อยู่บ้านคัดกรองโควิด Rapid test รู้ก่อนใช้

0
686
kinyupen

ในสถานการณ์เช่นนี้ สิ่งที่เราได้จากการเสพข่าวคือ นอกจากป้องกันตัวเองแบบการ์ดไม่ตกแล้ว การตรวจคัดกรองด้วยตนเองก็สำคัญเพราะด้วยเชื้อไวรัสโควิด19 ที่กลายพันธุ์เวลาที่เราติดเชื้อ มักจะไม่มีอาการในช่วงเริ่มต้นจนกว่าจะแพร่กระจาย

ทีนี้ประกาศล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุขคือ ทุกบ้านต่างสามารถหาซื้อชุดตรวจโควิดเร่งด่วน ที่เรียกว่า การตรวจ Rapid Test ชนิด Antigen ไว้ประจำบ้านและตรวจสอบด้วยตนเองได้แล้ว หากการซื้อนั้นสิ่งที่ทุกคนควรทราบก่อน ว่า “ซื้อประเภทไหน” “ยี่ห้อใด” และซื้อที่ไหนจึงจะได้ของที่ใช่ กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตจึงจัดทำข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางให้รู้และเลือกใช้แบบเข้าใจง่าย

 

Rapid Test ไม่ใช่ที่สุดของการตรวจเชื้อ

Rapid Test เป็นชุดทดสอบการติดเชื้ออย่างง่ายและรวดเร็ว คือใช้เวลาประมาณ 10 – 30 นาที โดยเมื่อพบว่าติดเชื้อแล้ว ต้องเข้ารับการตรวจแบบ RT-PCR (Real Time Polymerase Chain Reaction) ที่ใช้เวลาประมาณ 24 – 48 ชั่วโมง อีกขั้นจากห้อง Lab หรือโรงพยาบาล เพราะจะให้ผลที่แม่นยำ โดย Rapid Test เป็นเสมือนชุดตรวจคัดกรองด่านแรก ลดกังวล ลดค่าใช้จ่ายหากไม่มีการติดเชื้อและลดจำนวนลดภาระของเจ้าหน้าที่และห้อง Lab

 

ซื้อที่ไหน ดูอย่างไร ว่า “ใช่”

Rapid Test Antigen แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen Test Self-Test Kits) จะสามารถซื้อได้ที่ร้านขายยาเท่านั้น ฉะนั้นอย่าซื้อ Online (ตามประกาศของรัฐเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564) โดยมีเพียง 5 ยี่ห้อที่เพิ่งผ่านการอนุญาต ณ วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 แต่ถ้านับยี่ห้อที่ขอขั้นทะเบียน จะมีประมาณ 24 ราย

 

 

วิธีใช้

 

สำรวจ ดูวิธีให้ใช้ “เพื่อไม่พลาด”

Rapid Test Antigen เป็นตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยใช้วิธีการ Swab เก็บตัวอย่างสารคัดหลั่ง ที่บริเวณจมูกลึกถึงคอ เก็บจากลำคอ หรือเก็บจากบริเวณอื่นอย่างเช่นช่องปากและลำคอ หรือน้ำลาย ขึ้นอยู่กับวิธีการเก็บตัวอย่างของชุดการตรวจนั้น ๆ ซึ่งวิธีการตรวจนี้ ผู้ตรวจจะต้องรับเชื้อมาแล้ว 5 – 14 วัน ถึงจะได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำ เพราะหากเชื้อไวรัสที่มีอยู่น้อย ก็อาจทำให้วิธีการตรวจนี้ไม่พบเชื้อดังจะเห็นได้จากข่าวที่คนในแวดวงบันเทิงว่าผลครั้งแรกใช่ ครั้งต่อมาไม่ใช่ หรือจากภาพที่คนบันเทิงต่างแชร์ภาพขณะตรวจมีก้านไม้สอดเข้าไปในโพรงจมูก

 

หากทั้งนี้ต้องรู้ก่อนว่าชุด Rapid Test Antigen นั้นระบุว่าใช้กับตัวอย่างที่เก็บจากบริเวณใด เท่าที่ตอนนี้มีคือ nasal (โพรงจมูก) , nasopharyngeal (โพรงหลังจมูก) oropharyngeal (ช่องปากและลำคอ) หรือน้ำลาย โดยถ้าเป็นโพรงหลังจมูก ลักษณะก้านไม้ ความยาว และระยะการแยงเข้า จะลึกกว่าโพรงจมูก

 

โดยวิธีการใช้งาน ผู้นำเข้าทั้ง 5 ยี่ห้อได้จัดทำคลิปวิธีใช้อย่างละเอียด โดยดูได้จาก Youtube link (ในตาราง)

 

