เสียใจก็ปล่อยให้ระบาย วิธีทลายทุกข์ให้ผู้เผชิญความเศร้าและสูญเสีย

0
581
kinyupen

ถ้ายังนึกไม่ออกไม่เป็นไร….วันนี้ กินอยู่เป็น 360 แห่งการใช้ชีวิต มีอีกหนึ่งทางออกมาบอกกัน โดยวิธีปลอบใจผู้สูญเสียที่นำมาเสนอนี้ นำมาจากสารคดีวิทยุชุดวัคซีนใจสู้ภัยโควิด-19 ของกรมสุขภาพจิต ตอน “ระบายความเสียใจ วิธีปลอบคนใกล้ตัวเผชิญกับความสูญเสีย” ซึ่งทีมงานคาดหวังว่าสาระของบทความนี้น่าจะเกิดประโยชน์ต่อผู้อ่านได้ไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะนำไปปรับใช้ หรือ ส่งต่อยังผู้ที่กำลังเผชิญภาวะดังกล่าว

 

ในความสูญเสีย คนเราจะมีอารมณ์และความรู้สึกหลายอย่างประดังเข้ามา อย่างหนึ่งเลย คือ “เสียใจ” เรื่องนี้ห้ามกันไม่ได้ ถ้าต้องสูญเสียสิ่งอันเป็นที่รัก ที่พอใจ ไม่ว่าจะคน หรือ สิ่งของ

 

ยิ่งหากสิ่งที่สูญเสียเป็นคน จะเสียใจมากหน่อยเพราะเรียกกลับคืนมาเหมือนเดิมไม่ได้ ยิ่งเป็นคนที่มีความรัก ความผูกพัน ความเสียใจก็มากขึ้นตามระดับของความสัมพันธ์

 

อีกความรู้สึกหนึ่ง คือ “เสียดาย” เช่น ถ้าพ่อแม่ตาย แล้วเราไม่เคยให้เวลา ดูแลท่านมากพอ ส่วนใหญ่ก็จะเสียดายที่ยังไม่ได้ทำในสิ่งที่อยากจะทำ หรือ ควรทำ เสียดายเวลาที่ผ่านไปเหมือนสายน้ำไม่ไหลกลับ

 

อีกอย่าง คือ ความโกรธ เคยมีครอบครัวหนึ่ง ที่ลูกชายประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต เวลาผ่านสักพักแล้ว บ้านนี้ก็ยังมีความทุกข์อยู่ โดยเฉพาะคนที่เป็นแม่ ยังทำใจไม่ได้ และเฝ้าโกรธตัวเองที่ไม่ควรตามใจลูกด้วยการซื้อมอเตอร์ไซค์คันใหม่ให้

โกรธตัวเองไม่พอ ยังพาลไปโกรธคนเป็นพ่อด้วยว่า ทำไมถึงไม่ห้ามปราม ตอนที่จะซื้อรถให้ลูก จนเป็นเหตุให้ต้องสูญเสียลูกชายคนเดียวไป ยังไม่รวมคู่กรณี…ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุคราวนี้ด้วย ระคนปนเปกันไปหมด

 

อาการแบบนี้ จิตแพทย์บอกว่า จะเป็นอยู่ประมาณ 3-6 เดือน หลังเกิดเหตุ แล้วก็จะค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า 3-6 เดือนนั้น คนรอบข้างของผู้สูญเสีย ควรทำอะไรบ้าง

กรมสุขภาพจิต มีคำแนะนำง่ายๆ มาฝาก

 

อย่างแรกเลย คือ รับฟังความเศร้าโศกเสียใจของคนหนึ่งคน เป็นเรื่องใจของคนๆ นั้นเต็มๆ ใครก็เสียใจแทนไม่ได้ และความลึกซึ้งของอารมณ์ ความรู้สึกที่เสียใจนั้นก็เป็นเรื่องเฉพาะตัว ที่เราหรือใครก็ตาม ไม่สามารถเข้าถึงได้

 

 

สิ่งที่ทำได้ดีที่สุด คือ “รับฟัง” เพราะในช่วงเวลาที่ต้องเผชิญกับความสูญเสีย บางครั้ง คนเราก็แค่อยากระบายความอัดอั้นตันใจ ความเสียใจ ความโกรธ ความเครียด…ได้พูดได้ระบายออกบ้าง ก็จะดีขึ้น

เทคนิคการรับฟังที่ดี คือ ฟังด้วยใจ แสดงความเห็นใจบ้าง พอให้คนที่ระบายได้ผ่อนคลายความรู้สึกและต้องเป็นความเห็นใจแบบไม่มีเงื่อนไข สำคัญคือ อย่าพยายามชี้แจงเหตุผล หรือ โต้เถียง เพราะนอกจากจะไม่มีอะไรดีขึ้นแล้ว ยังทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้นไปอีก

 

อย่างไรก็ตาม หากผู้สูญเสียพยายามระบายออก หรือพยายามทำใจด้วยวิธีต่างๆ แล้วยังรู้สึกเจ็บปวดและเศร้าเสียใจ ควรไปพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา เพื่อขอรับคำปรึกษาและหาแนวทางที่ช่วยให้ตนสามารถกลับไปดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

 

สักวัน..เมื่อมรสุมแห่งความสูญเสียพัดผ่านไป ทุกอย่างจะดีขึ้นและกลับมาใช้ชีวิตได้ตามเดิม

 

ในอดีตมีพระราชานามว่าโซโลมอน สั่งให้เจ้าเมืองทุกเมืองทำของวิเศษให้อย่างหนึ่ง โดยของสิ่งนี้จะสามารถเปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกของพระราชาได้ “หากมีความทุกข์อยู่ก็จะหายจากทุกข์ หากมีความสุขอยู่ก็จะคลายความสุขลง ไม่ว่ากำลังร้องไห้อยู่หรือหัวเราะอยู่ก็จะสามารถหยุดอารมณ์ทั้งสองอย่างนั้นได้”

แต่ไม่ว่าเจ้าเมืองใด ก็ไม่สามารถหาของที่มีคุณสมบัตินั้นมาถวายพระราชาได้เลย มีเพียงแหวนทองธรรมดาเรียบๆ วงเดียวจากเจ้าเมืองเล็กๆ ที่สามารถเปลี่ยนอารมณ์ของพระราชาได้ เพราะแหวนนั้นมีข้อความสั้นสลักไว้ว่า

 

แล้วสิ่งนั้นจะผ่านพ้นไป

 

ไม่ว่าพระราชาจะมีความสุข ความยินดีหรือมีความทุกข์ ความโกรธ ความไม่สบายใจใดๆ แหวนนี้จะเตือนสติพระองค์ว่า “แล้วสิ่งนั้นจะผ่านพ้นไป” สิ่งที่พระองค์กำลังประสบอยู่ไม่ว่าสุขทุกข์มันไม่จีรังยั่งยืน เกิดขึ้นมาแล้วก็จากไป

นับตั้งแต่นั้นมาพระราชาก็ไม่คิดที่จะนำความทุกข์มาเป็นกังวล มีความสุขก็ไม่ได้ยึดติดกับความสุขนั้น ทำให้พระราชาสามารถตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องและตั้งหน้าตั้งตาทำเพื่อประชาชนของพระองค์จนได้ชื่อว่าเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ เป็นที่รักใคร่ของประชาชน

kinyupen