‘ภาวะโลกรวน’ หายนะจากความรักสบายของมนุษย์

0
619
kinyupen

โควิด-19 PM 2.5 ไฟไหม้ป่า น้ำท่วมใหญ่ในจีน ยังมีเรื่องแย่กว่านี้รออยู่ จากหนี้ที่เราทำร้ายโลกมากว่า 100 ปี

นอกเหนือจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เป็นวิกฤตใหญ่ของโลกในเวลานี้ เราได้เห็นภัยธรรมชาติที่รุนแรงในแบบที่ไม่เคยเห็นในช่วงชีวิตของเราอย่างต่อเนื่อง

ไม่นานมานี้เองเพิ่งเกิดไฟป่าขนาดยักษ์ที่แคลิฟอร์เนีย น้ำท่วมครั้งมโหฬารในจีนและภูมิภาคยุโรป ได้เห็นน้ำทะลักท่วมระบบรถไฟใต้ดินอย่างไม่เคยมีมาก่อน คลื่นความร้อนทุบสถิติในไซบีเรีย หรือแม้กระทั่งการเกิดฟ้าผ่าในฤดูมรสุมของอินเดียจนมีผู้เสียชีวิตถึง 76 คนใน 1 วัน

 

ถึงกระนั้นหลายปีที่ผ่านมาก็ยังไม่มีความร่วมมือของประชาคมโลกที่จะแก้ไขปัญหาโลกร้อน อันเกิดขึ้นจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นอย่างจริงจัง

 

แม้จะมีการทำ “ความตกลงปารีส” ในการตั้งเป้าหมายในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เทียบกับอุณหภูมิเฉลี่ยยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ทว่าก็ไม่สามารถทำให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมได้เลย

มันจะแย่มากไปกว่านี้สักแค่ไหน? เราจะปรับเพื่อเปลี่ยนโลกทันไหม? กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตจะมาให้คำตอบนี้กัน

 

“ภาวะโลกรวน” หรือ “ไคลเมจเชนจ์” ถูกพูดถึงตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศอย่างคาดไม่ถึง

 

ชมคลิปได้ที่

 

กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติที่มีชื่อว่า คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ไอพีซีซี) ภายใต้องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) มีข้อสรุปจากงานวิจัยกว่า 14,000 ชิ้นว่า เวลานี้โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตภูมิอากาศจากฝีมือมนุษย์ ในแบบที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้แล้ว

 

มันชัดเจนแจ่มแจ้งแล้วว่ามนุษย์ส่งผลให้ชั้นบรรยากาศ มหาสมุทร และผืนแผ่นดินร้อนขึ้น

 

ประโยคดังกล่าวนับเป็นการใช้ภาษาที่ชัดเจน ยกระดับจากรายงานไอพีซีซีฉบับก่อนหน้า ซึ่งเคยระบุไว้เพียงว่า “มีความเป็นไปได้สูงมาก” ที่อุตสาหกรรมจะเป็นต้นเหตุของภาวะโลกรวนเท่านั้น

 

หายนะใหญ่ ภายในปี 2050

ไอพีซีซีระบุว่า เวลานี้ไม่มีเวลาพอที่จะชะลอภาวะโลกรวนได้อีกต่อไปแล้ว แม้โลกจะร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงมหาศาลในช่วง 10 ปีถัดไป อุณหภูมิเฉลี่ยก็จะยังสูงขึ้นระดับ 1.5 องศาเซลเซียส ภายในปี 2040 และอาจเพิ่มเป็น 1.6 องศาในปี 2060 ก่อนที่จะทรงตัว

แต่หากปล่อยให้เป็นไปตามแนวโน้มที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ถึงปี 2060 โลกจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น 2.0 องศาเซลเซียส และ 2.7 องศา เมื่อสิ้นศตวรรษนี้

ความร้อนในระดับนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อ 3 ล้านปีก่อน ซึ่งระดับน้ำในมหาสมุทรสูงกว่าระดับปัจจุบันถึง 25 เมตร

 

สภาพภูมิอากาศโลกจะยังคงรุนแรงแบบสุดโต่งมากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจถึงขั้นหายนะ  แม้ว่าโลกจะสามารถจำกัดอุณหภูมิให้ไม่สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสก็ตาม

สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ การเกิดคลื่นความร้อนจัดแบบที่ปกติจะเกิดขึ้นทุก 50 ปี เวลานี้จะเกิดขึ้นทุกๆ 10 ปี พายุหมุนเขตร้อนจะทวีความรุนแรงขึ้น จะเกิดฝนและหิมะตกมากขึ้นใน 1 ปี ขณะที่ภาวะแห้งแล้งจะเกิดบ่อยขึ้นกว่าเดิม 1.7 เท่า ฤดูกาลไฟป่าจะยาวนานและรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม

 

ในประเทศไทย เราเริ่มเห็นสัญญาณผิดปกติเล็กๆ แล้ว คือ สภาพอากาศแปรปรวนมากขึ้น ฤดูร้อนที่ยาวนานผิดปกติ
การจัดสรรทางธรรมชาติที่ผิดเพี้ยน เช่น ผลไม้ที่ออกผลผิดช่วงเวลา อย่างมังคุด ทุเรียน อ้อย

 

โดยสรุปแล้วคือรายงานของไอพีซีซีได้ส่งสัญญาณเตือนที่ชัดเจนที่สุดแล้วว่า “หายนะ” กำลังใกล้เข้ามาทุกทีหากไม่ร่วมมือกันและดำเนินการอย่างจริงจังและรวดเร็วเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศโลก

 

ภาวะโลกร้อน ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ปัญหาโลกร้อนได้เริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 100 ปีมาแล้ว นับแต่ที่มนุษย์เริ่มรู้จักเครื่องจักรไอน้ำและนำเอาเชื้อเพลิงฟอสซิล อันได้แก่ ถ่านหิน และน้ำมัน ขึ้นมาใช้ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการปลดปล่อยก๊าซ

 

วิธีร่วมมือกันลดโลกร้อน : สำหรับประชาชนทั่วไป

เมื่อดูความสามัคคีของคนไทย อย่างเรื่อง Popcat หรือในทวิตเตอร์แล้ว หากคิดจะทำก็ทำได้ ถ้าอีก 30 ปีกรุงเทพฯ จะต้องจมน้ำ ถ้าเช่นนั้นเรามารวมพลังรักษ์โลกตอนนี้กันดีกว่าไหม

  1. ลดการใช้พลังงานในบ้าน นอกบ้าน และสำนักงาน จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ตัวการโลกร้อน
    • ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เมื่อไม่ได้ใช้งาน
    • ใช้ผลิตภัณฑ์ประหยัดพลังงาน เช่น หลอดไฟพลังงาน เลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉลากประหยัดไฟ
    • ขับรถยนต์ส่วนตัวให้น้อยลง ด้วยการปั่นจักรยาน ใช้รถโดยสารประจำทาง หรือใช้การเดินแทน
  1. ใช้น้ำประปาอย่างประหยัด เพราะระบบการผลิตน้ำประปาของเทศบาลต่างๆ ต้องใช้พลังงานจำนวนมากในการทำให้น้ำสะอาด และดำเนินการจัดส่งไปยังอาคารบ้านเรือน
    • ติดตั้งฝักบัวอาบน้ำที่ปรับความแรงน้ำต่ำๆ ได้ จะช่วยประหยัดน้ำ
  1. ทาหลังคาบ้านด้วยสีอ่อน เพื่อช่วยลดการดูดซับความร้อน
  2. ขับรถอย่างมีประสิทธิภาพ
    • เลือกรถยนต์รุ่นประหยัดน้ำมัน หรือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด
    • เช็กลมยาง การขับรถที่ยางลมมีน้อยอาจทำให้เปลืองน้ำมันได้ถึง 3% จากภาวะปกติ
    • การขับรถด้วยความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ช่วยลดการใช้น้ำมันลงได้ 20%
    • ไม่เพิ่มน้ำหนักรถให้เปลืองน้ำมัน
  1. ริเริ่มใช้พลังงานทางเลือกในอาคารสำนักงาน
    • ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าเฉพาะจุด
  1. โละทิ้งตู้เย็นรุ่นเก่า ตู้เย็นที่ผลิตเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เพราะใช้ไฟฟ้ามากเป็น 2 เท่าของตู้เย็นสมัยใหม่ที่มีคุณภาพสูง ซึ่งช่วยประหยัดค่าไฟลงได้มาก และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 100 กิโลกรัมต่อปี
  2. ยืดอายุตู้เย็นด้วยการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ
    • ไม่นำอาหารร้อนเข้าตู้เย็น
    • ควรย้ายตู้เย็นออกจากห้องที่ใช้เครื่องปรับอากาศ
    • ละลายน้ำแข็งที่เกาะในตู้เย็นเป็นประจำ เพราะตู้เย็นจะกินไฟมากขึ้นเมื่อมีน้ำแข็งเกาะ
  1. ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีในสวนไม้ประดับที่บ้าน แต่ขอให้เลือกใช้ปุ๋ยหมักจากธรรมชาติแทน
  2. ใช้ต้นไม้ช่วยโลก
    • ปลูกต้นไม้ในสวนหน้าบ้าน ต้นไม้ 1 ต้น จะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 1 ตัน ตลอดอายุของมัน
    • ปลูกไผ่แทนรั้ว ต้นไผ่เติบโตเร็ว เป็นรั้วธรรมชาติที่สวยงาม และยังดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดี
    • ใช้ร่มเงาจากต้นไม้ช่วยลดความร้อนในตัวอาคารสำนักงานหรือบ้านพักอาศัย ทำให้สามารถลดความต้องการใช้เครื่องปรับอากาศ เป็นการลดการใช้ไฟฟ้า
  1. ใช้แสงแดดให้เป็นประโยชน์
    • นำแสงธรรมชาติมาใช้ในอาคารบ้านเรือน ซึ่งจะช่วยลดจำนวนหลอดไฟและพลังงานไฟฟ้าที่ต้องใช้
    • ใช้แสงแดดตากเสื้อผ้าที่ซักแล้วให้แห้ง ไม่ควรใช้เครื่องปั่นผ้าแห้งหากไม่จำเป็น เพื่อประหยัดการใช้ไฟฟ้า
  1. สร้างนโยบาย 3Rs ทั้งในบ้านและอาคารสำนักงาน
    • Reduce (ลดการใช้)
    • Reuse (ใช้ซ้ำ)
    • Recycle (นำกลับมาใช้ใหม่)