ข้อควรระวังในการใช้งาน

  • เก็บรักษาชุดตรวจในอุณหภูมิที่กำหนดและตรวจสอบวันหมดอายุก่อนซื้อ
  • อย่าเปิดหรือฉีกบรรจุภัณฑ์จนกว่าจะใช้งาน
  • ไม่ใช้อุปกรณ์หรือตลับทดสอบซ้ำ

 

การเตรียมตัวก่อนเริ่มตรวจ [คำแนะนำจากระบบบริการสุขภาพแห่งชาติของสหราชอาณาจักร (NHS) ]

  • ไม่ควรดื่มหรือทานอาหาร ก่อนการตรวจเชื้ออย่างน้อย 30 นาที
  • หากเพิ่งมีเลือดกำเดาไม่เกิน 24 ชั่วโมง ให้หลีกเลี่ยงการตรวจไปก่อน หรือให้ตรวจจากรูจมูกข้างที่ไม่มีเลือดกำเดาไหล
  • หากเจาะจมูก ต้องถอดห่วงหรือจิลก่อน ให้หลีกเลี่ยงตรวจจากจมูกข้างที่เจาะ

 

วิธีการใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test

  1. ล้างมือด้วยสบู่ น้ำสะอาด และเจลแอลกอฮอล์
  2. เริ่มเก็บตัวอย่างเชื้อ ด้วยการใช้ก้านสำลีสำหรับ swab โดยทำตามคำแนะนำที่มากับชุดตรวจอย่างเคร่งครัด เช่น การแหย่จมูก การแหย่ลำคอ กระพุ้งแก้ม เป็นต้น ซึ่งจะหมุนก้านลำสีประมาณ 3 – 4 ครั้ง หรือ 3 วินาที
  3. นำก้านสำลีมาหมุนใส่หลอดที่มีสารละลายตรวจเชื้อ หมุนวนอย่างน้อย 5 ครั้ง หรือ 15 วินาที แล้วบีบสำลีให้แห้งผ่านหลอด ห้ามให้มือสัมผัสกับก้านสำลีหรือสารละลายเด็ดขาด
  4. เมื่อเสร็จแล้วให้นำก้านสำลีทิ้งใส่ซีล และหยดสารละลายลงในแท่นตรวจ ตามจำนวนหยดที่ชุดตรวจกำหนดไว้ รอผล 15 – 30 นาที

 

วิธีอ่านค่าผลตรวจ

  1. หากตรงตัวอักษร C ขึ้นขีดเดียว แปลว่า ผลตรวจเป็นลบ (ไม่ติดเชื้อ)
  2. หากตรงตัวอักษร C และ T ขึ้น 2 ขีด แปลว่า ผลตรวจเป็นบวก (พบเชื้อ)
  3. หากไม่มีขีดที่ตัว C และ T หรือปรากฏแค่ตรง T แปลว่า แผ่นเทสเสีย

ภาพจาก MThai

 

กรณีผลเป็นบวก (พบเชื้อ) ให้ปฏิบัติดังนี้

  1. เข้ารับการตรวจยืนยันผลแบบ RT-PCR ซ้ำที่โรงพยาบาล
  2. ระหว่างนั้นให้กักตัวเองแยกจากผู้อื่นและหลีกเลี่ยงการใช้ของร่วมกัน
  3. แจ้งผู้ใกล้ชิดที่มีความเสี่ยง ให้เข้ารับการตรวจเชื้อ

กรณีผลเป็นลบ (ไม่พบเชื้อหรือเชื้อมีปริมาณไม่มากพอ) ให้ปฏิบัติดังนี้

  1. หากเป็นผู้ที่สงสัยว่าอาจจะติด ให้ทำการทดสอบซ้ำอีกใน 5 – 7 วัน ในระหว่างนั้นต้องกักตัวแยกจากผู้อื่นเช่นเดียวกับผู้ติดเชื้อ
  2. หากมีอาการของโรคโควิด-19 ให้ทำการทดสอบซ้ำทันที โดยเฉพาะหากมีอาการทางเกี่ยวกับการหายใจ ให้ไปตรวจซ้ำด้วยวิธี RT-PCR ทันที

 

วิธีทิ้งชุดตรวจหลังตรวจเสร็จ

ควรใส่ชุดตรวจที่ใช้แล้วลงซีล แล้วทิ้งในถุงขยะแยกจากขยะอื่น ๆ โดยต้องปิดปากถุงขยะให้แน่นหนาและมิดชิด ห้ามไม่ให้ขยะหลุดรอดออกมาได้ เป็นไปได้ควรใส่ขยะในถุงสีแดง เพราะใช้สำหรับใส่ขยะติดเชื้อ หรืออาจแปะป้าย/ทำสัญลักษณ์ ให้รู้ว่าเป็นขยะติดเชื้อ

kinyupen