยการสวมใส่เสื้อผ้าโปร่ง ระบายลมได้ง่าย รวมถึงการหาอุปกรณ์ตัวช่วยในการป้องกัน เช่น ร่มที่กันรังสียูวี แว่นกันแดดหรือหมวก และการใช้ครีมกันแดดที่มี SPF มากกว่า 15 ขึ้นไป รวมถึงดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน แต่ถ้าหากมีความจำเป็นต้องอยู่กลางอากาศร้อน ควรดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร
หลายๆคนอาจเลือกวิธีการหาเครื่องดื่มเย็นๆมาทำให้ร่างกายสดชื่น แต่มีเครื่องดื่มชนิดหนึ่งที่ขึ้นชื่อและต้องห้ามเลย นั่นก็คือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะการดื่มแอลกอฮอล์นั้น จะทำให้ร่างกายเราอุณหภูมิสูงขึ้นไปอีก ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ โรคลมแดด เกิดขึ้นได้ง่ายนั่นเอง
วิธีสังเกตอาการโรคลมแดด
#อาการขั้นต้น : “ไม่มีเหงื่อออก” แต่หน้าแดง ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ กระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ คลื่นไส้ หายใจเร็ว
#อาการขั้นต่อมา : อาเจียน เกร็งกล้ามเนื้อ ชัก มึนงง สับสน รูม่านตาขยาย ความรู้สึกตัว ลดน้อยลง อาจหมดสติ หัวใจเต้นเร็วแต่แผ่วเบา
#อาการรุนแรง : ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องและทันเวลา อาจทำให้หัวใจหยุดเต้น และถึงแก่ชีวิตได้
#ผู้เสี่ยง : ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ที่อดนอน ผู้ที่ดื่มเหล้าจัด ผู้ที่ทำงานในสภาพอากาศที่ร้อนชื้น และผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคอ้วน รวมถึงนักกีฬาและทหารที่เข้ารับการฝึกในอากาศร้อนจัด
การปฐมพยาบาลผู้ป่วยโรคลมแดดเบื้องต้น
– นำเข้าในที่ร่ม นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง
– ถ้ามีการอาเจียนให้นอนตะแคงเพื่ออาเจียนก่อนแล้วให้นอนหงาย
– คลายเสื้อผ้าที่รัดแน่นออก
– ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบ ตามซอกลำตัว คอ รักแร้ เชิงกราน ศีรษะ ร่วมกับการใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน
– ให้ดื่มน้ำหรือน้ำเกลือแร่เพื่อทดแทน แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด