เป็นติ่งแล้วยังได้เงินใช้ ด้วยหุ้นของสะสมเพื่อเป็น “เจ้าของทิพย์”

0
433
kinyupen

ของสะสม ของหายาก ของรุ่นลิมิเต็ดอิดิชั่นที่เราได้มาครอบครอง นาฬิกาเอย งานศิลป์เอย โมเดลเอย ลองถามตัวเองดูสิ อยากให้ของเหล่านี้มีมูลค่าเพิ่มหรือไม่? หรืออยากเก็บไว้เฉยๆ? เพราะทุกวันนี้เราสามารถมีความสุขทางใจ พร้อมๆ กับการลงทุนได้ ด้วยการลงทุนของสะสม (Passion Investment)

 

เราอาจได้ยินเรื่องการซื้อของไว้เก็งกำไรขาย แต่ยุคนี้เขาขายหุ้นของสะสมกันแล้วจ้า โดยที่ของนั้นยังอยู่กับเจ้าของเหมือนเดิมนี่แหละ กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต จะพาทำความรู้จักกับศาสตร์การลงทุนใหม่ ที่จะทำให้วิถีนักสะสมเปลี่ยนไป แต่ของสะสมยังอยู่กับเราไม่เปลี่ยนแปลง

 

การเป็นเจ้าของบางส่วน หรือ Fractional Ownership

นวัตกรรมใหม่ของการลงทุนที่ออกแบบมาเพื่อให้นักลงทุนสามารถร่วมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เพียงบางส่วน ได้โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนทั้งหมด แต่ยังคงได้รับสิทธิ์ในการถือครองกรรมสิทธิ์ และที่กำลังเป็นกระแสในต่างประเทศ คือ “การขายหุ้นสินค้าหายากและของสะสม” สำหรับแฟนพันธุ์แท้ที่ชื่นชอบของหายาก

อย่างงานศิลปะระดับโลก กระเป๋า Brand name รุ่น Limited ของสะสมจากวงการกีฬา รวมถึงวงการเกมและการ์ตูนต่างๆ ที่เป็นที่ต้องการของนักสะสม

 

อย่างไรก็ตาม อารมณ์ของการซื้ออาจไม่เหมือนกันเสียทีเดียว เนื่องจากผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่จะไม่มีวันได้เห็นสินค้าจริงด้วยตนเอง ไม่เหมือนนักสะสมแบบเก่า

 

แพลตฟอร์มขายหุ้นสินค้าหายากและของสะสม

แพลตฟอร์มขายหุ้นสินค้าหายากและของสะสมเกิดขึ้นมากมาย จากการคิดค้นของบรรดา Start Up หน้าใหม่ เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางให้นักสะสมที่กำลังจะผันตัวเป็นนักลงทุนได้ครอบครองสิทธิ์ของชิ้นนั้นๆ แม้ว่าจะไม่ได้ของชิ้นนั้นมาเก็บไว้กับตัว แค่มีชื่อเป็นเจ้าของก็ภูมิใจแล้ว แต่อาจขัดใจนักสะสมหน้าเก่า…

 

