โสดยังไงให้สุขสุดๆ 7 แผนการเก็บเงินของคน(ไม่)มีคู่

0
376
kinyupen

ประโยคยอดฮิตที่ใครๆก็มักจะได้ยินในช่วงนี้  “เงินเท่านั้นที่ knock everything ธนบัตรเท่านั้น ที่ทำให้เราได้โบยบิน ขับพอร์เช่ แล้วมันฟิน ฟิน ฟิน เดิน red carpet เข้าปาร์ตี้ที่มีแต่ธีม”  by เปิ้ล ไอริณ ที่ฟังแล้วก็ต้องบอกเลยว่า “จริงแท้แน่นอน” มีเงินก็แก้ปัญหาได้หมดทุกสิ่ง อยากกิน อยากเที่ยว อยากช็อปก็ทำได้ตามใจ ถึงแม้จะไม่มีใครอยู่เคียงข้างก็ตาม การเป็นโสดแบบตั้งใจ (หรือไม่ตั้งใจ) มันก็มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป แต่ถ้าหากเรามี “เงิน” เก็บไว้ใช้ยามฉุกเฉิน หรือเป็นเงินในอนาคตมันก็สามารถช่วยแก้ปัญหาอะไรได้หลายอย่างเลยล่ะ วันนี้กินอยู่เป็น 360  องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้ #ทีมโสด และเราก็ยังมีทริค 7 ขั้นตอนจาก Jitta Wealth แนะนำแนวทางการวางแผนการเงินของคน(ไม่)มีคู่มาฝากทุกคนค่ะ

..

1. จดรายรับ-รายจ่าย เงินเข้าเงินออกต้องรู้

จุดเริ่มต้นของสุขภาพการเงินที่ดี การจดบันทึกรายรับ-รายจ่ายจะทำให้คุณรู้ว่ามีเงินไหลเข้ากระเป๋าจากทางไหน และไหลออกกับอะไรบ้าง

จริงๆ ข้อนี้ทั้งคนโสด คนไม่โสดก็ควรทำเหมือนๆ กัน แต่คนโสดอาจสบายใจกว่าตรงที่ไม่ต้องแบ่งเงินกับใคร ได้เงินมาก็เป็นเรื่องของเราคนเดียว

ที่แปลกแต่จริงก็คือถ้าคุณจดรายรับ-รายจ่ายติดกันสัก 2-3 เดือนแล้วเอามาทำบัญชีแบบง่ายๆ ในสมุดสักเล่มหรือโปรแกรม Spreadsheet คุณจะเริ่มขยับตัว หาทางทำให้ตัวเองมีเงินเหลือเก็บเองโดยธรรมชาติ

ถ้าไม่เชื่อให้ลองทำตามดูครับ ใช้ชีวิตปกติของคุณไป แล้วจดให้หมดว่าจ่ายอะไรไปเท่าไรโดยไม่ต้องรู้สึกผิด อย่าลืมว่าคุณกำลังจัดระเบียบการเงินของตัวเองอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมากๆ

เดี๋ยวนี้มีวิธีจดรายรับ-รายจ่ายเยอะมาก ไม่ว่าจะจดโน๊ตง่ายๆ ในมือถือ หรือจะหาแอปพลิเคชันที่ใช้งานง่ายและฟรีซึ่งมีให้เลือกเยอะ หยิบมือถือออกมากดแค่ไม่กี่ปุ่มก็เสร็จแล้ว

.

2. ตั้งงบประมาณ จัดระเบียบเงิน

หลังจากที่คุณจดรายรับ-รายจ่ายมาสักพัก ก็จะเริ่มเห็นว่าในแต่ละเดือนคุณใช้เงินไปกับอะไรบ้าง ทีนี้ถ้าคุณอยากปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายในแต่ละเดือนให้เป็นไปตามที่ต้องการ ต้องทำยังไง?

