มองภาพไปในอนาคต ทั้งหมดนี้จะกลายเป็นเรื่องปกติ

0
858
kinyupen

ในโลกอนาคต เราไม่มีวันรู้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง แค่ทุกวันนี้อะไรก็เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเรื่อย ๆ อยู่ทุกวันแล้ว แค่เราอาจไม่ได้สังเกตมันเท่านั้นเอง ทั้งต้นไม้ ใบหญ้า สังคม คน สภาพอากาศและโลกของเรา เทคโนโลยีทุกวันนี้ก็ล้ำหน้าไปเรื่อย ๆ ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ได้อย่างเจ๋งงงงงง ล่าสุดกินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตได้เจอบทความตอนหนึ่งซึ่งเขียนโดย รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ตีพิมพ์ลงในคอลัมน์ : มุมมองใหม่ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ได้คาดการณ์ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 2030 ว่าจะอะไรเกิดขึ้นมาบนโลกของเราบ้าง อาจจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการใช้ชีวิตหรือทำธุรกิจในอนาคต ขอบอกเลยค่ะว่า… น่าสนใจสุดๆ

ถึงจะเพิ่งขึ้นปีใหม่ 2023 แต่สื่อหลายๆ แห่งในต่างประเทศก็ได้มองไกลออกไปอีก 7 ปีล่วงหน้า ถึงปี 2030 กันแล้ว และเริ่มคาดการณ์ว่าจากสิ่งต่างๆที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การดำรงชีวิตในปี 2030 จะเป็นอย่างไร


การมองภาพไปในอนาคตอีก 7 ปีข้างหน้า จะช่วยให้ผู้บริหารได้ทบทวนว่า สำหรับกลยุทธ์ที่จะมุ่งต่อไปในอนาคตนั้นควรจะเป็นอย่างไร ดังนั้น มาดูความคิดเห็นของบริษัทที่ปรึกษาระดับโลกอย่าง Mckinsey ซึ่งได้ไปรวบรวมความคิดเห็นของบรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ว่าพวกเขามองว่าชีวิตในปี 2030 จะเป็นอย่างไรบ้าง ทาง McKinsey ก็ออกตัวไว้ก่อนว่าสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญมองเห็นอาจจะผิดพลาดได้ แต่ก็ยังเชื่อว่าทั้งหมดนี้จะเป็นเรื่องปกติภายในปี 2035


1.การท่องเที่ยวนอกโลกจะกลายเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะเป็นการนอนในโรงแรมในอวกาศ หรือสุดสัปดาห์บนดวงจันทร์ เนื่องจากต้นทุนในการปล่อยจรวดขึ้นไปในอวกาศนั้นลดลง

2.แท็กซี่ EV ที่บินได้จะเป็นเรื่องปกติ และต้นทุนจะไม่ต่างจากแท็กซี่ปกติ อีกทั้งยังเงียบและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยานพาหนะในลักษณะนี้มีชื่อเรียกขานกันว่า eVTOL (Electric Vertical Take-Off and Landing) อ่านว่า อีวีโทล เป็นยานพาหนะ EV ที่สามารถขึ้นลงในแนวดิ่ง ในปี 2030 คาดว่า eVTOL จะกลายเป็นพาหนะปกติที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าภายในรัศมีไม่เกิน 100 ไมล์ และ eVTOL นี้ มีทั้งแบบมีคนขับและไร้คนขับ

Cr : EmbraerX-eVTOL-flying-graphic-2019-Brazil – evtol.news
Cr : techcrunch.com
Cr : EmbraerX-eVTOL-on-landing-pad-graphic – evtol.news

3.บรรจุภัณฑ์และภาชนะต่างๆ ทั้งกล่อง ขวด และ ถุง จะกลายเป็น Smart และ Sustainable เช่น ขวดนมมีเซนเซอร์ที่สามารถวัดและระบุได้ว่านมหมดอายุหรือไม่ หรือถุงบรรจุขนมที่เมื่อกินหมดแล้วสามารถนำถุงมาใช้ได้ใหม่หรือบริโภคถุงดังกล่าวได้เลย

