มูลนิธิรักษ์ตับ ร่วมกับ ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านโรคมะเร็ง โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง ได้จัดงาน Voice of Liver 2022: #ฟังเสียงตับรับมือมะเร็ง ครั้งที่ 2 เพื่อสร้างความตระหนักรู้และเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโรคมะเร็งตับให้แก่คนไทย รวมไปถึงเพื่อเผยแพร่และรายงานการศึกษา “ต่อชีวิตผู้ป่วยมะเร็งตับ…ยกระดับเส้นทางการรักษา (Surviving Liver Cancer – Improving the Disease Journey)” ที่สะท้อนความต้องการและอุปสรรคต่างๆ ที่ผู้ป่วยโรคมะเร็งเซลล์ตับต้องเผชิญ
ประเทศไทยติดอันดับสี่ของโลกที่มีอัตราการตายจากมะเร็งตับ สาเหตุมาจากการเป็นไวรัสตับอักเสบ คนไข้ 50% มาพบแพทย์เมื่อโรคอยู่ในระยะลุกลาม มะเร็งเซลล์ตับที่อยู่ในวัยแรงงาน อายุ 31-60 ปี 36.9% และมีผู้ป่วยสูงอายุ 61-71 ปี 43.5% เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การสนับสนุนและความร่วมมือจากผู้มี เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยต้องพิจารณาถึงสุขภาวะของผู้ป่วยแต่ละคน
รศ.พญ.วัฒนา สุขไพศาลเจริญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ และประธานมูลนิธิรักษ์ตับวัฒนา เปิดเผยว่า มะเร็งเป็นสาเหตุการตายสูงสุด มะเร็งตับเป็นเหตุผลของการเสียชีวิต โดยมะเร็งเซลล์ตับเป็นสาเหตุสูงสุด
“เมื่อเทียบมะเร็งตับกับมะเร็งชนิดอื่นพบว่ามะเร็งตับมีอุบัติการณ์สูงที่สุดอันดับ 1 อยู่ที่ 14.4% สัดส่วนของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งตับมักเป็นผู้ป่วยชายมากกว่าผู้ป่วยหญิงถึง 2 เท่า โดยมีจำนวน 18,268 ราย และ 9,126 ราย ชนิดของมะเร็งตับที่พบได้บ่อยและมากที่สุดคือ มะเร็งเซลล์ตับถึง 90%”
พ.อ.ผศ.นพ.ไนยรัฐ ประสงค์สุข อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า แม้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศจะประสบความสำเร็จในการช่วยให้ผู้ป่วย โรคมะเร็งเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น
แต่สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งเซลล์ตับ การป้องกันและตรวจพบโรคได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นคือการควบคุมโรคที่ดีที่สุด ยิ่งไปกว่านั้น สถานพยาบาลและหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องควรจัดเตรียมช่องทางเพิ่มเติมสำหรับการให้คำปรึกษาและการรักษาแก่ผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็วก่อนที่โรคจะลุกลามไปสู่ระยะรุนแรง ทางออกในการรับมือปัญหาโรคมะเร็งตับอย่างยั่งยืนในประเทศไทย เพิ่มการตระหนักรู้ให้กับประชาชนต่อโรคมะเร็งตับ สนับสนุนการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ
ในส่วนของบทบาทของหน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง การตั้งคณะกรรมพิจารณาเพิ่มรายการยาในบัญชียาหลักแห่งชาติให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมการรักษาสามารถช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยได้ รวมไปถึงการแสวงหากลไกทางเลือก (alternative mechanism) เพื่อเพิ่มแหล่งเงินทุน เช่นจัดตั้งกองทุนรักษาโรคมะเร็ง และการหาแนวทางในการบริหาร กลไกการเบิกจ่าย
เหนือสิ่งอื่นใด ความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาและความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงตัวแทนของผู้ป่วยถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะผลักดันแผนนโยบายสุขภาพรูปแบบใหม่ ที่สามารถสร้างความยั่งยืนและพัฒนาขีดความสามารถในการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งตับในระยะยาว
สถานการณ์โรคมะเร็งตับเป็นความท้าทายระดับชาติที่ทุกฝ่ายไม่อาจเพิกเฉยได้อีกต่อไป ดังนั้น การผนึกกำลังเพื่อช่วยลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร บรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศ และยกระดับเส้นทางการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งตับตามวัตถุประสงค์ของงาน Voice of Liver 2022: #ฟังเสียงตับรับมือมะเร็ง ครั้งที่ 2 ที่เป็นกระบอกเสียงให้ผลการศึกษาสะท้อนไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันขยายโอกาสให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพและมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น