หลับยังไง…ให้สุขภาพดี 17 มีนาคม “วันนอนหลับโลก”

0
585
kinyupen

ทุกวันที่ 17  มีนาคมของทุกปีเป็น “วันนอนหลับโลก”  ใครจะคิดว่าแค่นอนหลับก็เท่ากับออกกำลังกายรูปแบบหนึ่ง อย่าลืมว่าในหนึ่งวัน เราใช้ร่างกายไปกับการทำกิจกรรมต่างๆทั้งวัน ดังนั้น การให้รางวัลกับร่างกายที่เหนื่อยล้าก็คือการพักผ่อน นอนหลับในช่วงเวลาที่เหมาะสมและมีคุณภาพ กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต มีสาระดีๆจากกรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคทรวงอก มีข้อแนะนำเรื่องการนอนหลับอย่างเพียงพอและมีคุณภาพเพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมาฝาก

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า การนอนหลับที่ดีเป็นผลดีต่อสุขภาพ เราจึงควรตระหนักและให้ความสำคัญของการนอนหลับอย่างเพียงพอและมีคุณภาพ การนอนหลับที่ดีต้องคำนึงถึง

1. ระยะเวลาการนอนหลับที่เหมาะสมตามวัย ดังนี้ ทารก 0-2 เดือน ต้องการนอน 12 – 18 ชม., ทารก 3 – 11 เดือน ต้องการนอน 14 – 15 ชม., เด็กต้องการนอน 11 – 12 ชม., วัยรุ่นต้องการนอน 8 – 9 ชม., ผู้ใหญ่และวัยสูงอายุต้องการนอน 7 – 8 ชม., สตรีมีครรภ์ต้องการนอน อย่างน้อย 8 ชม.ขึ้นไป

2. คุณภาพการนอนหลับที่ดีไม่ถูกรบกวนให้ตื่นระหว่างหลับ การนอนหลับอย่างเพียงพอและมีคุณภาพ จะส่งผลดีต่อร่างกายได้แก่ การสร้างภูมิคุ้มกันและควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย, เพิ่มการหลั่งของฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโตและซ่อมแซมเนื้อเยื่อต่างๆ, ลดการหลั่งของฮอร์โมนที่เพิ่มการย่อยสลายพลังงาน เพื่อเก็บสงวนพลังงานไว้ใช้ยามจำเป็น ทำให้ร่างกายได้พักผ่อน, ช่วยให้ความทรงจำและการเรียนรู้สิ่งต่างๆได้ดีขึ้น

นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การนอนหลับที่ดีเป็นสิ่งสำคัญต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ หากเรานอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอจะส่งผลกระทบดังนี้

ผลกระทบระยะสั้น ได้แก่ มีอาการง่วงนอนระหว่างวัน อารมณ์แปรปรวน มีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอกช้าลง มีอาการวูบหลับใน มีโอกาสเกิดอันตรายจากการขับรถหรือการทำงานที่ใช้ความระมัดระวังสูง มีความผิดพลาดในการตัดสินใจ สมาธิความจำไม่ดีส่งผลต่อการเรียน การทำงานในแต่ละวัน

ผลกระทบระยะยาว จะเกิดภาวะเจ็บป่วยง่าย โรคประจำตัวที่เป็นอยู่อาจกำเริบหรือควบคุมได้ยาก ดังนั้นการนอนหลับให้มีสุขภาพที่ดี เราจึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อสุขอนามัยที่ดีในการนอนหลับ (good sleep hygiene) 10 ข้อ ได้แก่

  • 1.ควรเข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลาทุกวัน ทั้งวันทำงานและวันหยุด รวมทั้งควรนอนหลับในระยะเวลาที่เหมาะสมกับช่วงอายุ
  • 2.ไม่แนะนำให้นอนงีบกลางวันนานเกินกว่า 30 นาที และไม่งีบหลับหลังบ่าย 3 โมง (เฉพาะในผู้ใหญ่ ส่วนเด็กอายุน้อยกว่า 6 ปี ควรนอนกลางวันตามปกติ)
  • 3.หลีกเลี่ยงอาหารมื้อหนักและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมคาเฟอีนอย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนนอน
  • 4.หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่อย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนนอน
  • 5. ควรผ่อนคลาย เพื่อลดความวิตกกังวลก่อนนอน
  • 6.ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ใกล้เวลานอนอย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนนอน
  • 7. รับแสงแดดให้เพียงพอในตอนเช้าอย่างน้อย 30 นาทีทุกวัน หลีกเลี่ยงแสงสว่างตอนกลางคืน
  • 8.ควรใช้เตียงนอนเพื่อการนอนเท่านั้น
  • 9.ห้องนอนและเตียงนอนควรมีอุณหภูมิที่เหมาะสมเย็นสบาย ระบายอากาศดี ไม่ควรมีแสงเล็ดลอดเข้ามาและไม่ควรมีเสียงดัง
  • 10.หากขึ้นเตียงนอนแล้วนอนไม่หลับภายใน 30 นาที ควรลุกจากที่นอน ไปทำกิจกรรมผ่อนคลายอื่น และเมื่อรู้สึกง่วงจัดค่อยกลับมานอนใหม่อีกครั้ง

********************************************

ขอขอบคุณ : สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here