อาสาสมัครมูลนิธิสร้างรอยยิ้ม ท่านหนึ่งบอกเล่าให้เราฟังว่า แต่ละครั้งหลังการผ่าตัดสำเร็จ..รอยยิ้มที่ปรากฎต่อจากนั้นไม่ได้เกิดขึ้นแค่เพียงบนใบหน้าของเด็กเท่านั้น แต่ยังถูกส่งผ่านไปปรากฎต่อบนใบหน้าพ่อ แม่ หรือ ญาติที่อุ้มเด็กมารอรับการตรวจรักษาด้วยความหวัง รวมไปถึงเหล่าอาสาสมัครที่เป็นผู้ให้
เพราะความห่างไกลของถิ่นฐานที่อยู่ รายได้ครอบครัว นี่จึงอาจเป็นเพียงโอกาสเดียวในชีวิตของเด็กเหล่านั้นที่จะสามารถกลับมามีรอยยิ้มที่อิ่มเอมใจ ไม่ต้องหลบซ่อนเวลายิ้มอีกต่อไป
วันนี้ กิน อยู่ เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต จึงขอตามรอยอาสาสมัครมูลนิธิฯ กับการทำภารกิจคืนรอยยิ้มให้น้องๆ เหล่านั้น เพื่อได้ทราบกันว่า…กว่าจะได้รอยยิ้มน้อยๆ กลับคืนมาแต่ละครั้ง เค้ามีกระบวนการกันอย่างไร
1.คัดเลือกพื้นที่ พบว่าเด็กส่วนใหญ่มาจากพื้นที่ที่ยังเข้าไม่ค่อยถึงสาธารณูปโภค โดยเฉพาะตามเขตพื้นที่ แม่สอด จังหวัดตาก และจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยจากสถิติที่ผ่านมาระบุ “ประเทศไทยจะพบเด็กที่มีภาวะปากแหว่ง เพดานโหว่ โดยเฉลี่ย 2,000 รายต่อปี ซึ่งยังไม่รวมถึงชาวเขา หรือ ผู้ลี้ภัยที่ไม่ทราบจำนวนแน่ชัด”
2.ประสานชุมชน โดยจะมีโรงพยาบาลและผู้นำชุมชนเป็นตัวกลางสำคัญช่วยกระจายข่าวสารการเปิดรักษา โดยแต่ละครั้งไม่จำกัดจำนวนเด็กที่เข้ารับการรักษา
3.ประเมินล่วงหน้า เพราะทุกครั้งที่ลงพื้นที่ พบว่า หลายครอบครัวที่มีเด็กป่วย ต้องใช้เวลาเดินทางหลายวันกว่าจะถึงที่ตั้งค่ายอาสาที่จัดเตรียมไว้ ดังนั้นวันแรกที่แต่ละครอบครัวมาถึงก็จะได้พักค้างแรมที่ค่ายก่อน
หมายเหตุ ระยะเวลาลงพื้นที่ของอาสาสมัครแต่ละครั้งจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อให้มั่นใจว่าการลงพื้นที่ครั้งนั้น สามารถช่วยคืนรอยยิ้มให้กับน้องๆ ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
4.คัดกรอง นี่ถือเป็นอีกขั้นตอนสำคัญ เพราะปัจจุบันโรคปากแหว่งเพดานโหว่ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่า เกิดจากปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม เช่น การบริโภคน้ำไม่สะอาด ทารกขาดสารอาหารที่จำเป็นในช่วงแม่ตั้งครรภ์ หรือ แม่ได้รับสารพิษ รวมถึง การใช้สารเสพติด ที่จะส่งผลให้เกิดความผิดปกติในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องอาศัยผลการคัดกรองเหล่านี้ ในการนำไปวิจัยเพื่อหาสาเหตุของโรคต่อไป ซึ่งขั้นตอนคัดกรองประกอบไปด้วย
- อาสาสมัคร ซักประวัติและสอบถามอาการในเบื้องต้น รวมถึงอธิบายขั้นตอนกระบวนการรักษาต่างๆ พร้อมให้ผู้ปกครองของเด็ก เซ็นต์ยินยอมรับการรักษา
- อาสาสมัคร ถ่ายรูปทำประวัติเด็กเก็บเป็นภาพ Before / After เพื่อใช้ติดตามอาการน้องๆ แต่ละคน โดยกระบวนการคัดกรองเหล่านี้ กินระยะเวลารวมประมาณ 1 วัน
5.พบแพทย์ หลังผ่านการคัดกรองมาแล้ว วันต่อมาเด็กจะได้เข้าพบทีมศัลยแพทย์ที่มีทั้งอาจารย์หมอ เรสซิเดนส์ ศัลยแพทย์อาชีพ และถูกส่งต่อยังทีมกุมารแพทย์ วิสัญญีแพทย์ ทันตแพทย์ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อพิจารณาว่า รายใดสามารถผ่าตัดในขณะนั้นได้หรือไม่ นอกจากนี้เด็กจะได้พบผู้เชี่ยวชาญด้านการฝึกพูด โดยได้รับเวชพันธ์ในการรักษา รวมถึงบุคลากรจากสหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้ ถ้าเด็กรายใดยังไม่สามารถผ่าตัดได้ในช่วงเวลานั้น จะถูกส่งต่อไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียงหรือ โรงพยาบาลในพื้นที่ที่มีอุปกรณ์ครบครัน เพื่อประเมินการรักษาต่อไป
6.รับของใช้ส่วนตัวและรับเงินสนับสนุนค่าเดินทาง เนื่องจากเด็กที่เดินทางมาส่วนใหญ่เป็นครอบครัวยากไร้ บางครอบครัวต้องเดินเท้าหลายกิโลเพื่อมารับการรักษา มูลนิธิฯ จึงจัดเตรียมที่พักระหว่างรอรับการผ่าตัดให้กับน้องๆ และครอบครัว รวมถึงอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ด้วย
7.ข้อมูลการรักษาเด็กแต่ละคนจะถูกบันทึกในระบบ EMR เก็บเป็นประวัติเพื่อติดตามผลให้มั่นใจว่าเด็กจะได้รับรอยยิ้มและชีวิตที่ใกล้เคียงคำว่าสมบูรณ์มากที่สุด
“ตั้งแต่มูลนิธิสร้างรอยยิ้ม ก่อตั้งมาเมื่อปี พ.ศ.2525 จนถึงปัจจุบันได้ทำการผ่าตัดเพื่อ “คืนรอยยิ้ม” ให้เด็กปากแหว่งเพดานโหว่มาแล้วกว่า 13,000 ครั้ง และทุกครั้งไม่คิดค่าใช้จ่าย”