นาฬิกาชีวิต คืนสมดุล เพื่ออายุยืนยาว

0
1950
kinyupen

ชีวิตยุคใหม่ มนุษย์ค้างคาว ชอบทำงานกลางคืน แฮงค์เอาท์ทุกคืนวันศุกร์ ดูซีรี่ย์ยันเช้า นอนดึกตื่นสาย นอนชดเชยเท่าไหร่ก็ยังรู้สึกนอนไม่อิ่ม แถมอ่อนล้าลงทุกวัน ที่แท้เป็นเพราะ “นาฬิกาชีวิตรวน” นี่เอง ขืนไม่ปรับตัวร่างกายพังแน่ๆ

กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตจะพาทุกคนทำความรู้จักกับ” นาฬิกาชีวิต” เพื่อปรับไลฟ์สไตล์ให้ระบบต่างๆ ในร่างกายสมดุล และมีชีวิตที่ยืนยาวไปด้วยกัน

 

Biological Clock หรือนาฬิกาชีวภาพ หรือที่หลายๆ คนคุ้นชินกันดีในนามของ “นาฬิกาชีวิต” เป็นสิ่งที่บ่งบอกเวลาการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการตื่น การนอน การกินอาหารเช้า กลางวัน เย็น ฯลฯ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะมีความสัมพันธ์กับธรรมชาติ คือ กลางวัน กลางคืน และปรับระบบต่างๆ ในร่างกายโดยเฉพาะระบบฮอร์โมน

 

นาฬิกาชีวิตของแต่ละคน เหมือนกันหรือไม่ ?

คนที่ทำงานกลางคืนในระยะยาวมักจะพบว่า เมื่ออายุมาก จะมีความเสี่ยงของโรคมะเร็ง โรคหัวใจ หลอดเลือดในสมองมากกว่าคนที่นอนปกติ เพราะชีวิตเสียสมดุล

ลองสังเกตดูตัวเองหากไม่นอนหนึ่งคืนแล้วชดเชยด้วยการนอนกลางวัน เราเองก็ยังรู้สึกนอนไม่เต็มอิ่ม ตื่นมาไม่สดใส ยังไงเสียต้องนอนตอนกลางคืน ดังนั้นนาฬิกาของทุกคนจึงเหมือนกัน

 

นาฬิกาชีวิต เคล็ดลับสุขภาพดี 24 ชั่วโมง

 

นาฬิกาชีวิต & การทำงานของอวัยวะ

03.00 – 05.00 เวลาของปอด ควรตื่นนอน

ตื่นมาสูดอากาศบริสุทธิ์และรับแสงในยามเช้า จะช่วยให้ปอดและสมองมีสุขภาพดี เป็นช่วงเวลาที่ระบบหายใจทำงานได้อย่างเต็มที่ ปอดทำหน้าที่ฟอกเลือดได้อย่างเต็มที่ พร้อมแจกจ่ายออกซิเจน ไปยังเซลล์ต่างๆ อย่างเพียงพอ

 

05.00 – 07.00 เวลาของลำไส้ใหญ่ ควรขับถ่ายอุจจาระ

ลำไส้ใหญ่จะทำงานได้ดีในเวลานี้ ควรดื่มน้ำเพื่อกระตุ้นระบบขับถ่าย ทำให้ของเสียและกากอาหารถูกขับออกจากร่างกายได้ดีที่สุด

ถ้าเราไม่ถ่าย ร่างกายดูดซึมน้ำจากอุจจาระไป ของเสียก็จะเข้าสู่ร่างกายอีกรอบ เกิดการแพร่กระจายเชื้อโรค ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ปวดหัว ท้องอืด ผิวหนังอักเสบ สิวขึ้น ทั้งยังทำให้อารมณ์ไม่ดีหงุดหงิดง่ายอีกด้วย

 

07.00 – 09.00 เวลาของกระเพาะอาหาร ควรรับประทานอาหารเช้า

ร่างกายต้องการพลังงาน ถ้างดอาหารกระเพาะอาหารจะอ่อนแอ เลือดที่จะไปเลี้ยงสมองอาจไม่พอ มีผลต่อสมาธิ ความจำ ทำให้ตัดสินใจช้า ขี้กังวล ขาไม่ค่อยมีแรง ปวดเข่า หน้าแก่เร็วกว่าวัย

 

09.00 – 11.00 เวลาของม้าม และตับอ่อน ควรทำงานหรือทำกิจกรรมต่างๆ

ร่างกายช่วงนี้จะตื่นตัวมาก การทำงานหรือทำกิจกรรมอะไรจะได้ผลดี ม้ามจะสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย กำจัดเม็ดเลือดแดงที่เสื่อมสภาพ ส่วนตับอ่อนจะผลิตเอนไซม์มาช่วยย่อยอาหารที่ลำไส้เล็ก

 

11.00 – 13.00 เวลาของหัวใจ ควรพักผ่อน

ช่วงนี้หัวใจทำงานหนัก ระดับความดันเลือดในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น ควรหลีกเลี่ยงความเครียด หรือเหตุที่ทำให้ต้องคิดหนัก อารมณ์ตื่นเต้น หรืออาการตกใจ

 

13.00 – 15.00 เวลาของลำไส้เล็ก ควรงดอาหาร

อย่าทานของจุกจิก เพราะจะเป็นการรบกวนการทำงานของลำไส้เล็ก ช่วงนี้ลำไส้เล็กดูดซึมอาหารได้ดี หากมื้อกลางวันรับประทานอาหารน้อย หรือไม่รับประทานเลย จะรู้สึกหิวทรมาน

