ครม.ไฟเขียวร่างกฎกระทรวงผลิตสุราพื้นบ้าน-คราฟท์เบียร์ ยกเลิกทุนจดทะเบียน กำลังการผลิต
วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง การอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ…. ทั้งนี้ จะมีการปรับปรุงในกฎหมายลำดับรอง ที่เกี่ยวกับการขอใบอนุญาต และการอนุญาตผลิตสุราทั้งหมด โดยจะยกเลิกกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ.2560
และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ รวมถึงเงื่อนไขเกี่ยวกับการขอใบอนุญาต และการออกใบอนุญาตผลิตสุรา ฉบับใหม่ เป็นการปรับปรุงคุณสมบัติของผู้ขอใบอนุญาตผลิตสุราให้มีความเหมาะสม รวมถึงปรับปรุงขั้นตอนและวิธีการขอใบอนุญาต รวมถึงใบอนุญาตผลิตสุรา เพื่อให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เดิมมีกฎหมายภาษีสรรพสามิตคุมอยู่แล้ว แต่เนื่องจากมีประชาชนบางส่วนที่เห็นว่ากฎหมายที่ประกาศใช่ในปัจจุบันมีความตึงเกินไป อยากให้มีการผ่อนคลายมากขึ้น ดังนั้น กฎหมายฉบับใหม่นี้สามารถทำให้หลายส่วนมีความสบายใจ ไม่ถึงขนาดสุดโต่งเกินไป และมีการดูแลสุขภาพของประชาชน ดูแลเรื่องอุบัติเหตุที่มาจากสุราได้ในระดับหนึ่ง รวมถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม ในการผลิตสุรา จะต้องมีการบำบัดน้ำเสียต่างๆ
นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. …. ซึ่งเป็นการแก้ไขรายละเอียดของกฎหมายฉบับเดิม ทั้งนี้ในร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. …. เป็นการปรับปรุงแก้ไขใบอนุญาต ซึ่งเดิมมีการกำหนดใบอนุญาต 2 ประเภท คือ การผลิตสุราแช่ชนิดเบียร์ และสุรากลั่นชุมชน โดยยกเลิกการกำหนดจำนวนทุนจดทะเบียน และกำลังการผลิตขั้นต่ำทั้งหมด
“การแก้กฎหมายครั้งนี้จะทำให้เบียร์ที่เป็นบริวผับ หรือเบียร์โรงเล็ก ต่อไปนี้ไม่ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท และกำลังการผลิตขั้นต่ำก็ไม่จำเป็นต้องมีแล้ว แต่จะมีการมาตรการเรื่องระเบียบของกรมโรงงานบางส่วน ทั้งสินค้า และเครื่องไม้เครื่องมือที่ต้องกำหนดไว้ตามกฎหมาย”
ด้าน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิต เสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการผลิตสุราฯ ซึ่งได้ดำเนินการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการพิจารณาให้ครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สาธารณสุข สังคม และสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับทุกภาคส่วนอย่างเป็นธรรม ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการ ประชาชน สังคม และภาครัฐ
สำหรับร่างกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. …. ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เป็นการแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุราพ.ศ. 2560 พร้อมเปิดโอกาสให้การผลิตสุราสามารถดำเนินการได้ง่ายขึ้น เป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการรายเล็ก ปลดล็อกทั้งในเรื่องทุนจดทะเบียนและกำลังการผลิตขั้นต่ำ สามารถยกระดับสุราชุมชนจากขนาดเล็กไปสู่ขนาดกลาง
ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงการผลิตสุราฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
1.เปิดโอกาสให้สุราชุมชนขนาดเล็ก จากที่ต้องใช้เครื่องจักรในการผลิตต่ำกว่า 5 แรงม้า และใช้คนงานน้อยกว่า 7 คน ให้สามารถขยายกำลังการผลิตเป็นระดับกลาง ที่ใช้เครื่องจักรที่มีกำลังการผลิตสูงกว่า 5 แรงม้า แต่ไม่เกิน 50 แรงม้า และสามารถใช้คนงานมากกว่า 7 คนได้ แต่ต้องไม่เกิน 50 คน แต่ทั้งนี้ ผู้ผลิตสุราชุมชนที่จะขยายกำลังการผลิตจากระดับเล็กเป็นระดับกลาง จะต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตผลิตสุราแช่ หรือสุรากลั่นชุมชนขนาดเล็กมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี และไม่เคยกระทำความผิดตามกฎหมายภาษีสรรพสามิต หรือเคยกระทำความผิดและพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี นอกจากนี้ ต้องใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ตามมาตรฐานที่อธิบดีประกาศกำหนด และปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและกฎหมายเกี่ยวกับการสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง
2.ยกเลิกการกำหนดกำลังการผลิตขั้นต่ำและทุนจดทะเบียนสำหรับทั้งกรณีผลิตเบียร์เพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (Brewpub) และโรงงานผลิตเบียร์ขนาดใหญ่ ซึ่งเดิมนั้น ในกรณีผลิตเบียร์เพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (Brewpub) จะต้องมีขนาดการผลิตไม่ต่ำกว่า 100,000 ลิตรต่อปีและไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี และกรณีโรงงานผลิตเบียร์ขนาดใหญ่ต้องมีขนาดการผลิตไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลิตรต่อปี สำหรับทุนจดทะเบียนนั้น ต้องไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท นอกจากนี้ กรณีผลิตเบียร์เพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (Brewpub) ต้องใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ตามมาตรฐานที่อธิบดีประกาศกำหนด และปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและกฎหมายเกี่ยวกับการสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง
3.เปิดโอกาสให้บุคคลธรรมดาที่มีอายุไม่น้อยกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และนิติบุคคลสามารถขอใบอนุญาตผลิตสุราที่มิใช่เพื่อขาย แลกเปลี่ยน หรือดำเนินการอื่นใดโดยได้รับประโยชน์ตอบแทน และต้องมีปริมาณการผลิตสุราไม่เกิน 200 ลิตรต่อปี อย่างไรก็ดี สถานที่ผลิตสุราต้องมีพื้นที่เพียงพอที่จะผลิตสุราโดยไม่ก่อให้เกิดอันตราย เหตุเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่น และมิใช่สถานที่ผลิตสุราของผู้ได้รับใบอนุญาตผลิตสุรารายอื่น โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของการบริโภคสุราและมิติของสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ การดำเนินการข้างต้น เป็นการเปิดโอกาสให้รายเล็กสามารถเติบโตได้โดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของเงินทุนและกำลังการผลิต แต่ยังคงต้องให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพสินค้า ความปลอดภัย กระบวนการผลิต เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในด้านสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ดี กรมสรรพสามิตยังคงเน้นและให้ความสำคัญในเรื่องมาตรการการควบคุมด้านคุณภาพ ด้านสาธารณสุข และด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากไม่มีการควบคุมและมีสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานออกมาสู่ผู้บริโภค อาจทำให้เกิดผลเสียต่อผู้บริโภคได้