“กตัญญู” ช่องโหว่สวัสดิการรัฐ ผลักภาระให้ประชาชนดูแลกันเอง

0
740
kinyupen

จากช่วงที่ผ่านมา คุณหมอของขวัญ เจ้าแม่ Hermes ได้กล่าวถึง พิมรี่พาย แม่ค้าออนไลน์ปากแซ่บที่เราน่าจะรู้จักกันดี เธอด่าลูกค้ากลางไลฟ์ เหตุจากคอมเมนต์ชาวเน็ตที่บอกว่า “คนดูน้อยจัง” ทำให้เธออารมณ์เดือด ปรี๊ดแตกด่าลูกค้านานกว่า 20 นาทีในไลฟ์ ทำให้เกิดแฮชแท็ก #พิมรี่พาย เมื่อหลายวันก่อน

 

 

คราวนี้ เป็นตาของพิมรี่พาย โยนไม้ต่อให้กับคุณหมอของขวัญผุดแฮชแท็กเป็นของตัวเองบ้าง (#หมอของขวัญ) หลังจากที่เธอออกมากล่าวปกป้อง พิมรี่พาย บอกว่า “เอาเงิน 5 ล้านไปกองใส่พ่อแม่ นั่นคือกตัญญู คุณทำได้อย่างเขาไหม” ด้วยเหตุนี้ทำให้กลายเป็นกระแสวิพากษ์ วิจารณ์ในโลกโซเชียล ชาวเน็ตต่างตั้งคำถามว่า ต้องมีเงินถึง 5 ล้านไปกองให้พ่อแม่ใช่ไหม ถึงจะเป็นคนกตัญญู หรือว่าความกตัญญูจะวัดด้วยจำนวนเงิน

 

ฟลุ๊คกะล่อน เน็ตไอดอลชื่อดัง โพสต์ความคิดเห็นผ่านอินสตาแกรมสตอรีว่า “หะ? ทำไมต้องเอาเงิน 5 ล้านไปกอง ถึงเรียกว่ากตัญญู แง งงอะ ทุกคนภาระไม่เท่ากัน ต้นทุนชีวิตไม่เท่ากัน สิ่งที่คุณหมอพูดคือกำลังตอกย้ำความล้มเหลวของประเทศนี้มากๆ ที่โตมาต้องเอาเงินให้พ่อให้แม่จะได้ถูกเรียกว่ากตัญญู ทุกคนมีชีวิตเป็นของตัวเอง”

 

 

หลังจากที่ฟลุ๊คกะล่อนโพสต์ ก็มีชาวเน็ตจำนวนมาก แห่คอมเมนต์เห็นด้วยกับฟลุ๊คกะล่อน ทำให้เห็นได้ว่า คนรุ่นใหม่ มีมุมมองเรื่องของความกตัญญูที่เปลี่ยนไป

 

จากกระแสวิพากษ์ วิจารณ์ต่างๆ กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอแชร์ความคิดเห็นเรื่องของความกตัญญู กับบริบทของสังคมไทย ว่าความกตัญญูคือการให้เงินบุพการี หรือว่าเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องดูแลประชาชนกันแน่?

 

ความกตัญญู อาจมีผลมาจากความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานหลายสิบปี ทุกอาชีพได้รับสวัสดิการที่ไม่เท่าเทียมกัน ทำให้เกิดเป็นปัญหารัฐผลักภาระให้ประชาชน เห็นได้จาก บ้านไหนมีลูกรับข้าราชการ พ่อแม่ก็สบายไป ส่วนบ้านไหนไม่มี ลูกก็รับภาระหน้าที่อันหนักอึ้งที่เรียกว่า “ความกตัญญู” ไป

 

รัฐสวัสดิการที่ไม่เท่าเทียมกัน และไม่ครอบคลุม ทำให้ลูกต้องรับภาระหน้าที่ค่าใช้จ่ายในการดูแลพ่อแม่ โดยที่มีเงินอุดหนุนช่วยเหลือไม่เพียงพอ จึงเกิดเป็นคำที่เรียกว่า “ความกตัญญู” ขึ้น ต่างกับต่างประเทศ ที่ให้การสนับสนุนช่วยเหลือในเรื่องของรัฐสวัสดิการของผู้สูงอายุอย่างจริงจัง ภาระหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุส่วนใหญ่เป็นหน้าที่ภาครัฐ

 

ส่องรัฐสวัสดิการ สำหรับผู้สูงอายุในต่างประเทศ

 

 

  1. ประเทศสวีเดน มีประชากรผู้สูงอายุ ร้อยละ 21.7 ของประชากรทั้งหมด
    • เงินบำนาญเฉลี่ย 13,000 โครนาสวีเดน หรือประมาณ 46,460 บาทไทยต่อเดือน
    • ถ้าผู้สูงอายุมีปัญหาด้านที่พัก และอยู่คนเดียว รัฐมีหน้าที่จัดหาที่อยู่อาศัยให้และมีบริการดูแลช่วยเหลือต่างๆ
    • หากครอบครัวไหนยังคงดูแลผู้สูงอายุเองรัฐจะให้เงินสนับสนุนในการดูแลผู้สูงอายุ

 

  1. ประเทศเยอรมนี มีประชากรผู้สูงอายุ ร้อยละ 26.2 ของประชากรทั้งประเทศ
    • มีสวัสดิการจากรัฐ 4 แบบคือ
      • ประกันสังคม
      • ประกันสุขภาพ
      • ประกันบำนาญ
      • การช่วยเหลือต่างๆ ทางสังคม จากภาษีที่สะสมไว้ในกองทุน
    • เงินบำนาญได้ตามการเสียภาษี เริ่มต้นที่ประมาณ 50,000 บาท

 

  1. ประเทศออสเตรเลีย มีประชากรผู้สูงอายุ ร้อยละ 15.9 ของประชากรทั้งประเทศ
    • บังคับให้ประชาชนจ่ายเงินเข้ากองทุนสำหรับใช้เมื่อยามเกษียณ
    • มีเงินกองทุนสนับสนุนในเรื่องที่อยู่อาศัย
    • มีเงินบำนาญให้ เดือนละประมาณ 30,000 บาท
    • สวัสดิการการรักษาพยาบาลและค่ายา
    • มีเจ้าหน้าที่ดูแลทั้งที่โรงพยาบาล บ้าน และชุมชน

 

เมื่อได้ส่องรัฐสวัสดิการของต่างประเทศแล้ว จะเห็นได้ว่า รัฐบาลของต่างประเทศ ต่างมีรัฐสวัสดิการ ที่สนับสนุนผู้สูงอายุอย่างจริงจัง เมื่อเทียบกับประเทศไทย ที่มีประชากรผู้สูงอายุเพียง ร้อยละ 17.9 เพียงเท่านั้น แต่กลับได้รับแค่เบี้ยผู้สูงอายุ เดือนละ 600-1,000 บาทเท่านั้นเอง จะใช้จ่ายอย่างไร ภายใน 1 เดือนก็คงไม่พอใช้ จึงทำให้ภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ตกไปเป็นของลูกหลาน เป็นคนรับผิดชอบ

 

หากรัฐสวัสดิการดี สมการของความกตัญญูจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนเงิน แต่จะเปลี่ยนมาเป็นความรัก ความใส่ใจแทน แล้วคุณล่ะ คิดเห็นอย่างไร กับคำว่า ‘กตัญญู’

 

ข้อมูลอ้างอิง : https://thematter.co/social/social-welfare-in-other-country/134828

kinyupen