ปี 2022 ที่ผ่านมา นับว่าเป็นปีที่เต็มไปด้วยความผันผวนอย่างแท้จริง นับตั้งแต่สถานการณ์เงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นสร้างแรงกดดันให้ธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัว จนกระทั่งถูกกดดันซ้ำด้วยปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ ทั้งกรณีของการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย ที่ส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ไปจนถึงความพยายามแยก Supply Chain ออกจากกันระหว่าง 2 ขั้วอำนาจใหญ่ของโลกอย่างจีนและสหรัฐฯ กดดันเงินเฟ้อให้เร่งตัวมากขึ้น และส่งผลต่อเนื่องไปยังการดำเนินนโยบายการเงิน ให้รุนแรงมากที่สุดในรอบหลายทศวรรษ เพิ่มความกังวลการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นเงียบๆ ให้เป็นความกังวลหลักมากขึ้นอย่างชัดเจน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาประเทศจีน ที่เป็นประเทศเศรษฐกิจอันดับสอง แม้จะมีเงินเฟ้อในระดับต่ำ ทำให้ไม่จำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัว แต่การยึดมั่นนโยบาย Common Prosperity และ Zero-COVID อย่างเหนียวแน่น ทำให้ความหวังที่จีนจะเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่ช่วยพยุงทั้งโลกเอาไว้ ก็เลือนลาง
อย่างไรก็ตาม ในปี 2023 ที่กำลังจะมาถึง FINNOMENA Investment Team มีมุมมองว่า สถานการณ์กำลังจะเปลี่ยนแปลงตามมุมมองการลงทุนที่ชื่อ “A New Chapter Begins” ซึ่งมี 3 ธีมการลงทุนหลักคือ
1.“Mild” US Recession” ซึ่งหมายถึงการเดินหน้าเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ ที่เป็นประเทศขนาดเศรษฐกิจอันดับหนึ่งนั้นมีแนวโน้มสูงที่จะเกิดขึ้น แต่อยู่ในระดับที่ถดถอยแบบไม่รุนแรงและไม่ทำให้เกิดเป็นวิกฤติลุกลามขนาดใหญ่แต่อย่างใด
2.“China Reopen” หรือแนวโน้มการเปิดเมืองของจีน ที่สูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะตามมาด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมทั้งหลายให้ผ่อนคลายลงมา จะก่อให้เกิดเป็นโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจ
3.“Zero Yield No More” หรือการหมดยุคอัตราดอกเบี้ยต่ำ เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ หนุนให้อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ (yield) สูงมากที่สุดในรอบหลายปี ซึ่งเป็นแรงกดดันต่อราคาในปี 2022 แต่ในปี 2023 ธนาคารกลางทั้งหลายกำลังส่งสัญญาณว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยใกล้สิ้นสุดลงทุกที หลังจากเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดเป็นที่เรียบร้อย จะทำให้ตราสารหนี้เป็นสินทรัพย์ที่เริ่มมีความน่าสนใจลงทุน
ดังนั้นแล้ว ปี 2023 ที่กำลังจะมาถึงนี้ จึงเป็นปีของโอกาสด้านการลงทุน ในหลากหลายสินทรัพย์ อาทิ หุ้นจีน ตราสารหนี้ และหุ้น Defensive พร้อมด้วยการกระจายการลงทุน และปรับพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์มากกว่าที่จะเป็นปีที่ออกจากตลาด หรือลดสัดส่วนแต่อย่างใด
Finnomena Investment Team นำเสนอมุมมองการลงทุนปี 2023 ตามกรอบการวิเคราะห์ MEVT Framework ซึ่งเป็นการให้มุมมองการวิเคราะห์ที่รอบด้านตั้งแต่ปัจจัย Macro, Earnings, Valuation และ Technical ก่อนที่จะสรุปเป็นภาพรวมมุมมองกลยุทธ์การลงทุนในแต่ละสินทรัพย์สำคัญ
โดยสรุป FINNOMENA Investment Team มีมุมมองต่อ 3 ธีมการลงทุนหลักในปี 2023 ดังนี้
“Mild” US Recession” กลยุทธ์ที่เหมาะสมในครึ่งปีแรก คือ การจัดพอร์ตแบบ Defensive มีการกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ (ที่มีการป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน) และมีเงินสดบ้างเพื่อเตรียมหาโอกาสลงทุนที่น่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี
“China Reopen” เป็นโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจในหุ้นจีน
“Zero Yield No More” หรือหมดยุคของอัตราดอกเบี้ยต่ำ เป็นปัจจัยที่หนุนการลงทุนในตราสารหนี้ในปี 2023
มุมมองสินทรัพย์อื่นๆ
เวียดนาม
