หอสมุดเนียลสัน เฮส์ ขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรม จากยูเนสโก

0
668
kinyupen

ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์นี้ กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอนำเรื่องราวดีๆ มาบอกเล่าให้เหล่าผู้รักวรรณกรรม และผู้ที่สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับสถานที่เชิงประวัติศาสตร์ได้ทราบกัน นั่นคือ ข่าวดีของ “เนียลสัน เฮส์” หอสมุดสำคัญทางประวัติศาสตร์ ใจกลางกรุงเทพฯ ที่ยังยืนยงมากว่า 100 ปี บนถนนสุรวงศ์ ย่านบางรัก ซึ่งเมื่อปลายเดือน พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา องค์การยูเนสโก เพิ่งประกาศยกย่องให้ได้รับรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประจำปี พ.ศ. 2565 (UNESCO Cultural Heritage Conservation Award 2022) ประเภท Award of Distinction มาครอบครอง

ทำไมเนียลสันเฮส์ จึงได้รางวัล

นางสาวนลิน วนาสิน ประธานคณะกรรมการบริหารสมาคมหอสมุดเนียลสัม เฮส์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการตัดสินของยูเนสโกกล่าวเชิดชูเกียรติหอสมุดเนียลสัน เฮส์ ว่าเป็นโครงการที่อนุรักษ์ความโดดเด่นของสถาปัตยกรรมตะวันตกในยุคต้นศตวรรษที่ 20 ไว้ได้อย่างกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมในโลกตะวันออก จึงทำให้ได้รับรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประจำปี พ.ศ. 2565 (UNESCO Cultural Heritage Conservation Award 2022) ประเภท Award of Distinction ซึ่งมอบให้แก่โครงการที่ประสบความสำเร็จเป็นเลิศในทุกด้านและก่อให้เกิดผลที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในระดับชาติ หรือ ระดับภูมิภาค

สำหรับ อาคารหอสมุดเนียลสัน เฮส์ เป็นสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิคที่ออกแบบโดยมารีโอ ตามัญโญ สถาปนิกชาวอิตาเลียน ผู้เข้ามารับราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 เปิดดำเนินการในปี พ.ศ.2465 ถือเป็นหอสมุดชุมชนที่รวบรวมหนังสือภาษาอังกฤษแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นหอสมุดแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เปิดดำเนินการโดยสมาคมสตรีด้วย ซึ่งนอกจากความงดงามเชิงสถาปัตยกรรม ภายในตัวอาคารยังออกแบบผนังสองชั้นเพื่อช่วยให้มีอากาศถ่ายเทจึงช่วยเรื่องการเก็บรักษาหนังสือได้เป็นอย่างดีในยุคที่ยังไม่มีเครื่องปรับอากาศ

นอกจากเป็นหอสมุดแล้ว ปัจจุบันเปิดให้บุคคลภายนอกสามารถเข้ามาจัดกิจกรรมภายในหอสมุดได้ด้วย ยกตัวอย่างของกิจกรรมที่เคยมาจัด อาทิ งานเปิดตัวสินค้าใหม่ งานแต่งงาน งานบรรเลงดนตรีคลาสสิค ซึ่งต้องจองสถานที่ล่วงหน้าอย่างน้อยสองอาทิตย์ถึงหนึ่งเดือน โดยทางหอสมุดคิดแค่ค่าสถานที่เพียงอย่างเดียว และทุกวันเสาร์เช้าทางหอสมุดเนียลเซน เฮส์ จะมีกิจกรรมการกุศลเปิดโอกาสให้เด็กเล็กที่สนใจเข้ามาฟังนิทานภาษาอังกฤษผ่านการเล่าเรื่องโดยอาสาสมัครของหอสมุด ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเจตนารมณ์ที่สืบต่อมาตั้งแต่สมัยแรกก่อตั้งที่ตั้งใจว่าจะให้เป็น “หอสมุดสาธารณประโยชน์ของชุมชน” และเป็นเสมือนศูนย์กลางทางวัฒนธรรมใจกลางกรุงเทพฯ ที่บอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน

หอสมุดแห่งความรัก “เนียลสัน เฮส์” (Neilson Hays Library)
https://kinyupen.co/2022/neilson-hays-library/

รางวัลนี้สำคัญอย่างไร?

รางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เป็นรางวัลองค์การยูเนสโกมอบรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกให้บุคคลและองค์กรที่มีความมานะอย่างยิ่งยวดในการอนุรักษ์ หรือบูรณะอาคารสถานที่อันมีคุณค่าเชิงมรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก การมอบรางวัลดังกล่าว เป็นการส่งเสริมให้ผู้ครอบครองอาคารสถานที่ได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์ในชุมชนของตนเอง ทั้งโดยอิสระ หรือโดยการแสวงหาความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท

  • Award of Excellence เป็นรางวัลยกย่องระดับสูงสุดซึ่งจะมอบให้แก่โครงการที่ประสบความสำเร็จเป็นเลิศในทุกด้านและก่อให้เกิดผลที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในระดับชาติหรือระดับภูมิภาค
  • Award of Distinction เป็นรางวัลที่มอบให้แก่โครงการที่ประสบความสำเร็จโดดเด่นในทุกด้านและก่อให้เกิดผลอย่างมากในระดับชาติหรือระดับภูมิภาค
  • Award of Merit เป็นรางวัลที่มอบให้แก่โครงการที่ประสบความสำเร็จขั้นสูงในทุกด้าน

สำหรับการประกวดรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประจำปี พ.ศ. 2565 มีโครงการส่งเข้าพิจารณาจำนวนทั้งสิ้น 50 โครงการจาก 11 ประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก โดยมีโครงการที่ได้รับรางวัล 13 โครงการ จาก 6 ประเทศ ได้แก่ อัฟกานิสถาน จีน อินเดีย อิหร่าน เนปาล และประเทศไทย อาทิ The Chhatrapati Shivaji Maharaj Vastu Sangrahalaya พิพิธภัณฑ์ในเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย Topdara Stupa สถูปหินในเมืองชาริการ์ ประเทศอัฟกานิสถาน และ Natian Buddhist Temple วัดในมณฑลฝูเจี้ยน สาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงหอสมุดเนียลสัน เฮส์ ประเทศไทย

ปัจจุบัน หอสมุดเนียลสัน เฮส์ แห่งนี้ มีหนังสือมาจากทั่วทุกมุมโลกมากกว่า 20,000 เล่ม มีตั้งแต่เล่มที่อัปเดตล่าสุดไปจนถึงเล่นเก่าแก่ที่มีอายุมากถึงหลายร้อยปี อาทิ หนังสือที่ถูกเขียนโดยจอห์น เบาว์ริง จำแนกแบ่งเป็น 4 หมวดใหญ่ๆคือ Fiction, Non-Fiction, Rare, Young Adult โดย 80% ของหนังสือในหอสมุดจะเป็นหนังสือฉบับภาษาอังกฤษ ส่วนที่เหลืออีก 20% จะเป็นหนังสือภาษาไทย 5% และภาษาอื่นๆ อีก 15% ช่วงวันหยุดนี้ ช่วงวันหยุดนี้ ถ้าใครสนใจไปดื่มด่ำกับโลกของวรรณกรรม หรือ เที่ยวชมสถาปัตกรรมสวยๆ แบบนีโอคลาสสิค เชิญแวะไปที่นี่กันได้เลย

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here