 

15.00 – 17.00 เวลาของกระเพาะปัสสาวะ ควรทำให้เหงื่อออก

ควรดื่มน้ำเยอะ ๆ อย่ากลั้นปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะจะได้แข็งแรง อีกทั้งช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่หลอดเลือดหัวใจและกล้ามเนื้อในร่างกายมีความแข็งแรง เหมาะที่จะ ออกกำลังกาย ทำให้เหงื่อออก เพื่อช่วยขับของเสียออกจากร่างกายอีกทางหนึ่ง

17.00 – 19.00 เวลาของไต ห้ามนอน ควรทำใจให้สดชื่น

ช่วงนี้ไตทำหน้าที่หนักในการกรองของเสียออกจากเลือด และรักษาสมดุลในร่างกาย ใครมีอาการง่วงนอนช่วงนี้ แสดงว่ามีปัญหาเรื่องไตเสื่อม ถ้านอนหลับแล้วเพ้อ แสดงว่ามีอาการหนักมาก

 

19.00 – 21.00 เวลาของเยื่อหุ้มหัวใจ ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย

ร่างกายต้องการความสงบ หยุดนิ่ง จะช่วยให้จิตใจ และร่างกายพร้อมที่จะเข้านอน การสวดมนต์ ผ่อนคลาย นั่งสมาธิเพราะสำหรับช่วงเวลานี้ ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับเยื่อหุ้มหัวใจ ต้องระวังเรื่องตื่นเต้น ดีใจ หัวเราะ

 

21.00 – 23.00 เวลาการทำงานของระบบอุณหภูมิในร่างกาย

เป็นช่วงร่างกายปรับสมดุลความร้อน อุณหภูมิในร่างกายจะค่อยๆ ลดลง ทำร่างกายให้อบอุ่น ห้ามอาบน้ำเย็นในช่วงนี้ จะทำให้ป่วยง่าย และอย่าไปตากลม เพราะช่วงนี้ลมเป็นพิษ

 

23.00 – 01.00 เวลาของถุงน้ำดี ควรเข้านอน

ควรนอน เพื่อเก็บน้ำดีที่ได้จากตับและส่งน้ำดีมาช่วงย่อยไขมันที่ลำไส้เล็ก และดูดซับของเสียออกจากร่างกาย

ควรจิบน้ำก่อนนอน ถ้าอวัยวะใดในร่างกายขาดน้ำ จะดึงน้ำจากถุงน้ำดี ถ้ามีการดึงมากเกินไป ทำให้น้ำดีข้น เป็นผลทำให้สายตาเสื่อม เหงือกบวม ปวดฟัน นอนไม่หลับ ปวดหัว

 

01.00 – 03.00 เวลาของตับ ควรหลับให้สนิท

เพื่อให้เลือดไหลเวียนมาที่ตับได้ดี ตับจะหลั่งสารเมลาโทนิน (Melatonin) ฆ่าเชื้อโรค ถ้าช่วงเวลานี้เราไม่หลับ จะทำให้เลือดในตับน้อย ส่งผลให้ตอนเช้าเวียนหัว มึนหัว อ่อนเพลีย กลายเป็นคนขี้หงุดหงิดได้

 

คนที่ทำงานตอนกลางคืนแล้วใช้เวลากลางวันในการนอน แต่ปรับแสงให้มืดเหมือนเช่นตอนกลางคืนเพื่อหลอกร่างกาย ทำได้หรือไม่ ?

คำตอบคือ “ไม่ได้” เพราะนาฬิกาถูกตั้งมาให้สัมพันธ์กับธรรมชาติ คือพระอาทิตย์ขึ้นพระอาทิตย์ตก

สังเกตดูเวลาเดินทางไปต่างประเทศที่เวลากลางวันกับกลางคืนสลับกัน เช่น อเมริกา แม้ว่าเราเดินทางไปถึงตอนกลางวันที่มีแสงแดดเราก็ยังรู้สึกง่วงเพราะนาฬิกาชีวิตเราติดตั้งเช่นนี้ แต่สักระยะหนึ่งเราจะปรับได้ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ กล่าวคือ ร่างกายจะปรับเข้าหาธรรมชาติ

 

แต่สำหรับคนที่ทำงานกลางคืน แล้วนอนกลางวันได้นั้นเป็นเพียงความเคยชินเท่านั้นเอง แต่นาฬิกาชีวิตไม่ได้ปรับ

อาจต้องใช้เวลาสักหน่อยในการปรับพฤติกรรมให้ได้ตามหลักนาฬิกาชีวิต หรือลองปรับเวลาในสิ่งทำได้ง่ายที่สุดก่อน แล้วค่อยปรับจนเป็นกิจวัตรประจำวันตามลำดับ กินอยู่เป็นได้ให้แบบนี้แล้วคุณก็จะมีสุขภาพที่ดี ไม่ต้องเสียค่ารักษาพยาบาล มีเงินเก็บ มีความสุขและสามารถใช้ชีวิตอยู่กับคนที่คุณรักได้ยาวนานขึ้น

 

กินอยู่เป็นขอข้อมูลจาก

โรงพยาบาลเปาโล ,sanook.com ,คณะการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

kinyupen