ถูกกดดันจากปัจจัยลบตลอดทั้งปีที่ผ่านมา และเจอความผันผวนมากที่สุดในช่วงไตรมาส 3/65 ทำให้ดัชนี VN 30 ปรับตัวลงไปทำจุดต่ำสุดกลางเดือนพฤศจิกายนที่ 30.6% ปัจจุบันแรงกดดันจากปัญหาสภาพคล่องตึงตัวในระบบเริ่มมีสเถียรภาพ และแรงกดดันจากค่าเงินดอลล่าสหรัฐฯ เริ่มชะลอตัวหลังค่าเงินดองเริ่มกลับมาแข็งค่า บวกกับเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาสะสมหุ้นที่ปัจจัยพื้นฐานดีราคาถูกในช่วงที่ตลาดปรับตัวย่อลงมาแรง ทำให้ดัชนีดีดกลับขึ้นมาจากจุดต่ำสุดที่ 23.6% ปัจจุบันตลาดหุ้นเวียดนามยังมี Valuation ถูกที่ระดับ PE 10.5 เท่า หรือเท่ากับ -1.5 SD และแม้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกอาจจะกระทบกับภาคการส่งออกในระยะสั้น แต่ศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวยังอยู่ในระดับที่สูง
หุ้น Asia (ex Japan)
หุ้นในกลุ่ม Asia (ex Japan) เช่นเดียวกับภาพรวมหุ้น emerging market ที่ได้ประโยชน์จากแนวโน้มค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ที่มีทิศทางอ่อนค่าในปี 2023 และการปรับออกจากนโยบาย Covid Zero ของจีน
Neutral
ไทย
แม้ว่าการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565 จะกลับมาอยู่ที่ 10.5 ล้านคน และหากว่าจีนเปิดประเทศจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดการณ์ไว้จะกลับมาอยู่ที่ 22 ล้านคนในปีหน้าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการบริโภคภายในประเทศ แต่เรายังคงมุมมองการลงทุนในหุ้นไทยไว้ที่ระดับ neutral เนื่องจากตลาดได้รับรู้ข้อมูลการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไประดับหนึ่งแล้วประกอบ PE ที่ระดับ 18 เท่า ซึ่งถือว่าไม่ได้อยู่ในระดับที่ถูกมากนัก
อินเดีย
ตลาดหุ้นอินเดียได้รับปัจจัยหนุนจากการปรับประมาณการทางเศรษฐกิจที่เติบโตแข็งแกร่ง โดย GDP Q3/22 เติบโตได้ถึง 6.3%YoY และ PMI ในภาคการผลิตและภาคบริการยังแข็งแกร่ง แต่ด้วย Valuation ที่อยู่ในโซนแพง 12M Trailling PE ที่ 23.8 เท่า หรือ +3.0 SD มองว่ามีความเสี่ยงเรื่อง Price Risk จึงแนะนำมุมมองการลงทุนที่เป็นกลางสำหรับหุ้นอินเดีย
ทองคำ
สมมติฐานหลักของเรามองว่าโอกาสจะเกิด mild recession ทำให้ Dollar Index มีแนวโน้มอ่อนค่าลงได้ต่อ แต่จากสถิติในอดีตที่ผ่านมาหลังผ่านช่วง recession มักให้ผลตอบแทนที่ไม่น่าสนใจนัก ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับที่สูง ทำให้ real yield ที่อยู่ในระดับที่สูงเป็นอีกปัจจัยกดดันราคาทองคำ จึงแนะนำถือครองเพื่อกระจายความเสี่ยงเท่านั้น
ส่วนกลุ่มที่ควรลดน้ำหนักการลงทุน (Underweight) ได้แก่
ยุโรป
ได้รับแรงกดดันจากวิกฤติราคาพลังงานในช่วงก่อนหน้า ทำให้เงินเฟ้อกดดันการดำเนินนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ทั้งนี้แม้ในมุมมองของ ECB วิกฤติราคาพลังงานและเงินเฟ้อใกล้จะผ่านจุดสูงสุด จากราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวลงอย่างรวดเร็วในเดือนที่ผ่านมา แต่เศรษฐกิจยุโรปยังมีโอกาสในการเกิด recession ถึง 90% ทำให้มีความน่าสนใจลงทุนต่ำ
ญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นยังคงดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ (ultra-loose monetary policy) สวนทางธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกที่ใช้นโยบายแบบเข้มงวดเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ปรับตัวกว้างขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เป็นผลทำให้เงินเยนปรับตัวย่อลงมากที่สุดในรอบกว่า 40 ปี จึงมีความเสี่ยงในเรื่องนโยบายทางการเงิน อีกทั้งสังคมผู้สูงอายุเป็นปัจจัยหลักที่ฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในระยะยาว ทำให้มีความน่าสนใจลงทุนต่ำ
Global REITs และ Thai REITs
อัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้นทั้งไทยและสหรัฐส่งผลให้ความน่าสนใจของ REITs ในเชิง valuation ลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับพันธบัตร โดย Global REITs มี yield spread อยู่ที่ระดับ -1.5 SD ซึ่งอยู่ในระดับที่แพง ด้าน REITs ไทยแม้เห็นเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว แต่ yield ของ REITs ที่ปรับตัวขึ้นช้ากว่าพันธบัตรรัฐบาล ทำให้ spread แคบลง และความน่าสนใจ REITs ไทยลดลง