ปัจจุบันการซื้อขายสินค้าสามารถทำได้ง่ายโดยเฉพาะการขายผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย แต่สินค้าบางชนิดโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพควรใช้ความระมัดระวังและตรวจสอบความปลอดภัยอย่างละเอียด เช่นเดียวกับกรณีของการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของเมลาโทนินผ่านทางโซเชียลมีเดียเป็นจำนวนมาก ซึ่งระบุสรรพคุณอ้างว่ามีส่วนช่วยในการนอนหลับนั้น
ล่าสุด นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาได้ออกมาชี้แจงว่า ปัจจุบันยังไม่อนุญาตเมลาโทนินเป็นส่วนประกอบในอาหารหรือเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร เนื่องจากเป็นฮอร์โมนที่หากได้รับติดต่อกันในระยะยาวอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้
สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของเมลาโทนินส่วนมากมีวัตถุประสงค์การจำหน่ายเพื่อช่วยในการนอนหลับ ซึ่งวัตถุประสงค์ดังกล่าวไม่จัดเป็น “อาหาร” ตามนิยามที่กำหนดในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ปัจจุบันมีการขึ้นทะเบียนยาที่มีส่วนผสมของเมลาโทนินเป็นยาควบคุมพิเศษ อนุญาตให้ใช้เฉพาะในโรงพยาบาลหรือต้องควบคุมโดยการสั่งหรือภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น
สำหรับ เมลาโทนิน (Melatonin) เป็นฮอร์โมนที่สมองมนุษย์สร้างขึ้นโดยธรรมชาติ เพื่อช่วยควบคุมการนอนและเป็นนาฬิกาชีวภาพ (Circadian Rhythm) ของร่างกาย โดยสมองจะหลั่งฮอร์โมนชนิดนี้ขึ้นมาในช่วงเวลากลางคืน ทำให้ร่างกายรู้สึกง่วงและทำให้หลับ
โดยปกติสมองจะผลิตเมลาโทนินออกมาในช่วงเวลาประมาณ 3 ทุ่ม และจะคงอยู่ในกระแสเลือดเป็นเวลาประมาณ 12 ชั่วโมง ก่อนที่จะค่อยๆ ลดลงพร้อมๆ กับการเพิ่มขึ้นของแสงอาทิตย์ จนกระทั่งถึงเวลาประมาณ 9 โมงเช้า ระดับเมลาโทนินในร่างกายจะลดต่ำลงจนวัดระดับไม่ได้
มีการนำเมลาโทนินไปใช้ในการรักษาและยับยั้งโรคต่างๆ เช่น โรคนอนไม่หลับ หรือ Insomnia และใช้ในการช่วยลดระดับไตรกลีเซอรอลในเลือดอีกด้วย โดยมีการนำเมลาโทนินมาประยุกต์ใช้ในการรักษาอาการผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับการนอนเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอาการนอนไม่หลับเมื่ออายุมากขึ้น
ปัจจุบัน มีการผลิตเมลาโทนินด้วยวิธีการสังเคราะห์และนำมาผลิตเป็นอาหารเสริมหรือผลิตเป็นยาในการรักษาอาการที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ
อย่างไรก็ดี ท่านไม่ควรซื้อเมลาโทนินมารับประทานเอง ควรปรึกษาแพทย์และใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น
ประโยชน์เมลาโทนิน โดยสรุป
- รักษาโรคนอนไม่หลับ (Insomnia)
- รักษาความผิดปกติของนาฬิกาชีวภาพ
- รักษากลุ่มอาการนอนหลับผิดเวลา (Delayed sleep phase syndrome) อาการของโรคนี้คือไม่สามารถนอนหลับก่อนเวลาตีสองได้
- บรรเทาอาการง่วงนอนเนื่องจากเจ็ทแลค (Jet lag)
- ช่วยคนที่ทำงานเป็นกะ (Shift work) ให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น
ข้อควรระวัง
- เมลาโทนินอาจทำให้รู้สึกง่วง จึงควรรับประทานก่อนจะเข้านอน ไม่ควรขับรถหรือทำงานกับเครื่องจักรหลังจากรับประทานเข้าไป หากคุณรับประทานยาอื่นเป็นประจำ มีโรคประจำตัว กำลังตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร เป็นเบาหวาน มีปัญหาฮอร์โมนไม่สมดุลจากโรคอื่น หรืออยู่ในวัยหมดประจำเดือนและกำลังรับฮอร์โมนทดแทน ไม่ควรรับประทานเมลาโทนินและควรปรึกษาแพทย์ก่อน
- เนื่องจากเมลาโทนินอาจกระตุ้นภูมิคุ้มกันของคุณมากเกินไป ผู้ที่ป่วยเป็นโรคภูมิคุ้มกันต่อต้านร่างกายตัวเอง หรือรับประทานยากดภูมิคุ้มกันไม่ควรรับประทานเมลาโทนิน
- แม้ว่าเมลาโทนินจะเป็นฮอร์โมนที่มีอยู่ในร่างกาย แต่การใช้อาหารเสริมที่มีเมลาโทนินเป็นระยะเวลานานติดต่อกัน อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น ปวดศีรษะ มวนท้อง วิตกกังวล หงุดหงิด หรืออาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าในระยะสั้นได้ ดังนั้นแพทย์จึงมักแนะให้ใช้เมลาโทนินในระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น