ฝีดาษลิง! ภัยร้ายตัวใหม่-ติดต่อจากสารคัดหลั่งคล้ายโควิด

0
632
kinyupen

ภายหลังสถานการณ์โควิดเริ่มจะดีขึ้นในหลายประเทศ อย่างในประเทศไทยก็มีแผนปรับโรคโควิดเข้าสู่ระยะของโรคประจำถิ่นแล้ว แต่ไม่ทันไรทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรก็ได้พบคนติดเชื้อโรค ‘ฝีดาษลิง’ เพิ่มอย่างต่อเนื่องและต่างก็เร่งหาสาเหตุที่แน่ชัด วันนี้กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตเลยจะพาคุณมารู้จักกับภัยร้ายตัวใหม่นี้ ที่สามารถติดต่อกันจากสารคัดหลั่งได้เหมือนกับโรคโควิด19 กันค่ะ

โรคฝีดาษลิงคืออะไร มีสาเหตุจากอะไร

          โรคฝีดาษลิงเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส พบครั้งแรกในลิงทดลองในปี พ.ศ. 2501 โดยเกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae จัดอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus เช่นเดียวกับไวรัสอีกหลายชนิด เช่น vaccinia virus, cowpox virus, variola virus เป็นต้น เชื้อไวรัสฝีดาษลิงเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษ โดยพบในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิง และสัตว์ฟันแทะหลายชนิด เช่น หนู กระรอก กระต่าย เป็นต้น สัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงรวมทั้งคนก็อาจติดเชื้อได้

โรคนี้พบมากในแอฟริกากลางและตะวันตก สัตว์หลายชนิด รวมทั้งคนสามารถติดเชื้อนี้ได้ โดยสามารถติดโรคนี้จากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัด หรือการกินเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ เป็นต้น การแพร่เชื้อจากคนสู่คนอาจเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสใกล้ชิด ล่าสุดประเทศสหรัฐอเมริกาก็ได้พบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงรายแรก รวมถึงสหราชอาณาจักรก็พบคนติดเชื้อขึ้นต่อเนื่อง

อาการ-การติดต่อของ ‘ฝีดาษลิง’

อาการของฝีดาษลิงนั้นมีลักษณะอาการคล้ายกับผู้ป่วยโรคโควิด19 คือ มีอาการป่วย มีไข้ หนาวสั่น ปวดหัว เจ็บคอ แต่จะต่างกันตรงที่ผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงจะมีอาการต่อมน้ำเหลืองโต ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง และอ่อนเพลีย จากนั้นประมาณ 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้นบริเวณแขนขา และอาจจะเกิดบนหน้าและลำตัวได้ด้วย ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง ในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา อาการป่วยจะอยู่ประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้

โรคนี้สามารถติดโรคนี้จากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัด หรือการกินเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ เป็นต้น การแพร่เชื้อจากคนสู่คนอาจเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสใกล้ชิด แต่มีโอกาสน้อยมากในการแพร่จากคนสู่คน ผู้ป่วยจะแสดงอาการของโรคหลังติดเชื้อประมาณ 12 วัน

การควบคุมและป้องกันโรค

เริ่มต้นด้วยการเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือการกินเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ การฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษจะสามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ประมาณร้อยละ 85 ก่อนหน้าที่จะกวาดล้างไข้ทรพิษได้นั้น มีการฉีดวัคซีนหรือที่เรียกกันว่าการปลูกฝี ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคนี้ได้

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าสถานการณ์โควิดในหลายประเทศจะเริ่มดีขึ้น แต่ก็อย่าชะล่าใจไปเพราะ ‘ฝีดาษลิง’ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งภัยร้ายตัวใหม่ที่เราต้องเฝ้าระวังถึงแม้โอกาสการติดต่อจากคนสู่คนจะน้อยก็ตาม

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here