โรคคนรุ่นใหม่ ดึกแล้วไม่หลับไม่นอน แก้ยังไงดี

0
1178
kinyupen

ง่วงแต่ไม่อยากนอน เพราะโดนขโมยเวลาชีวิต รู้จักภาวะ “Revenge Bedtime Procrastination

เป็นเหมือนกันหรือเปล่า? ดึกแล้วแต่ไม่อยากนอน เพราะยังมีอีกหลายอย่างที่อยากทำ แต่ไม่มีเวลาทำ ก็เลยต้องยอมสละเวลานอนมาใช้ก่อน ขอทำก่อนแล้ววันนี้นอนดึกหน่อยก็แล้วกัน ขอไถโทรศัพท์ ขอดูซีรีส์อีกตอน ขอเล่นเกมตาสุดท้าย ฯลฯ ตี 1 ผ่านไป… ตี 2 ผ่านไป…จนกว่าจะหนำใจกันไปเลย

แล้วเช้าวันใหม่ก็ต้องฝืนตาตื่นเพื่อไปเรียน / ทำงาน ทั้งๆ ที่นอนไม่พอ ฮ่าๆ

แม้จะง่วง จะเหนื่อยแค่ไหนก็ไม่อยากนอน อยากทำนู่นทำนี่ อาการยอดฮิตของคนวัยทำงาน, วัยเรียน นักจิตวิทยาเขาเรียกอาการนี้ว่าภาวะ Revenge Bedtime Procrastination = การนอนดึกเพื่อล้างแค้น กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตจะชวนทำความเข้าใจรวมถึงอาการสาเหตุและผลที่จะตามมา เพื่อบาลานซ์ชีวิตคุณให้ดีขึ้น

ข้อมูลจากทาง Sleep Foundation กล่าวไว้ว่าสำหรับคนที่ใช้ชีวิตที่มีความเครียด ชีวิตที่ยุ่งจนไม่มีเวลาว่างไปทำสิ่งต่างๆ วันๆ ทำแต่งานไม่ได้ใช้ชีวิต การนอนดึกเพื่อล้างแค้นให้กับเวลาที่เสียไปแบบนี้ คือวิธีที่จะหาความบันเทิงเพียงไม่กี่ชั่วโมงแม้ว่ามันจะส่งผลให้นอนหลับไม่เพียงพอ

วันต่อไปก็ต้องตื่นเช้ามาเผชิญกับงานยุ่งๆ เรื่องเครียดๆ อยู่ดี แล้วกลับบ้านมานอนดึกใหม่วนอยู่อย่างนี้ อาจก่อเกิดผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว อย่างการอดนอนอย่างรุนแรง ปัญหาสุขภาพจิตและอารมณ์ที่มีผลกระทบระยะสั้นและระยะยาว

การแก้แค้นอะไรกับการนอนดึก?

ผู้ที่ตกอยู่ในภาวะนี้จะชะลอการนอนหลับเพื่อตอบสนองต่อความเครียดหรือไม่มีเวลาว่างก่อนหน้านี้ในวันนั้น

กินอยู่เป็นเชื่อว่าทุกคนรู้ดี ว่าการนอนดึกนั้นไม่ดีต่อสุขภาพ

แต่ทำไงได้ล่ะ ช่วงดึกนี่แหละคืออิสระ! ฉันจะทำอะไรก็ได้ทีนี้จะได้ใช้ชีวิตจริงๆ เสียที

ก็ตอนกลางวันเราต้องใช้ชีวิตอยู่ในกรอบต่างๆ เช่น บทบาทคนทำงาน บทบาทครอบครัว บทบาทเด็กเรียน หรือโดนลูกค้า ภาระหน้าที่ต่างๆ เป็นโจรขโมยเวลาไปทั้งวัน

ยังไงถ้าเรารีบนอนทุกอย่างก็จะจบ วนไปตอนเช้าที่แสนยุ่งอีกอยู่ดี ถ้าเช่นนั้นขอเวลาฮีลใจตัวเองเสียหน่อยก็แล้วกัน

จิตวิทยาที่อยู่เบื้องหลังการนอนดึกเพื่อล้างแค้นคืออะไร?