4.โดรนจะเป็นช่องทางหลักในจัดส่งสินค้า โดยคาดว่าในปี 2030 จะมีพัสดุภัณฑ์ไม่ต่ำกว่า 200 (พันล้าน) ชิ้นที่ถูกจัดส่งโดยโดรน นอกจากนี้ในบางเมืองที่มีประชากรอยู่อย่างหนาแน่น ช่องทางการขนส่งก็อาจจะผ่านทางใต้ดินที่พาหนะอัตโนมัติ สามารถส่งสินค้าจากศูนย์กระจายสินค้าถึงชั้นใต้ดินของที่พักได้เลย

5.สื่อบันเทิงจะเป็นในลักษณะโต้ตอบและเน้นปฏิสัมพันธ์มากขึ้น ภาพยนตร์จะเป็นเสมือนเกมมากขึ้น และสามารถดูภาพยนตร์พร้อมๆ กับเล่นเกมกับเพื่อนไปได้พร้อมๆ กัน ถึงแม้อยู่กันคนละสถานที่ การชมภาพยนตร์จะมีความเสมือนจริงมากขึ้น เช่น ในฉากฤดูหนาว ก็จะมีลมเย็นพัดออกมา ให้ผู้ชมรู้สึกเย็นไปด้วย

6.อุปกรณ์ต่างๆ ที่เชื่อมโยงกันจะติดตามและให้คำแนะนำในเรื่องของสุขภาพและความเป็นอยู่มากขึ้น ตู้เย็นจะสามารถให้คำแนะนำได้ว่าควรจะรับประทานอะไรหรือดื่มอะไร โดยใช้ข้อมูลจากพฤติกรรมในการนอน ออกกำลังกาย หรือรับประทานจากอุปกรณ์ต่างๆ รอบๆ ตัว

7.ตึกหรืออาคารรูปแบบใหม่จะเป็นลักษณะของ Mixed-Use หรือผสมผสานมากขึ้น เช่น ในตึกตึกเดียวจะมีทั้งห้องพักอาศัย ออฟฟิศทำงาน ห้องพักโรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร ยิม ฯลฯ ดังนั้น ผู้ที่อยู่อาศัยในอาคารสูงยุคใหม่จะสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ในตึกได้อย่างสะดวกสบายขึ้น

8.การช็อปปิ้งในอนาคตจะมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น เมื่อเดินเข้าไปในห้าง เสื้อผ้าบนหุ่นโชว์จะปรับเปลี่ยนตามสไตล์การแต่งตัวของแต่ละคน พนักงานขายสามารถดึงประวัติการซื้อของลูกค้าแต่ละคน และให้คำแนะนำสินค้าตามประวัติการซื้อในอดีต

9.ทางเลือกในการซื้อรถยนต์จะเปลี่ยนไป ทั้งสามารถเลือกซื้อรถยนต์เป็นคันๆ แบบเดิมหรือเลือกสมัครสมาชิกเพื่อเข้าสามารถใช้รถยนต์ได้หลายรุ่น หลายยี่ห้อ แทนที่จะเป็นเจ้าของรถและใช้รถอยู่ประเภทเดียว ลูกค้าสามารถซื้อแพ็กเกจได้ว่าในวันไหนของสัปดาห์จะเลือกใช้รถประเภทไหน

ภาพทั้ง 9 ภาพข้างต้นเป็นการคาดการณ์จากบรรดาผู้เชี่ยวชาญที่ทาง McKinsey ได้รวบรวมไว้ ซึ่งก็ต้องดูกันต่อไปว่าทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้น ในช่วงปี 2030 หรือไม่ แต่ขณะเดียวกันถ้าธุรกิจของท่านเกี่ยวข้องกับภาพทั้ง 9 ภาพข้างต้น ก็จะต้องเริ่มคิดแล้วบริษัทของตนเองจะต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง

ขอบคุณข้อมูลจาก : รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ (คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
          
ที่มา:  นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 17 ม.ค. 2566

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here