การ ‘ตั้งงบประมาณ’ สำหรับค่าใช้จ่ายแต่ละหมวด คือคำตอบครับ

เช่น คุณอยากลดค่าใช้จ่ายในการดื่มกาแฟแต่ละเดือนลงจาก 4,000 ให้เหลือ 3,000 บาท คุณอาจตั้งงบค่ากาแฟในเดือนถัดไปให้เหลือ 3,500 บาทก่อนเพื่อไม่ให้ตึงเกินไป แล้วค่อยลดเหลือ 3,000 บาทอีกทีก็ได้

หรือถ้าใครอยากให้รางวัลตัวเองทุกเดือนแบบไม่บานปลาย ก็ตั้งงบประมาณตรงนี้เอาไว้ได้เหมือนกันครับ

การตั้งงบประมาณช่วยให้คุณคุมค่าใช้จ่ายได้เป็นระบบมากขึ้น แต่คุณก็ต้องมี ‘วินัย’ ที่จะไม่ใช่จ่ายเกินงบที่ตัวเองตั้งมาด้วย ข้อนี้สำคัญ

.

3. เคลียร์หนี้ระยะสั้น ก่อนพอกหางหมู

หลังจากเห็นว่าเงินตัวเองไหลเข้า-ออกไปไหนบ้าง และเริ่มจัดระเบียบการใช้จ่ายได้แล้ว ถึงตอนนี้คุณน่าจะมีเงินเหลือเก็บในแต่ละเดือนที่อาจยังไม่รู้ว่าเอาไปทำอะไรดี

เราแนะนำว่าสิ่งแรกที่คุณควรทำคือการ ‘จ่ายคืนหนี้ระยะสั้น’ เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้บัตรกดเงินสดที่คิดดอกเบี้ยสูง และพร้อมจะพอกหางหมูเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่ทำให้หลายคนติดกับดักจนหาทางออกไม่ได้

ดังนั้น ถ้าสามารถจ่ายคืนหนี้ระยะสั้นได้ ให้รีบเคลียร์เป็นอันดับแรกเมื่อมีเงินเหลือครับ

ส่วนหนี้สินระยะยาว เช่น ค่างวดผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ที่ต้องจ่ายทุกเดือนและอยู่ในงบรายรับ-รายจ่ายอยู่แล้ว ถ้าสามารถโปะเงินต้นได้ก็ดีครับ แต่ถ้ามีเรื่องสำคัญกว่าที่ต้องใช้เงินก็ไม่เป็นไร อยู่ที่การบริหารเงินของแต่ละคน

.

4. เงินสำรองฉุกเฉิน มีหรือยัง?

หลังจากที่เคลียร์หนี้ระยะสั้นหมดแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการป้องกันความเสี่ยง โดยเงินก้อนแรกที่ทุกคนต้องมีคือ ‘เงินสำรองฉุกเฉิน’ จำนวน 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือนครับ

สมมติว่าจากที่คุณจดรายรับ-รายจ่ายมา คุณใช้เงินเฉลี่ยเดือนละ 20,000 บาท คุณก็ควรมีเงินส่วนนี้อยู่ 6 x 20,000 = 120,000 บาท หรืออย่างน้อยมีสักครึ่งนึงก็ยังดี

เงินก้อนนี้จะถูกใช้ในยามที่ชีวิตเดินเข้ามาถึงจุดเปลี่ยน เช่น ถูกให้ออกจากงาน ขาดรายได้กะทันหัน คุณจะยังพอมีเวลาให้ตระเตรียมหัวใจ ตั้งหลักให้ชีวิตอีกครั้ง แต่ห้ามใช้เงินก้อนนี้ไปกับเรื่องอื่นที่ ‘ไม่ฉุกเฉิน’ เด็ดขาด

.

5. ทำแผนการออม พร้อมเกษียณอย่างสำราญ

เมื่อคุณมีเงินก้อนนึงเตรียมไว้สำหรับเหตุฉุกเฉินที่จำเป็นสำหรับทุกคนแล้ว ก็เริ่มวางแผนใช้ชีวิตเกษียณให้มีความสุขได้แล้วครับ

วิธีคำนวณว่าต้องเก็บเงินเท่าไร ทำได้ง่ายๆ โดยการนำจำนวนเงินที่คุณวางแผนจะใช้ต่อเดือนในยามเกษียณ มาคูณด้วยจำนวนเดือนที่คุณ (คิดว่า) จะมีชีวิตอยู่แบบไม่มีรายได้ เพื่อหาจำนวนเงินที่ต้องเก็บได้เลย