Revenge Bedtime Procrastination หรือการนอนดึกเพื่อล้างแค้นนี้ยังเป็นเรื่องใหม่ในศาสตร์การนอนหลับ เป็นผลให้มีการถกเถียงกันอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับจิตวิทยาที่อยู่เบื้องหลังการอดนอนแบบสมัครใจนี้ (ปกติเราจะเจอแต่คนอยากนอน แต่นอนไม่หลับ แต่อันนี้จงใจไม่นอนเอง ฮ่าๆ)

คำอธิบายที่หนึ่ง บอกว่าการล้างแค้นนี้เกิดจากความล้มเหลวในการควบคุมตนเอง หรือควบคุมตนเองไม่ค่อยได้อยู่แล้วซึ่งมีนิสัยชอบผัดวันประกันพรุ่ง จนอาจมีแนวโน้มที่จะผัดวันประกันพรุ่งเรื่องเวลานอนด้วย

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยกับคำอธิบายนี้ จึงมีการโต้เถียงโดยคำอธิบายที่สองว่า นอนดึกแบบนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการเน้นการควบคุมตนเอง แต่อาจเป็นผลมาจากคนที่มี Primetime ช่วงดึก หรือมีนิสัย “นกฮูกกลางคืน” ซึ่งถูกบังคับให้ต้องปรับตัวให้เข้ากับตารางเวลาที่ออกแบบมาสำหรับ “นกยุคแรก”

การนอนดึกเพื่อล้างแค้นอาจไม่ใช่ความล้มเหลวในการควบคุมตนเอง แต่เป็นความพยายามที่จะหาเวลาพักฟื้นเพื่อตอบสนองต่อความเครียด

แต่ก็ยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างสำหรับภาวะนี้ ซึ่งจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อให้เข้าใจการนอนดึกเพื่อล้างแค้นได้ดียิ่งขึ้นกันต่อไป

วิธีป้องกันภาวะนอนดึกเพื่อล้างแค้น

1. หากิจกรรมหรือวิธีคลายเครียดที่ใช้เวลาสั้นๆ เป็นกิจวัตรก่อนนอนแทน (ยิ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพ และเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ด้วยยิ่งดี) เช่น การอ่านหนังสือ การทำสมาธิ หรือการยืดเหยียดเบา ๆ สิ่งเหล่านี้ช่วยให้คุณนอนหลับได้ดีขึ้นด้วย

2. ปรับสภาพแวดล้อมในห้องนอนให้น่านอน เช่น แสงสว่างที่พอดี ความมืดและเงียบสงบ มีที่นอนและเครื่องนอนที่สะดวกสบาย มีหมอนนุ่มนิ่มที่เราชอบล้อมรอบเตียง

การทำทุกอย่างให้พื้นที่นอนหลับน่าสนใจแบบนี้ อาจพอที่จะต่อกรกับความรู้สึกต่อต้านว่าไม่อยากนอน และความอยากนอนดึกเพื่อทำกิจกรรมสันทนาการได้บ้าง

นอกจากนี้ยังมีวิธีอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับการแก้อาการนอนไม่หลับ

  • รักษาเวลาเข้านอนและเวลาตื่นนอนให้เป็นกิจวัตร รวมถึงในวันหยุดด้วย
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีนในช่วงบ่ายหรือเย็น
  • หยุดใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รวมถึงโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ตอย่างน้อยครึ่งชั่วโมงก่อนเข้านอน

ทำสิ่งนี้ให้เป็นสม่ำเสมอทุกคืนเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการนอน เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพให้มากที่สุด การเยียวยาตัวเองด้วยสิ่งที่อยากทำเป็นเรื่องที่ดี แต่การนอนน้อยถือเป็นเรื่องใหญ่ต่อสุขภาพจิต มันเชื่อมโยงกับปัญหาการควบคุมอารมณ์ ทำให้อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงกับความผิดปกติของสุขภาพจิตเช่นภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลด้วย

ดังนั้นหากคุณพบว่าปัญหาการนอนหลับเข้าขั้นวิกฤตแล้วควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และปรับพฤติกรรมที่จะช่วยให้คุณพักผ่อนได้ดีขึ้น

บทความที่เกี่ยวข้อง

ที่มา : Revenge Bedtime Procrastination: Definition & Psychology | Sleep Foundation

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here