EXIM BANK – บสย. ขยายความร่วมมือ โครงการ The S1 ยกระดับ SMEs ไทย

0
563
kinyupen

EXIM BANK และ บสย. ขยายความร่วมมือโครงการ The S1 กับ SME D Bank และไอแบงก์ ยกระดับประสิทธิภาพการให้บริการครบวงจรแก่ SMEs ไทย

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ขยายพันธมิตรโครงการ The S1 โดยบูรณาการความร่วมมือกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) เพื่อร่วมกันพัฒนารูปแบบธุรกิจที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการยกระดับการให้บริการและช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้ได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนที่สอดคล้องกับความต้องการทางธุรกิจในเวลาอันรวดเร็ว พร้อมบริการอื่น ๆ ครบวงจร เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของ SMEs ไทยในการดำเนินธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนารูปแบบทางธุรกิจระหว่าง ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK, นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ SME D Bank และ ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการและผู้จัดการ ไอแบงก์ โดยมีนายเอด วิบูลย์เจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลังและประธานกรรมการ บสย. และนางสาวสภัทร์พร ธรรมาภรณ์พิลาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2566

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK

ความร่วมมือครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อปลดล็อกข้อจำกัดของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ให้เข้าถึงการสนับสนุนจากสถาบันการเงินของรัฐ เพื่อให้ SMEs ซึ่งมีจำนวนถึง 99% ของผู้ประกอบการทั้งระบบ หรือกว่า 3.18 ล้านราย เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนและสร้างรากฐานความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ SMEs มีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจในสัดส่วน 34% ของ GDP ประเทศ และมีสัดส่วนต่อการจ้างงานถึง 72% ของการจ้างงานทั้งระบบ แต่ผู้ประกอบการ SMEs ไทยยังเผชิญข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทั้ง 4 แห่งจึงผนึกกำลังความร่วมมือเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้ก้าวข้ามข้อจำกัดและดำเนินธุรกิจได้อย่างประสบความสำเร็จ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ผันผวนและมีความท้าทายรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาวะเงินเฟ้อที่ยังอยู่ระดับสูง อัตราดอกเบี้ยขาขึ้นและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังยืดเยื้อ ส่งผลให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกปี 2566 จะขยายตัวเพียง 2.7% ซึ่งต่ำสุดในรอบ 21 ปี (ไม่รวมปีที่เกิด Hamburger Crisis และโควิด-19) และอาจมีประเทศจำนวน 1 ใน 3 ของโลกต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่เศรษฐกิจไทยปี 2566 มีแนวโน้มเติบโตได้ดีกว่าในปีที่ผ่านมาเนื่องจากอุปสงค์ในประเทศเป็นหลัก แต่ภาคการส่งออกยังมีโอกาสชะลอตัวลงจากแรงกดดันของปัจจัยภายนอกประเทศ

ภายใต้โครงการ The S1 (SMEs One) สถาบันการเงินทั้ง 4 แห่งจะใช้ความเชี่ยวชาญในการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการให้พร้อมสนับสนุน SMEs ใน Supply Chain การส่งออก ให้ได้รับบริการทั้งสินเชื่อและการออกหนังสือค้ำประกันอย่างรวดเร็วและสอดคล้องกับความต้องการทางธุรกิจภายใต้การบริการผ่านช่องทางสาขาร่วม (Co-branch) และช่องทางออนไลน์ รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลยกระดับประสิทธิภาพการบริการแก่ลูกค้า SMEs นอกจากนี้ จะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับโครงการ The S1 โดยเฉพาะเพื่อบรรเทาภาระต้นทุนทางการเงินพร้อมทั้งให้สิทธิประโยชน์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการที่เป็นคนตัวเล็กในโลกธุรกิจให้สามารถเริ่มต้นหรือขยายกิจการได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนในเวทีการค้าโลกยุคใหม่

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here