สมมติว่าคุณจะเกษียณตอนอายุ 60 ปี คิดว่าจะอยู่ไปถึงอายุ 80 ปี และน่าจะต้องใช้เงินเดือนละ 30,000 บาท (ไม่รวมเงินเฟ้อ) เท่ากับว่าคุณต้องเก็บเงินให้ได้อย่างน้อย 30,000 x 240 เดือน (20 ปี) = 7.2 ล้านบาท

7.2 ล้านบาทนี้คือเป้าหมายที่คุณต้องเก็บเงินไปให้ถึงเป็นอย่างน้อย เพราะจริงๆ แล้วต้องคิดถึงเรื่องเงินเฟ้ออีก โดยอาจวางแผนเก็บเงินทุกเดือน เดือนละกี่บาทก็ว่าไป เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายนี้

เห็นจำนวนเงินแล้ว เหล่าคนโสดอย่าเพิ่งท้อครับ เพราะจริงๆ แล้วเราเก็บเงินคนเดียวก็ไปถึงจุดนั้นได้ ถ้ามีตัวช่วยที่เรียกว่า ‘การลงทุน’ เพื่อให้เงินช่วยเราทำงาน

.

6. เรียนรู้การลงทุน ให้เงินทำงานแทน

หลายคนพอเห็นคำว่า ‘การลงทุน’ อาจจะรู้สึกว่ายากจนอยากจะไถไปดูโพสต์ต่อไปแล้ว อย่าเพิ่งเลื่อนผ่านครับ

เราอยากบอกว่าคุณไม่จำเป็นต้องลงทุนเก่ง ก็สามารถทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ปีละ 6-8% สบายๆ ด้วย ‘การลงทุนอิงดัชนี’ หรือจะใช้กลยุทธ์ที่ทำตามง่ายแต่ได้ผลจริง อย่างการลงทุนแบบ ‘DCA’ ด้วย

และถ้าคุณไม่เคยรู้จักคำเหล่านี้มาก่อน แปลว่าคุณต้อง ‘หาความรู้’ เรื่องการลงทุนเพิ่มเติม โดยอาจจะเริ่มจากหนังสือด้านการลงทุน หรือแหล่งความรู้ฟรีบนอินเทอร์เน็ตที่มีเยอะมากในสมัยนี้

ยิ่งคุณมีความรู้ในการลงทุนมากขึ้น แผนเกษียณของคุณก็จะยิ่งยืดหยุ่นมากขึ้นตามไปด้วย

ไม่แน่ว่าพอศึกษาเรื่องการลงทุนมากขึ้นแล้ว คุณอาจจะมีเงินใช้ตอนเกษียณมากกว่าที่วางแผนไว้ก็ได้นะครับ

.

7. อยู่ตัวคนเดียว ประกันต้องพร้อม

หลังจากที่วางแผนเกษียณและการลงทุนแล้ว หลังจากนี้ไปคือการจัดการความเสี่ยงและการสร้างความมั่งคั่งคู่ขนานกันไปตามความเหมาะสมของชีวิตแต่ละคนแล้วครับ

ซึ่งในเรื่องความเสี่ยง สิ่งที่คนโสดต้องคำนึงถึงมากกว่าคนมีคู่ก็คือเรื่อง ‘สุขภาพ’ เพราะถ้าเกิดเจ็บป่วยหนักขึ้นมาต้องจ่ายเองหมด ไม่มีคนแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายตรงนี้

การทำประกันสุขภาพหรือประกันชีวิตตามความเหมาะสมกับช่วงชีวิตนั้นๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญและต้องคิดให้ละเอียด เพื่อไม่ให้การเจ็บป่วยมาทำลายแผนเกษียณที่คุณออกแบบมา

Trick คือคุณอาจเทียบค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลที่คุณใช้บริการบ่อยๆ เพื่อดูว่าต้องซื้อความคุ้มครองแค่ไหน หรือดูว่ามีคนที่รอรับรายได้ต่อจากคุณอยู่มากแค่ไหน โดยอาจจะเป็นพี่น้อง พ่อแม่หรือหลานๆ ก็ได้

ที่สำคัญคือเบี้ยประกันสุขภาพสามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ด้วย เป็นผลประโยชน์ต่อที่ 2 ที่เหล่าคนโสดสายมนุษย์เงินเดือนน่าจะรู้กันดี

.

==============================

.

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : Jitta Wealth

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here