เมื่อโควิด-19 กลายพันธุ์..วัคซีนจะเอาอยู่ไหม?

0
456
kinyupen

หลายคนบอกว่าการระบาดของโควิด-19 รอบนี้ รุนแรงกว่ารอบแรกเมื่อต้นปี 2563 ทั้งๆ ที่ทั่วโลกมีประสบการณ์รับมือมาแล้ว แม้จะการ์ดตกบางช่วง

นี่ก็เป็นความจริง การระบาดรอบนี้รุนแรงกว่า รวดเร็วกว่า การเรียนรู้สาเหตุย่อมดีกว่าใช้ความรู้สึกวัดเอาตามกระแสข่าวที่เขาพูดกัน เพื่อจะได้ปรับตัวและปรับใจให้มีความพร้อมในการรับมือสงครามเชื้อโรครอบนี้…ตามกำลังความสามารถ

 

โปรตีนหนาม

เราคงคุ้นกับรูปร่างหน้าตาของเชื้อโคโรนาไวรัสโควิด-19 ตัวกลมๆ มีหนามรอบตัว ผลการวิเคราะห์เบื้องต้นของเชื้อไวรัสชนิดนี้ที่มีการเผยแพร่ออกมาก่อนหน้านี้ บ่งชี้การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 17 ประการ

แต่สำคัญที่สุด คือการเปลี่ยนแปลงในส่วนที่เป็น “โปรตีนหนาม” (spike protein) ของเชื้อไวรัส นี่เป็นกุญแจสำคัญที่เชื้อใช้ไขประตูเข้าสู่เซลล์ในร่างกายคนเรา “ง่ายขึ้น”

 

 

การกลายพันธุ์ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า N501Y มีการเปลี่ยนแปลงในส่วนสำคัญส่วนใหญ่ของหนามที่เรียกว่า “ส่วนยึดจับกับตัวรับบนผิวเซลล์” (receptor-binding domain) นี่คือส่วนแรกที่หนามของไวรัสจะสัมผัสกับพื้นผิวเซลล์ในร่างกายคน เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาที่ทำให้เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายคนได้ง่ายขึ้น ก็ทำให้เชื้อมีขีดความสามารถในการโจมตีเซลล์ของมนุษย์ได้มากขึ้น และการทดลองในห้องแล็ปของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ก็พบว่าการกลายพันธุ์ในลักษณะนี้ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการติดเชื้อขึ้นถึง 2 เท่า

 

ทำไมกลายพันธุ์จึงรวดเร็วนัก?

การปรับตัวเป็นธรรมดาของสิ่งมีชีวิต แต่ปกติการ “กลายพันธุ์” เป็นวิวัฒนาการที่ค่อนข้างใช้เวลา

 

เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (ก่อนจะเรียกว่าโควิด-19) ที่ตรวจพบครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่น เมื่อปลายเดือนธันวาคมปี 2562 ไม่ใช่ชนิดเดียวกับเชื้อที่กำลังระบาดในพื้นที่ต่างๆ ของโลก

พูดง่ายๆ คือ เชื้อที่ระบาดเวลานี้ (และไม่ใช่ตัวที่กลายพันธุ์เวลานี้) คือโควิด-19 กลายพันธุ์ที่ชื่อ D614G อุบัติขึ้นในยุโรปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 จนกลายเป็นเชื้อชนิดหลักที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก ทว่าในช่วงต้นๆ เรายังไม่มีความรู้พอที่จะจำแนกเชื้อ รวมทั้งความจำเป็นในการระบุว่ามัน “กลายพันธุ์” ตั้งแต่ตอนนั้น เพราะปัญหาเฉพาะหน้าในเวลานั้นคือ ยุติการระบาด ไม่ว่าจะเชื้อจะเป็นตัวเดิมหรือกลายพันธุ์

 

ครั้นพอเราคิดวัคซีนขึ้นมาได้ เรากลับพบว่าการกลายพันธุ์ อาจทำให้สิ่งที่ทุ่มเทเพื่อการป้องกัน อาจจะไม่ได้ผลก็เป็นได้ ดังนั้น คำถามที่ผุดขึ้นมาคือ เหตุใดการกลายพันธุ์จึงรวดเร็วชนิดไม่ทันข้ามปี

 

คำอธิบายที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดคือ มันเกิดขึ้นในคนไข้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ (และไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีนป้องกัน) จึงทำให้ร่างกายของคนไข้กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์

 

ประเด็นที่ทั่วโลกกังวล นอกจากเรื่องที่ว่าเชื้อโควิด-19 ที่กลายพันธุ์จะอันตรายมากกว่าเชื้อตัวเดิมแค่ไหน ซึ่งเรายังหาคำตอบไม่ได้ ก็คือเรื่องที่มันระบาดรวดเร็วกว่า (เพราะทำให้เซลล์มนุษย์ติดเชื้อได้มากขึ้น) และส่งผลกระทบถึงบุคลากรทางการแพทย์และความคับคั่งของสถานพยาบาล ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ขยับขึ้นเรื่อยๆ โบยตีเศรษฐกิจจนน่วมลงทุกวันๆ คนที่ไม่ป่วยเพราะโควิด-19 ก็แสนสาหัสปางตายเหมือนกัน

 

จุดเริ่มต้นเชื้อกลายพันธุ์

 

มีการตรวจพบเชื้อโรคโควิด-19 กลายพันธุ์ชนิดใหม่เมื่อเดือนกันยายน 2563 ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ อีกสามเดือนถัดมา ก็ลอนดอนก็กลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อกลายพันธุ์ชนิดใหม่

 