 

เมื่อนักวิทยาศาสตร์และหมอดูพูดเป็นเสียงเดียวกัน

แม้แต่ 4 หมอดูชื่อดัง ยังเห็นตรงกันเกี่ยวกับคำทำนายทั้งเรื่องน้ำท่วมใหญ่ โควิด-19 และการจลาจล

  • หมอบี เสกสันน์ ทรัพย์สืบสกุล ทูตสื่อวิญญาณ
    เล่าผ่านรายการแฉว่าสถานการณ์ตอนนี้ว่าหนักแล้ว แต่มันยังไม่หนัก มันจะไปหนักวันที่ 22 ส.ค. เป็นจุดเริ่มต้น และจะพีคขึ้นเรื่อยๆ เตือนว่าน้ำท่วมยังมีด้วย น้ำท่วมใหญ่กำลังจะมาเยือนประเทศไทย ประมาณเดือนตุลาคม
  • อ.โอเล่ ญาณสัมผัส นักพยากรณ์โหราศาสตร์
    ทำนายดวงเมืองว่าปลายเดือน ก.ย. จะมีการสูญเสีย หลังจากนั้นคนจะตายเป็นไปไม้ร่วง เพราะวิกฤตมันยังไม่จบ เพียงแต่มันพึ่งเริ่มเท่านั้นเอง เตือนว่าเดือน ก.ย. อย่าประมาท
  • อุ๋มอิ๋ม ศิริพร วิไล คนเห็นผี
    ตอนนี้เทพที่คอยดูแลช่วยเหลือมนุษย์ ดูแลไม่ไหวแล้ว ต่อจากนี้มนุษย์ต้องดูแลตัวเอง ซึ่งเดือน ก.ย. ที่จะมาถึงนอกจากจะต้องสู้กับโรคแล้ว ยังต้องระวังเรื่องของน้ำท่วมอีกด้วย
  • ณวรชา พินิจโภคากร หมอปลาย พรายกระซิบ
    ทำนายว่าโควิดจะหนักช่วงเดือนกันยายน ถ้าการจัดการไม่ดี รวมถึงมีการเปลี่ยนแปลง และถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง คนไทยจะหนักสุดเดือน พ.ย. จนถึงเดือน มี.ค. ปีหน้า ทางออกของประเทศไทยที่จะกลับมาสดใส เดือน ส.ค. ปีหน้า

 

กินอยู่เป็นขอขอบคุณที่มาจาก 80 วิธีลดโรคร้อน (ounlocal.go.th)

COP23 | กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (deqp.go.th)

 

 

kinyupen