เป็นที่ฮือฮาเมื่อโรคขี้เต็มท้อง หรือ ‘ภาวะอุจจาระอุดตัน’ ที่ “ตุ๊กตา จมาพร” เป็น ก็มีใครหลายคนเสี่ยงโรคนี้เช่นกัน ด้วยสังคมยุคใหม่ รับประทานผัก-ผลไม้น้อย นั่งนาน ใช้ชีวิตเร่งรีบ ติดอยู่บนรถทำให้ชอบอั้นอุจจาระ ทำเอาท้องผูกกันถ้วนหน้า
ท้องผูกดูเหมือนเรื่องปกติของคนรุ่นใหม่ แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะอุจจาระที่ตกค้างทำให้เกิดโรคต่างๆ มากมาย กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตชวนคุณรู้จักอันตรายจากการ ‘อั้น’ พร้อมลิสต์วิธีแก้ไขท้องผูก ฝึกพฤติกรรมและวิธีขับถ่ายที่ถูกสุขลักษณะมาฝาก
โรคขี้เต็มท้องคืออะไร
ตามคำเรียกเลย คือมีอุจจาระตกค้างในร่างกายเป็นจำนวนมาก หรืออาจเรียกว่าภาวะอุจจาระอุดตัน คือ ภาวะที่อุจจาระแห้งและอุดตันบริเวณลำไส้ตรง จนไม่สามารถผ่านออกมาได้จนเกิดจากการที่มีปัญหาท้องผูกรุนแรง หรือ ท้องผูกเป็นเวลานาน
แต่โรคนี้ไม่ได้เกิดกับคนที่ท้องผูกอย่างเดียว แต่เกิดได้กับทุกการขับถ่าย เพียงคุณอั้น หรือมีการขับถ่ายที่ไม่ถูกสุขลักษณะ อุจจาระจะสะสมในร่างกายเรา ทำให้ร่างกายปั่นป่วน
ท้องผูกบ่อยๆ / ไม่ค่อยขับถ่ายเลย ส่งผลเสียอะไรบ้าง
- เสี่ยงโรคขี้เต็มท้อง
- ท้องผูกเรื้อรังจนทำให้มีอาการของลำไส้อุดตัน ได้แก่ ปวดท้องมาก อึดอัดแน่นท้อง คลื่นไส้อาเจียน ไม่ผายลม และไม่ถ่ายอุจจาระ
- เสียบุคลิก เพราะของเสียในร่างกายเยอะ ก่อให้เกิด สิว กลิ่นปาก กลิ่นตัว เรอเปรี้ยว ตดเปรี้ยว
- อาจเกิดโรคริดสีดวงทวารหรือแผลปริรอบๆ ทวารหนัก เนื่องจากต้องใช้แรงเบ่งในการขับอุจจาระที่ตกค้างอยู่ภายในลำไส้จนแห้งและแข็ง
- ทำให้ความดันในช่องทรวงอกเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยโรคหัวใจอาจเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้
- ทำให้ความดันในลูกตาสูงขึ้น ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดตาและหู
- ทำให้แรงดันในช่องท้องสูงขึ้น จนเป็นสาเหตุของไส้เลื่อนได้
- ทำให้กล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกรานอ่อนแอ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
ผูกได้ ก็แก้ได้ : ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ยับยั้งอาการท้องผูก
- หลีกเลี่ยงการพึ่งพายาระบาย ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก่อน
- พยายามเข้าห้องน้ำหลังมื้ออาหารเพราะอาหารจะกระตุ้นลำไส้ใหญ่ให้บีบตัว
- เข้าห้องน้ำภายใน 2 ชม. หลังตื่นนอน หรือหลังอาหารเช้า เย็น เพื่อฝึกการตรงเวลาของระบบขับถ่าย
- ไม่ควรเบ่งนานกว่า 5 นาที และไม่ควรนั่งถ่ายนาน ๆ ด้วยการอ่านหนังสือพิมพ์หรือดูโซเชียลมีเดียไปด้วย
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 2 ลิตร ให้อุจจาระอ่อนนุ่มขับถ่ายง่าย
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ เพื่อให้ลำไส้เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น
- เพิ่มการกินอาหารที่มีใยอาหารให้ได้ 25-30 กรัมต่อวัน เช่น อัลมอนด์ อินทผลัม ลูกพรุน เนื้อมะพร้ว ข้าวโพดข้าวกล้อง อะโวคโด สะคา ใบชะพลู ถั่วฝักยาว มะม่วงดิบ
Tip : รับประทานอาหารเช้าทุกวัน เพราะอาหารเช้าช่วยให้กระเพาะอาหารขยายตัวแล้วไปกระตุ้นให้ลำไส้ใหญ่ทำงานเกิดเป็นความรู้สึกอยากถ่าย
แต่ควรเผื่อเวลาสำหรับการเข้าห้องน้ำหลังอาหารเช้าและการเดินหลังอาหารประมาณครึ่งชั่วโมงไว้ด้วย อย่าอั้นถ่าย เพราะความรู้สึกอยากถ่ายนั้นเกิดขึ้นเพียงประมาณ 2 นาทีเท่านั้น หากไม่มีการถ่าย ความรู้สึกอยากถ่ายจะหายไปและอุจจาระก็จะแข็งขึ้นทำให้เกิดปัญหาท้องผูกตามมา
กินอยู่เป็นขอขอบคุณข้อมูลจาก