  1. แพลตฟอร์ม “Rally”
    ก่อตั้งโดย Christopher Bruno และ Rob Petrozzo ปี 2016 เปิดตัวด้วยการให้นักลงทุนซื้อหุ้นของสะสม เช่น รถสปอร์ต นาฬิกา หรือแม้แต่รองเท้าผ้าใบ มีการระดมทุนได้เกือบ 27 ล้านดอลลาร์จากนักลงทุนใหม่ที่มีความต้องการสะสมของแรร์ไอเทม ผู้ลงทุนบนแพลตฟอร์ม Rally สามารถถือหุ้นได้ตั้งแต่ 50 ดอลลาร์ หรือ ประมาณ 1,600 บาทต่อหุ้น ปัจจุบันมีผู้ใช้ 200,000 ราย โดยมีการลงทุนเพิ่มขึ้น 195% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
  2. แพลตฟอร์ม “Masterworks”
    ก่อตั้งโดย Scott Lynn นักสะสมงานศิลปะ ปี 2017 เปิดให้ลงทุนในรูปแบบการเป็น “เจ้าของร่วม” กับ “งานศิลปะ” ใช้เงินทุนน้อยและมีวิธีการที่ง่าย ซื้อหน่วยลงทุนมากหรือน้อยเพียงใดก็ได้ แต่ต้องทำตามกฎข้อแรกด้วยเงินลงทุนเริ่มต้น 1,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 30,000 บาทขึ้นไป ส่วนผลตอบแทนอยู่ที่ประมาณ 12 – 20% ปัจจุบันได้รับความสนใจจากนักลงทุนหน้าใหม่มากกว่า 10,000 คนต่อเดือน มีเงินลงทุนหมุนเวียนเดือนละกว่า 30 ล้านดอลลาร์
  3. แพลตฟอร์ม “Otis”
    ก่อตั้งโดย โดย Michael Karnjanaprakorn ปี 2020 เริ่มต้นด้วยการเสนอขายสิทธิ์การร่วมเป็นเจ้าของผลงานศิลปะของศิลปินชื่อดังนามว่า “Banksy” มูลค่าหุ้นผลงานของ Banksy เพิ่มขึ้นมากถึง 70% ปัจจุบันราคาของผลงานชิ้นดังกล่าวอยู่ที่ 722,000 ดอลลาร์ หรือ ประมาณ 21,660,000 บาท โดยเปิดให้ลงทุนด้วยเงินเพียง 20 ดอลลาร์ หรือ ประมาณ 600 บาท

 

ทั้งนี้แพลตฟอร์มเหล่านี้ ยังไม่เปิดให้บริการในประเทศไทย หากต้องการ Download Application ให้เปลี่ยนประเทศก่อน จึงสามารถใช้บริการเพื่อเลือกชิ้นงานที่ชอบสะสมเก็บเป็นคอลเลคชั่นส่วนตัวได้ (ส่วนแพลตฟอร์ม Masterworks สามารถใช้งานที่เว็บไซต์ได้เลยที่ Masterworks

 

ประเภทของสะสม ของหายาก

หากอยากลงทุนของสะสม หลายคนสงสัย..อะไรที่ควรเพื่อซื้อไว้ เพื่อกำไรได้ชัวร์ที่สุด ดัชนีการลงทุนในด้านลักซ์ชัวร์รี่ (The Knight Frank Luxury Investment Index (KFLII)) แบ่งสินทรัพย์ออกเป็น 9 ประเภท ต่อไปนี้

        1. งานศิลปะ
        2. รถยนต์คลาสสิก
        3. เซรามิกจีน
        4. เหรียญ
        5. เฟอร์นิเจอร์
        6. เครื่องประดับ
        7. แสตมป์
        8. นาฬิกา
        9. ไวน์

 

ทั้งนี้ คุณกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายตัวแทนประกันชีวิต เอไอเอ ประเทศไทย กล่าวในบทความกรุงเทพธุรกิจไว้ว่า

เสน่ห์ของสินทรัพย์แต่ละประเภทมีมาตรฐานชี้วัดทางคุณค่าที่ใกล้เคียงกัน คือ

  1. ความสวยงามที่เป็นเอกลักษณ์ และมีคุณภาพ
  2. ผู้ผลิตหรือผู้สร้างสรรค์ผลงานเป็นที่ยอมรับโดยสากล
  3. การมีอุปสงค์ที่มากกว่าอุปทาน ซึ่งโดยส่วนใหญ่

หากของรัก ของสะสมใด เข้าเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อ มักจะถือว่าเหมาะกับการลงทุน

 

หลายครั้งที่การสะสมของต่างๆ ถูกมองว่าเป็นเรื่องฟุ่มเฟือย เป็นเรื่องไร้สาระ แต่ของสะสมบางชิ้น จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป มีโอกาสทำกำไรได้มากมาย เช่นวิธีข้างต้นที่แบ่งส่วนการเป็น #เจ้าของทิพย์ แต่ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน แนะนำว่าให้ศึกษาข้อมูล ทำความเข้าใจอย่างท่องแท้เสียก่อน บางที #ของมันต้องมี อาจทำให้ #จนทิพย์ ก็ได้….

 

กินอยู่เป็นขอข้อมูลจาก

kinyupen