ปัจจุบันพบเชื้อกลายพันธุ์ชนิดใหม่ทั่วสหราชอาณาจักร ยกเว้นไอร์แลนด์เหนือ แต่พบผู้ติดเชื้อชนิดนี้มากเป็นพิเศษในลอนดอน พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และตะวันออกของอังกฤษ แล้วก็มีรายงานพบผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 กลายพันธุ์ชนิดใหม่ในเดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ และออสเตรเลีย โดยมีต้นตอมาจากสหราชอาณาจักร ซึ่งเนเธอร์แลนด์ก็รายงานการพบผู้ติดเชื้อชนิดนี้เช่นกัน

 

ข้ามทวีปไปที่ประเทศแอฟริกาใต้ ก็พบการติดเชื้อกลายพันธุ์ มีรูปแบบการกลายพันธุ์คล้ายกัน (โปรตีนหนาม) แต่การสอบสวนไทม์ไลน์ คนที่ติดก็ไม่ได้เดินทางออกนอกประเทศ จึงดูเหมือนไม่มีความเกี่ยวโยงกับเชื้อกลายพันธุ์ในสหราชอาณาจักร

 

เป็นแล้ว หายแล้ว ติดซ้ำได้หรือเปล่า?

 

ปกติ ร่างกายคนเราจะสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสในสายพันธุ์อื่นๆ เช่น หวัด (ธรรมดา) ไม่ต้องฉีดวัคซีน ก็ไม่อันตราย โควิด-19 ก็เชื่อกันเช่นนั้น…ในตอนแรก

 

ชายญี่ปุ่นวัยกว่า 70 ปีคนหนึ่ง ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลในกรุงโตเกียวจนหายจากการติดเชื้อโควิด-19 ก็กลับบ้านไปใช้ชีวิตปกติ ไม่กี่วันต่อมาก็ป่วย และพบว่าติดเชื้ออีกครั้ง และนี่ไม่ใช่กรณีเดียว แต่แพทย์ก็พบว่า ไม่ใช่การติดเชื้อใหม่ เป็นไวรัสตัวเดิมที่ “คืนชีพ” จากในตัวเราเอง เมื่อภูมิต้านทานอ่อนแอ ไวรัสที่ซ่อนอยู่ที่ไหนสักแห่งในร่างกาย มันก็ฟื้นขึ้นมาทุบเราต่อ

 

จนถึงฃณะนี้ เราก็ยังตอบไม่ได้ว่า คนที่เคยเป็นแล้ว จะติดเชื้อที่กลายพันธุ์ได้หรือไม่ อันที่จริงนี่ไม่ใช่ปัญหาแล้ว เพราะลองติดเชื้อเข้าไปสักครั้ง ชีวิตก็ไม่มีวันเหมือนเดิมแล้ว ต้องสู้ทุกวัน สู้ให้ร่างกายแข็งแรง มีภูมิคุ้มกันที่ไม่อ่อนแอ

 

วัคซีนที่คิดค้นจะใช้ได้เชื้อกลายพันธุ์หรือไม่

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า “ใช้ได้” อย่างน้อยก็ยังใช้ได้ในตอนนี้

ขณะนี้วัคซีนชั้นนำ 3 ชนิด ที่จะกระตุ้นให้ร่างกายคนเรามีภูมิคุ้มกันต่อหนามไวรัส วัคซีนจะฝึกให้ระบบภูมิคุ้มกันโจมตีกับส่วนต่างๆ ของไวรัส ดังนั้นแม้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือการกลายพันธุ์ในส่วนของหนาม วัคซีนก็ยังจะใช้ได้ผล

แต่หมายถึงเราต้องฉีดทุกปี หากการกลายพันธุ์มันรวดเร็วปานนี้

 

วัคซีนล็อตแรกในเมืองไทย

เมื่อวันที่ 5 มกราคม ที่ผ่านมา ครม. มีมติจัดซื้อ-ฉีดวัคซีนโควิดสำหรับประชาชน จาก 3 บริษัท สามารถฉีดให้คนไทยได้ประมาณ 33 ล้านคน หรือคนไทยครึ่งประเทศ ลองดูไทม์ไลน์การทำงาน

 

 

เดือนกุมภาพันธ์ 200,000 โดส

  • ฉีดให้แก่กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุขด่านหน้า (รวม อสม.) และเจ้าหน้าที่ทำงานภาคสนามในพื้นที่ควบคุมสูงสุด เช่น สมุทรสาคร จ.ระยอง จ.ชลบุรี จำนวน 20,000 คน
  • ฉีดให้แก่กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อที่มีภาวะแทรกซ้อนสูง และกลุ่มจำเป็นอื่นๆ จำนวน 180,000 คน
  • คาดว่าจะเริ่มฉีดกลุ่มแรก ในปลายเดือนมีนาคม

เดือนมีนาคม 800,000 โดส

  • ฉีดเข็มที่ 2 ให้แก่บุคคลที่ได้รับวัคซีนนำเข้ามาในกลุ่มเดือนกุมภาพันธ์ จำนวน 200,000 โดส
  • ฉีดให้แก่บุคคลกลุ่มจังหวัดควบคุมสูงสุด ชายแดนภาคตะวันตกและภาคใต้ เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า (รวม อสม.) จำนวน 60,000 คน
  • ฉีดให้แก่บุคคลในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อมีภาวะแทรกซ้อนสูงและกลุ่มจำเป็นอื่น ๆ จำนวน 540,000 คน

เดือนเมษายน 1,000,000 โดส

  • ฉีดเข็มที่ 2 ให้แก่บุคคลที่ได้รับวัคซีนนำเข้ามาในกลุ่มเดือนมีนาคม จำนวน 600,000 คน
  • ฉีดให้สำหรับกรณีที่มีการระบาด จำนวน 400,000 โดส

 

เรียบเรียงจากเว็บไซต์ด้านล่างและอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ใน

 

kinyupen