จะทำอย่างไรให้ “ใช้” เงินซื้อความสุข?

0
783
kinyupen

“เงินซื้อความสุขทุกอย่างไม่ได้” เป็นคำพูดคลาสสิกที่อาจเป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว ท่ามกลางสถานการณ์ที่คนจำนวนมากเงินเก็บหาย รายได้หดนั้น การบริหารเงินให้เพียงพอสำหรับรายจ่ายในแต่ละเดือนยังคงเป็นเรื่องยาก ยิ่งทำให้การซื้อความสุขห่างไกลและเป็นได้แค่ความฝัน

อย่างไรก็ตามท่ามกลางความตึงเครียด ความกดดันในชีวิต และพฤติกรรมของคนที่ต้องปรับตัวสอดรับเข้ากับยุคนิวนอร์มัล การแบ่งเงินส่วนหนึ่งเพื่อซื้อความสุขบ้างก็ถือเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ วันนี้กินอยู่เป็น 360 องศาในการใช้ชีวิต จึงมี 4 หลักการที่จะใช้เงินซื้อความสุข ซึ่งเป็นหนึ่งในงานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) มาฝาก

1. การใช้เงินซื้อของให้ตัวเอง

เป็นการใช้เงินซื้อความสุขที่อาจจะตอบโจทย์กับลักษณะการใช้จ่ายของคนส่วนใหญ่ที่มีเงินเหลือเก็บ และเลือกซื้อสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของตัวเอง เช่น สมาร์ตโฟนรุ่นล่าสุด นาฬิกาหรู หรือสินค้าแบรนด์เนม

ซึ่งอาจสร้างความสุขให้เกิดขึ้นในระยะเวลาหนึ่งแต่อาจไม่ยั่งยืน เพราะปกติธรรมชาติของมนุษย์ส่วนใหญ่มีความต้องการไม่สิ้นสุด หากรายได้หรือมีเงินมากขึ้น ความต้องการในการใช้สินค้าราคาแพงก็ขึ้นตาม ทำให้การซื้อลักษณะนี้ไม่สามารถสร้างความสุขได้นาน หรือไม่คุ้มค่าเท่ากับการใช้เงินซื้อความสุขอีก 3 ประเภทที่เหลือ

2. การใช้เงินซื้อประสบการณ์

เป็นการใช้เงินที่สามารถสร้างความสุขและความพึงพอใจในระยะยาวได้มากกว่าการชอปปิ้ง โดยประสบการณ์ที่เราหมายถึงอาจจะเป็นการเดินทางท่องเที่ยวและได้ทานอาหารร้านอร่อย การชมภาพยนตร์ร่วมกับครอบครัว โดยเฉพาะถ้าเป็นประสบการณ์ร่วมกับผู้อื่นเช่น ครอบครัว แฟน  ก็ยิ่งทำให้ความสุขคงอยู่ได้ยาวนานกว่า เนื่องจากเป็นความทรงจำที่มีหลากหลายเรื่องราว จะย้อนให้เรานึกถึงได้ตลอด และสามารถนำกลับมาพูดถึงได้เสมอ

3. การใช้เงินซื้อเวลา

ในกรณีนี้หมายถึงการจ่ายเงินซื้อความสะดวกสบายเพื่อไม่ต้องเสียเวลาทำสิ่งที่ไม่อยากทำ หรืออีกมุมนึงคือการนำความทุกข์ที่เกิดจากการใช้เวลาทำสิ่งที่ไม่ชอบหรือไร้ประโยชน์ไปให้ผู้อื่นทำแทน เช่น การจ้างแม่บ้านทำความสะอาดบ้าน จ้างคนตัดหญ้า เพื่อที่จะให้ตัวเองได้มีเวลาทำสิ่งที่ชอบ

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการนั่งรถไฟฟ้า การซื้อคอนโดหรือเช่าห้องพักใกล้ที่ทำงานเพื่อไม่ให้เสียเวลารถติดบนท้องถนน การสั่งอาหารเดลิเวอรีเพื่อไม่ต้องเสียเวลาเดินทางและต่อคิว ตลอดจนการซื้อเครื่องทุ่นแรงอัตโนมัติ อย่างเครื่องล้างจาน หุ่นยนต์ดูดฝุ่น ด้วย

4. การใช้เงินเพื่อคนอื่น

ในงานวิจัยใช้คำว่า Prosocial Spending หรืออาจแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า การใช้เงินเพื่อสังคม โดยยกตัวอย่างให้เช่น การบริจาคเงิน การบริจาคสิ่งของให้ผู้ประสบภัยหรือคนที่เดือดร้อน การเลี้ยงอาหารเพื่อน การซื้อขนมส่งให้ญาติหรือคนสนิท ซึ่งเป็นความสุขที่เกิดจากการให้ ส่งผลเป็นความอิ่มเอมใจที่สามารถสร้างความสุขให้กับผู้อื่นได้

อย่างไรก็ตามทั้ง 4 หลักการที่กล่าวมาข้างต้น อยากให้คุณรู้ข้อจำกัดในการใช้จ่ายของตัวเราก่อน แล้วก็เลือกสิ่งที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ตัวเองไปประยุกต์ใช้ เราจะได้ใช้เงินอย่างมีความสุข

กินอยู่เป็นขอขอบคุณที่มาจาก

ธนา เธียรอัจฉริยะ. (2565, เมษายน – มิถุนายน) . “CAN MONEY BUY HAPPINESS?,” happiness. 49: 28–29

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here